26 พ.ค. 2022 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
นางเลิ้ง มาจาก อยุธยา ไม่ได้เพิ่งเปลี่ยนชื่อตอน จอมพล ป.
เมื่อพูดถึง “นางเลิ้ง” หลายคนคงนึกถึงย่านนางเลิ้ง แหล่งรวมอาหารการกินศิลปวัฒนธรรม และร้านหนังสือที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะรัตนโกสินทร์ แต่หลายคนคงสงสัยว่าที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” มีที่มาจากอะไร? มาจากการเปลี่ยนคำสรรพนามในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือไม่?
ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ ตลาดนางเลิ้ง
ที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่า มาจาก “อีเลิ้ง” ซึ่งเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ของชาวมอญที่ปั้นอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “นางเลิ้ง” ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากคำสรรพนาม “อี” เป็นคำไม่สุภาพ
ตุ่มอีเลิ้ง ภาพจากเพจ รามัญคดี - MON Studies
ต่อมาได้มีหลักฐานพบว่าชื่อ “นางเลิ้ง” มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย ฉบับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2442 (ค.ศ.1900 ตามปฏิทินสากล) กล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดตลาดนางเลิ้ง
ตลาดนางเลิ้ง ภาพจาก Thailand Tourism Directory
ซึ่งวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้แสดงความเห็นว่า “นางเลิ้ง” มีที่มาจากคำว่า “ฉนังเลิง” ซึ่งเป็นคำประสมระหว่างคำว่า “ฉนัง” ภาษาเขมรแปลว่า “หม้อ” และคำว่า “เลิ้ง” ภาษาอีสาน แปลว่า “ใหญ่” รวมกันแล้วแปลว่า “หม้อใหญ่”
ซึ่งสอดคล้องกับประวัติของย่านนางเลิ้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นสถานที่ชาวเขมรที่อพยพตั้งถิ่นฐานตามนักองเองและเชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่มีวังตรงปากคลองหลอดวัดราชนัดดาตรงข้ามวัดสระเกศ เรียกว่า “วังเจ้าเขมร” ที่สร้างตั้งแต่ ค.ศ.1786 บริเวณที่ชาวเขมรตั้งรกรากเรียกว่า “สนามกระบือ” เป็นแหล่งเลี้ยงดูและซื้อขายควายนอกกำแพงเมืองพระนคร
ชาวเขมรที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณสนามกระบือ นอกจากจะทำนาแล้ว ยังมีชื่อเสียงในการทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเรียกกันว่า “ชนังเลิง” และกร่อนมาเป็น “นางเลิ้ง” ในเวลาถัดมา
ในปี ค.ศ. 2021 สำนักศิลปากรที่ 3 (พระนครศรีอยุธยา) ได้ทำการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งเครื่องปั้นดินเผาวัดนางเลิ้ง บริเวณคลองสระบัว นอกเกาะเมืองอยุธยาขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 4.6 กิโลเมตร
แผนที่แหล่งเตาเผานางเลิ้ง ภาพจาก สำนักศิลปากรที่ 3 (พระนครศรีอยุธยา)
แหล่งเครื่องปั้นดินเผาวัดนางเลิ้งถือเป็นแหล่งที่มีความสำคัญรองลงมาจากแหล่งเครื่องปั้นดินเผาคลองสระบัว-คลองบางชวด ดังที่ปรากฏในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมว่า “บ้านวัดครุธปั้นนางเลิ้งสำหรับใส่น้ำฃาย ๑ ”
เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะนำไปขายที่ถนนย่านสามม้า เชิงสะพานในไก่ ตำบลหัวสาระพา (บริเวณป้อมเพชรในปัจจุบัน) ซึ่งปรากฏในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ฯตอนหนึ่งว่า
“ถนนย่านสามม้าตั้งแต่เชิงตะภานในไก่กระวันออกไป จดถึงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจังอับแลขนมแห้งจีนต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะเตียงตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างต่างฃายต่อไป ช่างจีนทำถังไม้ใส่ปลอกไม้แลปลอกเหล็ก ถังใหญ่น้อยหลายชนิดฃายชาวพระนครรับซื้อไปใช้ต่างนางเลิ้ง แลทำสรรพเครื่องเหล็กต่างต่างฃาย แลรับจ้างตีเหล็กรูปพรรณ์ตามใจเชาเมืองมาจ้าง”
แผนที่คลองในไก่ ภาพจาก สำนักศิลปากรที่ 3 (พระนครศรีอยุธยา)
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1767 ชื่อของนางเลิ้งเริ่มหายไป แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “เลิ้ง” หรือ “อีเลิ้ง” ดังที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่เมื่อครั้งอุปสมบทตอนหนึ่ง ดังนี้
“ชาวบ้านนั้นปั้นอี่เลิ้งไว้เพิงพะ กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง
ท่านวานน้องร้องถามไปตามทาง ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ"
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ กุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม
ก่อนจะกลับมาใช้คำว่า “นางเลิ้ง” หลังการขุดคลองผดุงกรุงเกษมในสมัยรัชกาลที่ 4 และการเปิดตลาดนางเลิ้งในปี ค.ศ. 1900
โดยสรุปแล้ว คำว่า “นางเลิ้ง” มีที่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีที่มาจากวัดนางเลิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเรียกภาษาเขมรว่า “ฉนังเลิง” แปลว่า ภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่ โดยคนทั่วไปนิยมเรียกว่า “เลิ้ง” หรือ “อีเลิ้ง”
เมื่อครั้งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเขมรที่ตั้งรกรากอยู่นอกพระนคร ประกอบอาชีพปั้นเครื่องดินเผาขาย คนทั่วไปจึงเรียกย่านชาวเขมรแห่งนั้น “ย่านนางเลิ้ง” เหมือนครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นความหลังครั้ง “บ้านเมืองดี”
แผนที่ย่านนางเลิ้ง จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส
-คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ฉบับตรวจสอบชำระ พ.ศ. ๒๕๕๘)
โฆษณา