25 มิ.ย. 2022 เวลา 16:29
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนสตาร์ตอัพ ร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ด้วยนวัตกรรม
ขยะ การศึกษา และสาธารณสุข มูลค่า 18,000 ล้านบาท ที่ใช้งบประมาณของกทม.อยู่ เป็นสิ่งที่จะถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพได้ สมาคมการค้าสตาร์ตอัพไทย รวมตัวนำหนุนผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ด้วยนวัตกรรม โดยรูปแบบความร่วมมือเป็นไปได้ ในรูปแบบของการหารือและตั้งโจทย์วาระเร่งด่วน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานเสวนาร่วมกับสมาคมสตาร์ตอัพไทย เมื่อค่ำวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า 3 อุตสาหกรรมที่สตาร์ตอัพจะเข้ามาช่วยดิสรัปได้ คือ ขยะ การศึกษา และสาธารณสุข เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรโดยไม่มีเหตุผล (unknown margin)
ขยะมูลค่า 8,000 ล้านบาท สาธารณสุข 6,000 ล้านบาท และการศึกษา 4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ 3 อุตสาหกรรมนี้มูลค่า 18,000 ล้านบาท ที่ใช้งบประมาณของกทม.อยู่ ถามว่าคุ้มค่าไหม ยังไม่คุ้มค่า เป็น 3 อุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงแต่คุณค่าต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะถูกดิสรัปด้วยเทคโนโลยีและโดยสตาร์ตอัพได้
“เชื่อว่าสตาร์ตอัพสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯ และเปลี่ยนประเทศไทยได้ หน้าที่ของผม คือ รับใช้สตาร์ตอัพ หากอยากได้อะไรก็บอกมา ถ้าอยู่ในในขอบเขตตามกฎหมาย ตามระเบียบปฏิบัติ เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เราเชื่อว่ามันคือสิ่งที่จะเปลี่ยนรูปแบบราชการและพัฒนาได้เร็วกว่าการทำโมเดลเดิม ๆ”
สตาร์ตอัพในมุมมของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ สตาร์ตอัพต้องดิสรัปรูปแบบธุรกิจเดิมและต้องสเกลได้ และยกตัวอย่างเรื่องแอป “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) ที่มาดิสรัปรูปแบบการทำงานของกทม. เดิมประชาชนมีเรื่องร้องเรียน จะร้องเรียนผู้ว่าฯ ผู้ว่าต้องให้รองผู้ว่าฯ​ดู​หาคนมาดูแลเรื่องร้องเรียน เส้นทางการร้องเรียนเป็นท่อ ใครมีเส้นหรือมีท่อใหญ่เรื่องร้องเรียนก็เดินทางได้เร็ว ทำให้ต่างคนต่างมีท่อของตัวเอง
เมื่อระบบร้องเรียนถูกดิสรัปด้วย “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เปลี่ยนท่อเป็นแพลตฟอร์ม เป็นการดิสรัปวิธีคิด วิธีแก้ไขปัญหา ด้วยการโยนปัญหาเข้าแพลตฟอร์ม ไม่ต้องสั่งการ เขตหรือสำนักที่รับผิดชอบต้องหยิบเรื่องไปดำเนินการได้เลย เพราะเรื่องร้องเรียนวางอยู่บนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว
“พอได้เป็นผู้ว่าฯ เราเอา “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue)​ กลับมาใช้ใหม่ วันแรกรับเรื่อง 20,000 เคส เป็นการ empower ให้กับประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการแจ้งเหตุ ปัจจุบันจะเป็น 40,000 เคส ซึ่งแก้ปัญหาไปแล้วมากกว่า 4,000 เคส ซึ่งไม่เคยมีในกทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
นอกจากดิสรัปแล้ว “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) ยังสเกลได้ กทม.สามารถรับเรื่องร้องเรียน 40,000 เคส ใน 10 วัน (หลังจากนำกลับมาใช้ใหม่) แจ้งเรื่องเช้า บ่ายได้รับการแก้ไข นี่แหละคือ พลังของสตาร์ตอัพ ถามว่าต้องใช้เงินไหม ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย เพราะเป็นแอปฯ ที่พัฒนาโดยสวทช.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า แต่สตาร์ตอัพอาจจะไม่สามารถสเกลได้ทุกราย ก็อาจจะมีที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง แต่สตาร์ตอัพจะต้องมีการสมดุลเรื่องความเสี่ยง
“ผมเชื่อว่าสตาร์ตอัพเปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ และเริ่มแล้ว อาทิ ปลูกต้นไม้ล้านต้นในกรุงเทพฯ ทุกต้นมี GPS รู้ว่าใครปลูก ปลูกเมื่อไร สามารถนำไปคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต เป็นรายได้ในอนาคตได้ด้วย ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ ต่อไปไม่ใช่แต่ผู้ว่าฯ ปลูกต้นไม้ แต่ทุกคนมีความเป็นเจ้าของต้นไม้ทุกต้นในกทม. ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และเชื่อว่ามีอีกหลายอย่างที่จะสามารถใช้สตาร์ตอัพเข้ามาช่วยได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
สตาร์ตอัพเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่จะต้องไปด้วยกันระหว่างสตาร์ตอัพกับสเกลอัพ คือธุรกิจที่ไม่ดิสรัปแต่สเกล ที่ผสมกันอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจ
ภาครัฐกับสตาร์ตอัพคนละวัฒนธรรมกัน ภาครัฐต้องทำตามกฎ ในขณะที่สตาร์ตอัพไม่ทำตามกฎ หากจะดิสรัปคน จะทำตามกฎไม่ได้ ต้องคิดนอกกรอบ รูปแบบการทำงานของกทม. กับสตาร์ตอัพ คือ แค่ให้โจทย์ แล้วปล่อยให้สตาร์ตอัพลงมือกันเอง
“เราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนมีเงื่อนไข ทั้งกทม. และสตาร์ตอัพ เช่น หากกทม.ต้องการทำแอป และต้องใช้งบฯ ต้องศึกษาให้ละเอียดว่ากฎระเบียบว่าเป็นอย่างไร ให้คิดให้สำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น -begin with the end in mind – เริ่มโดยที่มีจุดสุดท้ายอยู่ว่า แหล่งเงินทุนมาจากไหน ทำแล้วจะสเกลยังไง ถ้าเราจะโตจะโตด้วยโมเดลไหน จะนำเงินลงทุนจากไหน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
สำหรับ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เป็นของสวทช. ภาครัฐด้วยกัน กทม.นำมาใช้ได้เลย แต่หากสตาร์ตอัพจะเข้ามาร่วมกันกับกทม. จะต้องดูว่าจะต้องทำรูปแบบไหน มีแหล่งเงินอย่างไร เข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างอย่างไรให้ถูกกฎระเบียบ
“ทุกคนไม่สามารถทำงานฟรีได้ เราจะทำงานด้วยกันอย่างไร สตาร์ตอัพมีโอกาสล้มเหลว แต่งบประมาณรัฐล้มเหลวไม่ได้ แต่มีวิธี ต้องคิดโซลูชัน อาทิ อาจจะมีกองทุน เป็นต้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ​ กรุงเทพฯ​ เป็นแหล่งสร้างงาน และเมืองในอนาคตจะแข่งขันกันที่การสร้างเมืองให้ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาอาศัยและทำงาน ซึ่งการพัฒนาเมืองนั้นกรุงเทพมหานครจะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสตาร์ตอัพที่มีนวัตกรรมที่สามารถมาตอบโจทย์การพัฒนาเมือง
“อนาคตเมืองแข่งกันที่ ใครดึง talent ได้เก่งกว่ากัน ประเทศที่เจริญแล้วเขามีศักยภาพที่ดึงดูดคนเก่งให้มาทำงาน หน้าที่ของกทม.ที่สำคัญ คือ quality of life ซึ่งจะช่วยดึง startup และ talent ได้ สตาร์ตอัพ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
อยากเปิดโรงเรียนเสาร์-อาทิตย์ ให้สตาร์ตอัพเป็น mentor เด็กรร.กทม. โรงเรียนฝึกอาชีพของกทม.ต่อไปจะต้องมีทักษะที่ reskill, upskill คนในกทม. อาทิ ทักษะการโค้ดดิ้ง เมืองคือคน กทม.เป็นคนอำนวยความสะดวก ทุกคนต้องร่วมมือกันพัฒนากทม.
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ที่ปรึกษา สมาคมไทยสตาร์ตอัพ กล่าวว่า สมาคมไทยสตาร์ตอัพ จะนำโซลูขันที่สมาชิกสมาคมจำนวน 55 ราย นำเสนอเพื่อแก้ปัญหาเมืองกรุง
“สมาคมไทยสตาร์ตอัพ มีความตั้งใจที่อยากขับเคลื่อนนโยบายและริเริ่มโครงการความร่วมมือนี้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยจะหารูปแบบการทำงานร่วมกัน” ดร.พณชิต
โฆษณา