9 ก.พ. 2022 เวลา 12:44 • ข่าว
เหมืองทองอัครา ยกทรัพย์สินชาติแลกถอนฟ้อง?
2
เหมืองทองอัครา เป็นมหากาพย์สะเทือนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มายาวนานตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องจนเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ หลัง พล.อ. ประยุทธ์ ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ทำให้เหมืองทองอัคราไม่สามารถทำกิจการต่อได้ จากนั้นเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกันระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จากประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับราชอาณาจักรไทย คดีไปสู่การพิจารณาในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จนที่สุดก่อนวันอ่านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ต่ออนุญาตใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 4 แปลง เป็นระยะเวลา 10 ปี และต่อใบอนุญาตโรงงานโลหกรรมอีก 5 ปี ให้กับบริษัท อัคราฯ และที่สุดอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เลื่อนการอ่านคำตัดสินออกไป หลังจากเคยเลื่อนมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง
4
จากการต่ออนุญาตใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำให้กับบริษัท อัคราฯ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามจากฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทยว่า นี่คือการนำทรัพย์สินของชาติมาแลกกับการถอนฟ้อง ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ พล.อ. ประยุทธ์ควรเป็นฝ่ายรับผิดชอบใช่หรือไม่
11
ก่อนจะไปสู่เรื่องนี้ เรามาทบทวนเรื่องราวของเหมืองทองอัครากันก่อน
- ย้อนไปเมื่อปี 2543 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จากออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล ได้สิทธิสัมปทานการขุดเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เหมืองทองชาตรีใต้ พื้นที่ 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และเหมืองทองชาตรีเหนือ พื้นที่ 2,466 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 – 20 กรกฎาคม 2571
1
- เหมืองทองอัครา ชื่อของของมันจริงๆ คือ ‘เหมืองทองชาตรี’ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่การทำสัมปทานในการขุดหาแร่ทองคำครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เริ่มดำเนินการขุดหาแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2544
2
- อย่างไรก็ตาม เหมืองทองอัครา ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ทั้งกลุ่มที่ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มรวมถึงบริษัท อัคราฯ ระบุว่า การต่อต้านเหมืองมาจากปัญหาการอยากขายที่ดินให้บริษัท อัคราฯ โดยเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาเป็นข้ออ้าง
2
- ที่สุดแล้วไฮไลต์ของเรื่องก็มาถึง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 สั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองทองอัครา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยระบุเหตุผลว่า เหมืองแร่ทองคําได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคํา
4
- ประเด็นของเรื่องนี้คือการสั่งระงับการทำเหมืองทอง เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่คำถามคือทำไมถึงเลือกใช้อำนาจตามพิเศษตามมาตรา 44 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสากล และการใช้อำนาจพิเศษนี้นำไปสู่การฟ้องร้องโดยบริษัท คิงส์เกตฯ จนคาราคาซังมาถึงทุกวันนี้ เพราะเหมืองแร่ทองคำที่มีปัญหาเช่นกันคือเหมืองทองคำที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก็ใช้กฎหมายปกติในการปิดกิจการได้
1
- อีกทั้งพรรคฝ่ายค้าน โดย จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เคยเปิดข้อมูลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้วว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำหนังสือเสนอความเห็นว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทองอัครา จะทำให้ไทยเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องและต่อสู้คดีได้ยาก แต่ที่สุดแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ ก็เลือกใช้อำนาจพิเศษนี้
3
- แน่นอนว่าไทยถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงเสมอว่า คำสั่งนี้ไม่ใช่การปิดเหมือง แต่เป็นการระงับชั่วคราวเพื่อให้บริษัทแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงความขัดแย้งในพื้นที่
1
- แต่นั่นคือคำชี้แจงหลังจากไทยถูกฟ้องร้อง และรัฐบาลถูกซักฟอกในสภา เพราะหากย้อนไปในช่วงก่อนมีคำสั่งตามมาตรา 44 พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่า “ได้สั่งการไปแล้วว่าภายในสิ้นปี 2559 จะไม่มีการทำเหมืองแร่ทองอีกต่อไป” คำสัมภาษณ์ของนายกฯ นี้มีความสำคัญ เพราะรายงานข่าวระบุว่า บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานในการฟ้องร้องไทยว่าเป็นการออกคำสั่งปิดเหมือง ไม่ใช่การระงับใบอนุญาตชั่วคราวเพราะไม่ทำตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเหตุผลในการต่อสู้คดี รวมถึงใช้ชี้แจงต่อประชาชน
2
- คดีนี้ไปถึงคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเขาฟ้องร้องไทยว่าคำสั่งปิดเหมืองนี้ละเมิดความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย ขั้นตอนคือมีกระบวนการไต่สวน และเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน และถ้าตกลงกันได้การฟ้องร้องก็จะจบลงด้วยดี
2
- แต่ข้อสังเกตที่จิราพร คนที่จับตาเรื่องนี้ใกล้ชิด ตั้งคำถามว่า การเจรจาของรัฐบาลไทยมีการเสนอผลประโยชน์ที่มากเกินไปกว่าที่บริษัท อัคราฯ เคยได้รับไปก่อนหน้านี้หรือไม่ เปรียบเสมือนการยกทรัพย์สินชาติแลกการถอนฟ้องหรือเปล่า จิราพรตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งก่อนที่จะมีการอ่านคำตัดสิน ไทยมักจะอนุมัติผลประโยชน์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ให้กับบริษัท อัคราฯ
4
- การนัดอ่านคำตัดสินถูกเลื่อนมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งตามข้อมูลของพรรคฝ่ายค้านที่เกาะติดเรื่องนี้
- ครั้งแรกนัดอ่านคำตัดสินช่วงเดือนต้นปี 2564 และก็ถูกเลื่อนออกไป แต่ก่อนหน้านั้นช่วงเดือนกันยายน 2563 ไทยอนุญาตให้บริษัท คิงส์เกตฯ สามารถนำผงทอง-เงินที่ตกค้างในกระบวนการผลิตออกขายได้
1
- และต่อมาช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยอนุมัติให้บริษัท อัคราฯ สำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลง เนื้อที่เกือบ 4 แสนไร่ (397,226 ไร่) ซึ่งใช้เวลาอนุมัติเพียงแค่ 3 เดือนเศษ นับจากวันที่บริษัท อัคราฯ มีหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังไม่นับการขออาชญาบัตรสำรวจแร่อีก 66 แปลง รวมพื้นที่เกือบ 6 แสนไร่ ที่คิงส์เกตระบุว่ามีสัญญาณแนวโน้มที่ดี
- การนัดอ่านคำตัดสินมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 แต่ก็มีการขอเลื่อนอีกครั้งมาเป็นวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และเลื่อนอีกครั้งไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
4
- เราไม่ทราบรายละเอียดการเจรจาว่าคุยอะไรกัน แต่ผลที่ออกมาคือ บริษัท คิงส์เกตฯ ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่จำนวน 4 แปลงที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรี นั่นแปลว่า เหมืองทองชาตรี หรือที่เรารู้จักกันในนามเหมืองทองอัครา ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
1
- อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่การเจรจาที่บริษัท คิงส์เกตฯ ดูจะได้ประโยชน์ขนาดนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า บริษัท คิงส์เกตฯ อาจจะถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรืออีกแนวทางคือขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ ‘ชี้ขาดตามยอม’ คือมีคำชี้ขาดที่ไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่ชี้ขาดว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ได้ตกลงกันไว้
2
- ผลจากการเจรจานี้ดูเหมือนว่า บริษัท คิงส์เกตฯ จะได้ประโยชน์เสียจนถูกตั้งคำถามว่า เป็นการต่อรองที่เกินไปกว่าข้อพิพาทหรือไม่ หรือพูดง่ายๆ คือ เต็มที่บริษัท คิงส์เกตฯ ควรจะได้แค่กลับมาทำเหมืองทองชาตรีต่อตามสัญญาสัมปทานเดิม แต่ตอนนี้ได้สิทธิสำรวจแร่กว่า 4 แสนไร่ และกำลังขอสิทธิสำรวจเพิ่มอีก 6 แสนไร่ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าด้วยดีลที่บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ประโยชน์แบบนี้ แสดงว่าหากไทยแพ้คดีจะต้องสูญเสียเงินชดเชยมากมายขนาดไหน เพราะตัวเลขค่าชดเชยที่บอกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท ก็มาจากการคาดการณ์ทั้งนั้น เพราะรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ นี่ยังไม่พูดถึงการเสียเครดิตทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ หากต้องแพ้คดีเพราะใช้อำนาจพิเศษ มาตรา 44
2
- เรื่องนี้เรายังต้องจับตากันต่อไป เพราะบริษัทจากออสเตรเลียเขาฟ้องร้องราชอาณาจักรไทยก็คือคนไทยทุกคน ขณะที่รัฐบาลก็ควรเปิดเผยข้อมูลการเจรจาที่โปร่งใสกว่านี้ เพราะทุกผลประโยชน์ที่เสียไป มันคือผลประโยชน์ของพวกเราคนไทยทุกคน
2
เรื่อง: พลวุฒิ สงสกุล
ภาพ: AFP
โฆษณา