16 พ.ค. 2022 เวลา 03:22 • ไลฟ์สไตล์
เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น ดีจริงหรือ
ถ้าใครอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความสุขอยู่เรื่อย ๆ มักจะเจอข้อแนะนำข้อหนึ่งคือการที่เราเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดนั้น มักจะทำให้เรามีความสุขได้ยาก เพราะเราจะเริ่มเห็นว่าคนนั้นก็มีความสุข คนนี้ก็มีความสุข เราก็อาจจะรู้สึกอิจฉาเขา
ยิ่งปัจจุบันเราเล่น Social Media เยอะ โอกาสที่เราจะเผลอเปรียบเทียบกับคนอื่นก็ยิ่งเยอะ เราจะเห็นแต่ละคนมีชีวิตดี ๆ กันทั้งนั้น เดี๋ยวคนนั้นก็ไปเที่ยว คนนี้ก็ได้รางวัล บางทีก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
แต่หารู้ไม่ว่าจริง ๆ ทุกคนก็อาจจะมีความทุกข์เหมือนกัน เพียงแต่เขาเลือกจะมาลง Social Media เฉพาะตอนที่เขามีความสุข ความสำเร็จกัน มันก็เลยทำให้คนอื่น ๆ ไขว้เขวว่าคนส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขตลอดเวลา
1
ข้อแนะนำที่เรามักจะได้รับก็คือ อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ยิ่งเปรียบเทียบ จิตใจยิ่งฝ่อ และอาจจะไม่มีความสุขได้เลย ถ้าอยากเปรียบเทียบ ให้เปรียบเทียบกับตัวเราเอง แค่เราทำได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานแค่นี้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปสนใจหรือไปแข่งขันกับใคร
จริง ๆ ข้อแนะนำนี้ก็เป็นข้อแนะนำที่ดีนะครับ แต่อยากให้ลองมองอีกมุมหนึ่งด้วยว่าการเปรียบเทียบไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปนะครับ มันขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการเปรียบเทียบด้วย
คือถ้าเราเปรียบเทียบเพื่อที่เก่งกว่า ดีกว่า แบบนี้มันจะพาเราไปสู่ความทุกข์ได้ง่ายแน่ ๆ แต่ถ้าเราเปรียบเทียบเพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจ เอามาพัฒนาตัวเอง แบบนี้การเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่ดีครับ
อย่างแรกคือเรื่องแรงบันดาลใจ อย่างเช่นตอนนี้ผมเขียนหนังสือ ผมก็มักจะเปรียบเทียบกับคนที่เขาเขียนเก่ง ๆ เป็นนักเขียนระดับประเทศว่าเขาทำหนังสืออย่างไร เขาเขียนสไตล์ไหน เปรียบเทียบไปไม่ใช่เอามาน้อยใจ หรืออิจฉาว่าทำไมเขาถึงเก่งกว่าเรา เราต้องเก่งกว่าเขา ไม่ใช่เลยครับ แต่เปรียบเทียบเพื่อเป็นแรงบันดาลใจว่าวันหนึ่ง เราอยากทำให้ได้แบบนี้
คือออกแนวชื่นชมมากกว่าอิจฉาครับ เวลาเห็นเขาออกหนังสือแล้วคนซื้อเยอะ ๆ ติดอันดับ Best Seller แบบนี้ ผมรู้สึกดีนะครับ ไม่ได้อิจฉา มันให้ความรู้สึกว่าไม่เสียแรงที่เราให้เขาเป็นต้นแบบอะไรแบบนั้นเลย
มันเหมือนตอนเด็ก ๆ เวลาเตะบอล เรามักจะคิดจินตนาการว่าเราเป็นนักฟุตบอลระดับโลกคนนั้น คนนี้ เราไม่ได้ระดับโลกแบบเขาหรอกครับ แต่พอได้เปรียบเทียบแบบนี้แล้วมันมีความสุข เอาจริง ๆ มันรู้สึกเหมือนเราเก่งแบบเขาเลยด้วยซ้ำ
อีกอันหนึ่งคือเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาตนเอง อย่างตัวอย่างการเขียนข้างบน นอกจากเราชื่นชมนักเขียนคนโปรดเราแล้ว เราสามารถศึกษาแนวทางของเขาได้นะครับ เริ่มตั้งแต่หัวข้อที่เขาเลือกมาเขียน วิธีการเรียบเรียงคำพูด การนำเสนอ การตั้งชื่อหนังสือ การทำการตลาด อะไรพวกนี้
การเปรียบเทียบไม่ได้แปลว่าเราต้องเลียนแบบเขา 100% นะครับ เราแค่เอามาเป็นตัวอย่าง อะไรที่เราคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี ลองนำมาปรับใช้กับการเขียนของเราดู อะไรที่ไม่ใช่ ก็ไม่ต้องนำมาใช้ ยังไงแต่ละคนแนวทางการเขียนไม่มีทางเหมือนกัน 100% อยู่แล้ว
แต่การที่เราเปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้ เราจะช่วยลดเวลาลองผิดลองถูกเราไปได้เยอะเลยครับ แทนที่เราจะมางมหาวิธีการเอง เราสามารถศึกษาจากคนสำเร็จแล้ว หรือแม้กระทั่งคนที่ทำแล้วไม่สำเร็จ เราก็เรียนรู้กับเขาได้ว่า ทำแบบนี้ไม่ดีนะ ล้มเหลวนะ แบบนั้นเราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงความล้มเหลวได้เยอะแล้วล่ะครับ
ใช่ครับ การเปรียบเทียบที่ทำให้เราอิจฉา หรือรู้สึกด้อย ไม่ใช่การเปรียบเทียบที่ดี และจะทำให้เรามีความสุขน้อยลง แต่การเปรียบเทียบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาตัวเอง เป็นการเปรียบเทียบที่มีประโยชน์
เราลองเลือกใช้การเปรียบเทียบให้ถูกวิธีกันนะครับ
โฆษณา