29 พ.ย. 2021 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Raytheon บริษัทผลิตอาวุธที่เริ่มจาก การผลิตไมโครเวฟ
ถ้าที่ไทยมีสำนวนเปรียบเปรยที่ว่า “สากกะเบือยันเรือรบ”
สหรัฐอเมริกา ก็คงจะมี “ไมโครเวฟยันเครื่องบินรบ”
ที่เกริ่นมาแบบนี้ก็เพราะว่า Raytheon บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ทำธุรกิจผลิตขีปนาวุธและเครื่องบินรบ
เคยเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตไมโครเวฟมาก่อน ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทมากถึง 4.2 ล้านล้านบาท
เรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรบ อันดับต้น ๆ ของโลก
แล้วอะไรกันที่ทำให้ผู้ผลิตไมโครเวฟกลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรบ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Raytheon เริ่มก่อตั้งในปี 1922 หรือราว 99 ปีก่อน จากการรวมตัวของ 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์
1
- แวนเนวาร์ บุช คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ MIT
- ลอเรนซ์ มาร์แชลล์ วิศวกร
- ชาร์ล สมิท นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับคุณสมบัติทางไฟฟ้าของแก๊ส
โดยความตั้งใจแรกของบริษัทแห่งนี้ คือการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณ
ไม่นาน Raytheon ได้ปฏิวัติวงการวิทยุ โดยเปลี่ยนจากการใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่และแพง
มาใช้ “หลอดแก๊ส” ทำให้วิทยุสามารถเสียบปลั๊กโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากบ้านได้
ตั้งแต่นั้นมา นวัตกรรมนี้ก็ได้ทำให้ชาวอเมริกันรับฟังข่าวสารได้อย่างแพร่หลาย
นอกจากนั้น Raytheon ก็พยายามคิดค้นเครื่องรับสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์
โดยมีอุปกรณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า “แมกนีตรอน” เป็นตัวกำเนิดคลื่นวิทยุและคลื่นไมโครเวฟ
วันหนึ่งในปี 1934 ขณะที่เพอร์ซี สเปนเซอร์ วิศวกรของบริษัทพยายามทดลองแมกนีตรอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขาก็ได้ล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อเพื่อจะหยิบช็อกโกแลตออกมากินและพบว่าช็อกโกแลตละลายไปหมดแล้ว
สเปนเซอร์สงสัยว่าที่ช็อกโกแลตละลายนั้นเกี่ยวข้องกับแมกนีตรอนและคลื่นไมโครเวฟหรือเปล่า
เพื่อทดสอบความคิดของตัวเอง เขาจึงได้หาสิ่งของอย่างอื่นมาทดลองเพิ่ม
หนึ่งในนั้นคือ การนำเมล็ดข้าวโพดคั่วมาวางไว้ใกล้ ๆ เครื่องแมกนีตรอน
1
แล้วผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่สเปนเซอร์คิดไว้ เพราะเมล็ดระเบิดออกกลายเป็นพ็อปคอร์นเลย..
เมื่อสรุปได้ว่าคลื่นไมโครเวฟทำให้เกิดความร้อนแก่อาหารได้ สเปนเซอร์จึงคิดต่อยอดไปว่า
ถ้าสร้างกล่องโลหะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจะยิ่งทำให้คลื่นไมโครเวฟสะท้อนได้ดียิ่งขึ้นจนทำให้อาหารสุกได้หรือไม่
1
สุดท้ายแนวคิดนี้จึงได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็น “เตาไมโครเวฟ” นั่นเอง
และนวัตกรรมไมโครเวฟก็ได้ถูกจดเป็นสิทธิบัตรโดย Raytheon ในปี 1945
2
ช่วงแรกของการผลิตเตาอบไมโครเวฟขายสู่ตลาด ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนัก
เพราะว่าเตาไมโครเวฟสมัยนั้นยังมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งหนักถึง 300 กิโลกรัม
รวมถึงราคา ที่หากตีเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ก็อยู่ราว ๆ 52,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7 ล้านบาท
อีกทั้งผู้คนในขณะนั้นก็ยังกลัวเรื่องคลื่นไมโครเวฟอยู่
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เทคโนโลยีเรดาร์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมากและนำมาใช้ในทางทหารเพื่อตรวจจับเครื่องบินรบของฝ่ายตรงข้าม
โดยใช้หลักการยิงคลื่นวิทยุไปที่เครื่องบินแล้วให้สะท้อนกลับมา แล้วจึงนำมาคำนวณตำแหน่งและระยะห่าง
โดยเทคโนโลยีเรดาร์ จำเป็นต้องใช้หลอดแมกนีตรอนเป็นหนึ่งในอุปกรณ์กำเนิดคลื่น
แต่ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมอังกฤษ ยังไม่สามารถผลิตหลอดแมกนีตรอนในจำนวนมาก ๆ หลักหลายหมื่นชิ้นได้
1
กองทัพอังกฤษจึงได้ติดต่อมายังบริษัท “Raytheon” ผ่านทางคำแนะนำจากศูนย์ปฏิบัติการรังสีประจำ MIT
ทำให้สหราชอาณาจักรเซ็นสัญญาความร่วมมือกับ Raytheon เพื่อให้จัดหาแมกนีตรอนให้
Raytheon ได้กลายเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ ที่คอยจัดหาแมกนีตรอนมากกว่า 80% ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงคราม และยังช่วยพัฒนาชิ้นส่วนสำหรับชนวนจุดระเบิดของปืนต่อสู้อากาศยาน รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ในกองทัพด้วย
2
หลังจากสงครามโลกสิ้นสุด Raytheon ก็ได้เข้าสู่วงการอาวุธสงครามอย่างเต็มตัว รวมทั้งมีนวัตกรรมด้านอากาศยานอีกมากมาย
เรามาดูผลงานเด่น ๆ ของ Raytheon ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1960 หลังจากทดลองขีปนาวุธที่ติดตั้งระบบนำวิถีสำเร็จ
Raytheon ก็เปิดตัวขีปนาวุธอีกมากมาย รวมถึง “Hawk” และ “Sparrow”
หรือในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 ขีปนาวุธแพทริออต ก็เป็นขีปนาวุธลูกแรก ที่สามารถโจมตีขีปนาวุธของคู่ต่อสู้ได้
และในวันที่ประวัติศาสตร์โลกได้จารึกว่า นีล อาร์มสตรอง เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกปี 1969
รู้หรือไม่ว่า Raytheon ก็มีส่วนสำคัญในภารกิจอะพอลโล 11 นี้ เช่นกัน..
เพราะว่า Raytheon เป็นผู้สร้างคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบนำทางให้ยานอะพอลโลลงจอด แถมยังเป็นผู้ร่วมพัฒนาชุดนักบินอวกาศในภารกิจครั้งนั้นอีกด้วย
7
และด้วยเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟ ก็ได้ทำให้นาทีประวัติศาสตร์ที่มนุษย์โลกเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกถูกถ่ายทอดผ่านวิทยุและโทรทัศน์ให้คนบนโลกในยุคนั้น ร่วมเป็นสักขีพยานในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย
2
ล่าสุด เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Raytheon Company เจ้าพ่ออาวุธสงคราม ก็ได้ควบรวมกิจการกับ
United Technologies Corporation ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอากาศยาน กลายร่างเป็นบริษัทที่ชื่อว่า ​Raytheon Technologies หรือ RTX
3
ภายหลังการควบรวมกัน RTX ก็ได้แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 บริษัทหลักในเครือ ได้แก่
1. Collins Aerospace Systems เพื่อดูแลผลิตภัณฑ์และระบบเกี่ยวกับอากาศยานและทางทหารแบบครบวงจร
ตัวอย่างทางการทหาร เช่น ออกแบบและผลิตเครื่องบินรบ ออกแบบระบบลงจอด และระบบขนส่งเสบียง
ตัวอย่างสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ เช่น ระบบฟอกอากาศเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาและพยายามทำให้ทุกอย่างเป็น Contactless ให้เข้ากับยุค New Normal ซึ่งได้ร่วมมือกับทั้ง Boeing, Airbus และ IATA ด้วย
2
2. Pratt & Whitney ทำธุรกิจออกแบบ ผลิต และบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ทั้งเครื่องบินรบ, เครื่องบินไอพ่น หรือเครื่องบินพาณิชย์
3. Raytheon Intelligence & Space ทำธุรกิจพัฒนาด้านซอฟต์แวร์และระบบสื่อสารต่าง ๆ ที่ติดตั้งกับอาวุธ หรือใช้ในภารกิจต่าง ๆ ของหน่วยข่าวกรอง, กระทรวงกลาโหม และการใช้งานเชิงพาณิชย์
4. Raytheon Missiles & Defense ทำธุรกิจออกแบบ พัฒนาและผลิต ระบบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธ เรดาร์บนบกและในทะเล เซนเซอร์ใต้ทะเล ให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ
ปัจจุบัน Raytheon Technologies มีนวัตกรรมและสิทธิบัตร มากกว่า 46,000 ใบ
มีวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์รวมกัน มากกว่า 240,000 คน
2
ปิดท้ายด้วยผลประกอบการของ Raytheon Technologies ที่ผ่านมา
ปี 2018 รายได้ 2.17 ล้านล้านบาท กำไร 1.72 แสนล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 2.52 ล้านล้านบาท กำไร 1.81 แสนล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 1.85 ล้านล้านบาท ขาดทุน 1.15 แสนล้านบาท
(รายได้และผลขาดทุนในปี 2020 เพราะอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากโควิด 19)
2
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตเครื่องบินรบอย่าง Raytheon Technologies ในวันนี้
จะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตไมโครเวฟ
เรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาให้กับเราในเรื่องของการสังเกตและนำธุรกิจเดิมไปต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ อย่างในกรณีของ Raytheon Technologies ที่ได้ต่อยอดธุรกิจมาตั้งแต่
การสังเกตช็อกโกแลตละลายทำให้รู้ว่าแมกนีตรอน สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่องอบไมโครเวฟ นำมาพัฒนาเรดาร์ จนท้ายที่สุดก็ได้ต่อยอดมาทำอาวุธสงคราม ที่วันนี้ มีมูลค่าบริษัทมากถึง 4.2 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตขีปนาวุธและเครื่องบินรบใหญ่ที่สุดในโลก ไปแล้ว นั่นเอง..
1
References
โฆษณา