18 พ.ค. 2022 เวลา 03:23 • ไลฟ์สไตล์
รู้จักประหยัดเงิน จะทำให้เราร่ำรวย จริงหรือ
ตั้งแต่เด็ก ๆ หลาย ๆ คนมักจะได้รับคำสอนว่าให้ รู้จักประหยัดเงิน จะทำให้เราร่ำรวย พอมาได้อ่านหนังสือหลาย ๆ เล่มเขาก็จะบอกว่าการประหยัดแม้แต่วันละนิดละหน่อย แต่เริ่มต้นตั้งแต่แรก ๆ ในที่สุดมันจะสะสมเป็นเงินก้อนโต และจะทำให้เรามีฐานะที่ดีได้เช่นกัน
1
ส่วนตัวผมก็บอกได้ว่าผมก็เป็นคนประหยัดนะครับ คือไม่ค่อยอยากจะซื้ออะไรมากมาย อย่างเดียวที่ยอมรับว่าซื้อเป็นประจำก็คือหนังสือ นอกนั้นผมก็ไม่ค่อยได้ใช้จ่ายอะไร ยกเว้นพวกค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ประเภท ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียนลูก อะไรทำนองนี้
แล้วประหยัดเงินแล้วดีไหม อันนี้ไม่มีข้อถกเถียงเลยครับ ดีแน่นอน อย่างแรกคือถ้าเราไม่ประหยัดเงินเลย ไม่ว่าเราจะหาเงินมาได้เท่าไร มันก็จะมีรูรั่วออกหมด เราเคยสังเกตตัวเราเองกันไหมครับว่า พอรายได้เรามากขึ้น ค่าใช้จ่ายเรามักจะขยับขึ้นตาม
ตอนทำงานใหม่ ๆ เงินเดือนหมื่นกว่า สองหมื่น เราก็อยู่ได้ด้วยค่าใช้จ่ายหลักหลายพันหรือหลักหมื่น แต่พอเงินเดือนเราขยับเป็น 4-5 หมื่น ค่าใช้จ่ายไม่รู้มากันจากไหน มันก็ขยับกลายเป็น 3-4 หมื่น หรือบางคนขยับเพิ่มมากกว่าเงินเดือนเสียอีก
ส่วนหนึ่งมันอาจจะเกิดจากวงจรชีวิตเราแหละครับ เพราะเราทำงานสักพัก เงินเดือนเราก็ขึ้น แต่อย่าลืมว่าพออายุเราเยอะขึ้น เราก็อาจจะมีภาระมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรามีครอบครัว มีลูก ๆ เกิดขึ้นมาที่เราต้องดูแล ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การไปเที่ยว และการศึกษา คนที่ไม่มีลูก ก็มักจะมีพ่อแม่ต้องดูแล และพอพ่อแม่แก่ตัวลง ค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการประหยัดจึงเป็นสิ่งที่ดี แต่มันตอบโจทย์เรื่องความร่ำรวยจริง ๆ เหรอ ที่เขาบอกว่าอดออมทีละเล็กละน้อย ในที่สุดเราจะมีเงินหลายล้านหรือหลายสิบล้าน มันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่
ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งครับ เวลาคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เขาคิคคำนวณว่าสมมุติว่าเราประหยัดได้วันละ 50-100 บาท จากการไม่ซื้อกาแฟกิน แล้วเราเอาเงินนี้ไปลงทุนในตลาดหุ้น จนเราเกษียณ เขามีสมมุติฐานว่าเราจะได้ผลตอบแทนการลงทุนต่อปีโดยเฉลี่ยเป็นหลายเปอร์เซ็นเลย
คือใช่ครับ ถ้าเราได้กำไรโดยเฉลี่ยระดับนั้น เงินมันจะเพิ่มขึ้นแบบที่เขาบอกแหละครับ แต่ต้องบอกว่าหลายคนไม่ได้มีความรู้ หรือเก่งเรื่องการลงทุนขนาดนั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเงินตอนเกษียณมันจะน้อยกว่าที่เขาบอกไว้
ถึงแม้ว่าในหนังสือเขาบอกด้วยว่าเขาไม่มโนนะ อัตราผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นที่เอามาคำนวณ มันเป็นสถิติจริง เป็นค่าเฉลี่ยการลงทุนหลายสิบปี ใช่ครับ แต่อย่าลืมว่านี่คือค่าเฉลี่ย แปลว่า อาจจะมีคนประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนต่ำกว่านี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่จะได้ผลตอบแทนเท่านี้หรือมากกว่านี้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยอีกเช่นกันที่จะได้ผลตอบแทนต่ำกว่านี้ ซึ่งแปลว่าการเก็บเงินในลักษณะนี้อาจจะใช้ได้จริงสำหรับบางคน แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับคนหลายคนเช่นกัน
อีกประการหนึ่งที่หนังสือไม่ค่อยได้บอก เพราะมันจะทำให้ความตื่นเต้นในเรื่องการประหยัด ซึ่งเป็น Theme ของหนังสือลดลงคือ สมมุติว่าเขาเก็บเงินและนำเงินไปลงทุนได้อัตราผลตอบแทนตามที่คาดหวัง แล้วคำนวณออกมาว่าจะมีเงินตอนเกษียณสัก 10 ล้าน
แต่อย่าลืมเรื่องอัตราเงินเฟ้อนะครับ 10 ล้าน ในอีก 30 ปีข้างหน้า อาจจะมีมูลค่าประมาณแค่ 1 ล้านหรือน้อยกว่านั้นในตอนนี้ ถ้าเทียบกับความสามารถในการซื้อของ เพราะอย่าลืมว่าของในอีก 30 ปีข้างหน้า ราคามันจะขึ้นไปกี่เท่าก็ไม่รู้
ดังนั้นตัวเลขที่ดูเหมือนเยอะนั้น มันอาจจะดูเยอะ ถ้าเราได้เงินนั้นในตอนนี้ แต่มันไม่ใช่ เราจะได้ในอีก 30 ปีข้างหน้า อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรจะทราบไว้
งั้นแปลว่าอย่าประหยัดเลย ใช่ไหม ไม่ใช่ครับ การประหยัดเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับผม อย่าไปหวังรวยจากการประหยัด แม้กระทั่งคนที่เขียนหนังสือที่เน้นให้รวยจากการประหยัดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รวยจากการประหยัด แต่เขารวยจากความพยายามในการสร้างรายได้เพิ่ม (หรือเผลอ ๆ ก็รวยจากการเขียนหนังสือให้คนประหยัดนั่นแหละครับ)
เขาไม่ได้ผิดที่เขียนหนังสือเหล่านั้นมานะครับ เน้นอีกที ประหยัดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าประหยัดอย่างเดียว อาจจะทำให้เรารวยได้ยากหน่อย
ส่วนรายได้เพิ่มจะหาอย่างไร จะหาแบบไหน ลองไปศึกษากันนะครับ แต่ละคนความชอบความสามารถแตกต่างกัน ช่องทางต่าง ๆ แตกต่างกัน ที่เล่าให้ฟังทั้งหมด เพียงแต่อยากจะบอกว่า อยากรวยควรประหยัดและหารายได้เพิ่มไปด้วย แต่ถ้าใครไม่ได้อยากรวย ซึ่งไม่ผิด อันนั้นก็จะไม่เข้าข่ายสำหรับข้อเขียนนี้นะครับ
โฆษณา