27 ต.ค. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
รู้จัก FamilyMart เชนร้านสะดวกซื้อ สายเลือดซามูไร
ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนนิยมเข้าร้านสะดวกซื้อ และมีจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อมากที่สุดในโลก
โดยเชนร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในญี่ปุ่น ได้แก่
1
อันดับ 1 คือ 7-Eleven มีอยู่ประมาณ 21,000 สาขา
อันดับ 2 คือ FamilyMart มีอยู่ประมาณ 16,600 สาขา
อันดับ 3 คือ Lawson มีอยู่ 14,600 สาขา
จะเห็นว่าแต่ละร้าน เป็นแบรนด์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเชนร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ต่างเข้ามารุกตลาดในเมืองไทยมานานแล้ว
แต่ก็มีบางคนอาจยังไม่รู้ว่า แบรนด์ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
เพราะจริง ๆ แล้ว 7-Eleven และ Lawson ต่างมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ถูกซื้อกิจการ ทำให้ต้องกลายเป็นบริษัทในเครือของบริษัทญี่ปุ่น
โดย 7-Eleven เป็นบริษัทในเครือของ Seven & I Holdings Co. ส่วน Lawson เป็นบริษัทในเครือของ Mitsubishi Corporation
1
ก็มีเพียง FamilyMart ที่สืบสายเลือดซามูไรแท้ ๆ และลืมตาขึ้นมาวันแรกที่ประเทศญี่ปุ่น
เรื่องราวของ FamilyMart เชนร้านสะดวกซื้อเบอร์ 2 ในญี่ปุ่น จะน่าสนใจแค่ไหน ?
และปัจจุบัน มีใครเป็นเจ้าของ ?
ขอพาผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาไปแดนปลาดิบ เมื่อปี ค.ศ. 1973
ในตอนนั้น Seiyu Group ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจด้านซูเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า ของญี่ปุ่น และมีห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Seibu Department Stores เป็นบริษัทในเครือ
1
Seiyu Group มีไอเดียที่คิดอยากทำร้านค้าที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ในการเปิดร้าน
จึงลองเปิดร้านสะดวกซื้อเล็ก ๆ สาขาแรกขึ้น ที่เมืองซายามะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น
โดยให้บริษัทในเครืออย่าง Seiyu Stores ดำเนินการบริหารและขยายสาขา
ต่อมาเพื่อให้กิจการสามารถเติบโตและขยายสาขาได้รวดเร็วมากขึ้น
Seiyu Stores จึงนำระบบแฟรนไชส์เข้ามาปรับใช้ และมีการเปิดร้านในรูปแบบแฟรนไชส์สาขาแรก ในปี ค.ศ. 1978
1
อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1981 บริษัท Seiyu Stores ก็ถูกบริษัท Jonas Co. เข้าซื้อธุรกิจและทรัพย์สินบางส่วนของบริษัทไป
ทำให้ Seiyu Stores ต้องก่อตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ FamilyMart Co. และโอนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่ตอนนั้นมีอยู่ 86 สาขา ให้กับ FamilyMart Co. ดูแลต่อ
ภายใต้การนำของ FamilyMart Co. ก็ได้มีการรีแบรนด์ร้านสะดวกซื้อทั้งหมดที่ได้รับโอนมา
และมุ่งขยายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง
โดย FamilyMart มีการขยายแบรนด์และธุรกิจไปยังต่างประเทศครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1988 โดยประเทศแรกที่เข้าไปตีตลาดคือ ไต้หวัน ตามมาด้วย เกาหลีใต้ ในปีถัดมา
ปัจจุบัน FamilyMart มีจำนวนสาขากว่า 25,010 สาขาทั่วโลก (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2021)
ในประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน, จีน, ฟิลิปปินส์, ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
(ส่วนเกาหลีใต้ FamilyMart ออกจากตลาดไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014)
ซึ่งแบ่งจำนวนสาขาเป็น ในญี่ปุ่น 16,641 สาขา และประเทศอื่น ๆ 8,369 สาขา
อ่านมาถึงตรงนี้ หลังจากเราได้รู้ความเป็นมาคร่าว ๆ ของ FamilyMart กันแล้ว
ต่อมาก็มาตอบคำถามที่ว่า เจ้าของ FamilyMart คือใคร..
ปัจจุบัน FamilyMart เป็นบริษัทในเครือของ Itochu ซึ่งถูกถือหุ้นอยู่ 50.1%
โดย Itochu เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจหลากหลายอย่าง ที่สามารถแบ่งธุรกิจได้ 7 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจการบิน, อิเล็กทรอนิกส์ และมัลติมีเดีย
- กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์, ผลิตผลไม้ป่า และสินค้าทั่วไป
- กลุ่มธุรกิจพลังงาน, เหล็ก และแร่ธาตุ
- กลุ่มธุรกิจการเงิน, อสังหาริมทรัพย์ และประกันภัย
- กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์
- กลุ่มธุรกิจอาหาร
- กลุ่มธุรกิจรถยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตสิ่งทอ
1
และบริษัท Itochu จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีมูลค่าบริษัทกว่า 1.6 ล้านล้านบาท..
ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง Seibu Department Stores (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Sogo & Seibu) ที่เคยมีบริษัทแม่เดียวกับ FamilyMart คือ Seiyu Group
ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ Seven & I Holdings Co. เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven คู่แข่งตัวฉกาจของ FamilyMart นั่นเอง..
ทีนี้มาดูผลประกอบการของ FamilyMart Co., Ltd. (ปิดบัญชีเดือน ก.พ.)
ปี 2019 มีรายได้ 180,534 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 151,249 ล้านบาท
ปี 2021 มีรายได้ 138,466 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ FamilyMart มีแผนที่จะสร้างร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะ ที่ไม่มีพนักงานรับชำระเงิน กว่า 1,000 แห่งในญี่ปุ่น ภายในปี 2024
โดยร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ เข้ามาใช้
ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งกล้อง AI และเซนเซอร์ตรวจจับต่าง ๆ เพื่อตรวจจับการหยิบสินค้า และคำนวณค่าสินค้า
1
โดยลูกค้าสามารถหยิบสินค้าจากชั้นวาง และเดินไปที่ช่องจ่ายเงิน เพื่อชำระเงินได้เลย ผ่านระบบอัตโนมัติ (จ่ายได้ทั้งเงินสดและระบบอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งจะไม่มีพนักงานและเครื่องอ่านบาร์โคด
ซึ่งร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะนี้ จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า และแก้ปัญหาเรื่องภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในญี่ปุ่น
สำหรับในประเทศไทย FamilyMart เข้ามาเยือนครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1992
ภายใต้ชื่อบริษัท Siam FamilyMart ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง FamilyMart ประเทศญี่ปุ่น และบริษัทไทย
โดยร้าน FamilyMart เปิดให้บริการสาขาแรกในปีถัดมา นั่นคือ สาขาพระโขนง
หลังจากนั้นในปี 2012 กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ก็ได้เข้ามาลงทุนและกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Siam FamilyMart โดยถืออยู่กว่า 51% พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Central FamilyMart
ซึ่งตอนนั้น FamilyMart ในไทยมีประมาณ 782 สาขา
ภายใต้การบริหารของกลุ่ม CRC
ทำให้กิจการของ FamilyMart ในไทย ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินและการ Synergy ระหว่างธุรกิจ
รวมถึงการทำรายการส่งเสริมการขายร่วมกันกับบริษัทในเครือของ CRC เช่น เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล
นอกจากนี้ ร้าน FamilyMart ยังมีการนำสินค้าประเภทอาหารบางอย่าง จากร้านค้าที่บริหารโดย CRC เข้ามาวางขายอีกด้วย เช่น มิสเตอร์ โดนัท, ข้าวกล่องจากร้าน เดอะเทอเรส
และในที่สุดในปี 2020 กิจการ FamilyMart ในประเทศไทย หรือ Central FamilyMart
ก็กลายเป็นของคนไทย 100% เนื่องจาก CRC ได้เข้าซื้อหุ้นอีก 49% ที่เหลือจาก FamilyMart ประเทศญี่ปุ่น
ทำให้กลุ่ม CRC ถือหุ้นใน Central FamilyMart ทั้งหมด 100% นั่นเอง
ตอนนี้ FamilyMart ในประเทศไทย มีอยู่มากกว่า 900 สาขา
และมีผลประกอบการดังนี้
บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด
ปี 2018 มีรายได้ 17,885 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 16,755 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 11,878 ล้านบาท
1
โดยปัจจุบัน CRC มีแผนที่จะขยายสาขาของ FamilyMart อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำระบบแฟรนไชส์เข้ามาช่วยเร่งการขยายสาขา ซึ่งเน้นทำเลย่านชุมชน, สถานีบริการน้ำมัน, คอนโดมิเนียม เป็นหลัก
ซึ่งการมีจำนวนสาขาที่มาก จะทำให้แบรนด์มีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้ากับซัปพลายเออร์ได้มากขึ้น
เช่น อาจได้รับส่วนลดค่าสินค้าจากการสั่งสินค้าเป็นจำนวนมาก ๆ หรือหากสั่งสินค้าเป็นจำนวนเยอะ ๆ ก็สามารถยืดระยะเวลาการชำระเงินค่าสินค้ากับซัปพลายเออร์ได้ยาวนานขึ้น
ทำให้อาจไม่ต้องกู้ยืมเงินมา เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และเสียค่าดอกเบี้ย
1
รวมถึงการมีจำนวนสาขาที่มาก จะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเฉลี่ยต่อสาขา น้อยกว่าการมีสาขาที่น้อย
เพราะต้นทุนคงที่ของแบรนด์ เช่น ค่าโฆษณา จะถูกหารเฉลี่ยกันไปตามแต่ละสาขา ยิ่งมีสาขามาก ตัวหารก็ยิ่งมาก นั่นเอง
นอกจากการขยายสาขาแล้ว CRC ยังสร้างจุดขายให้กับ FamilyMart ด้วยการทำให้เป็นมากกว่าร้านสะดวกซื้อ แต่เป็น Third Place ที่มีบริการอันหลากหลาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสังคมเมือง
เช่น เปิดตัวบริการสะดวกซักตลอด 24 ชั่วโมง, เปิดจุดบริการร้านกาแฟสดในสาขา
หลังจากนี้ ก็ต้องติดตามเรื่องราวกันต่อไปว่า แม่ทัพใหญ่อย่าง CRC
จะมีไอเดียธุรกิจอะไรใหม่ ๆ มาเสริมแกร่งให้กับร้าน FamilyMart
และจะพา FamilyMart ในประเทศไทย ไปถึงจุดไหน..
โฆษณา