15 ส.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา Swimply แพลตฟอร์มเช่าสระว่ายน้ำ ที่ระดมทุนได้ 2,000 ล้าน
ทุกวันนี้ หลายคนคงคุ้นเคยกับธุรกิจแนว Sharing Economy กันพอสมควร
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คงจะเป็น Airbnb แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางให้คนที่ต้องการนำที่อยู่อาศัยของตัวเอง มาเปิดให้ผู้อื่นเช่าพักได้
รู้หรือไม่ว่าโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ ได้ขยายไปสู่สินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย
รวมถึงสิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อนอย่าง “สระว่ายน้ำส่วนตัว”
โดยธุรกิจที่ว่านี้เป็นสตาร์ตอัป ชื่อว่า “Swimply” ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม สำหรับเช่าสระว่ายน้ำขึ้นมา
แถมยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินระดมทุน ได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท
เรื่องราวของแพลตฟอร์มเช่าสระว่ายน้ำ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Swimply เป็นแพลตฟอร์มเช่าสระว่ายน้ำ จากประเทศสหรัฐอเมริกา
เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2018 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
โดยหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกิจการ คือ คุณ Bunim Laskin ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียง 20 ปี
โดยเขาสังเกตเห็นว่า สระว่ายน้ำของเพื่อนบ้าน มักไม่ค่อยได้ใช้งานสักเท่าไร
เขาจึงไปเจรจาขอใช้สระว่ายน้ำ แลกกับการออกค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาให้แทน
ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีอีกหลายครอบครัว มาขอใช้สระว่ายน้ำแห่งนั้นบ้าง
ส่งผลให้เจ้าของบ้านมีรายได้พิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาพอสมควร
จากการสำรวจข้อมูลด้วยตัวเอง
เขาพบว่าในสหรัฐอเมริกานั้น มีสระว่ายน้ำกว่า 10 ล้านแห่ง
แต่ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ กลับไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ง่าย
ทั้ง ๆ ที่การว่ายน้ำเป็นกิจกรรมยอดนิยม โดยเฉพาะสำหรับครอบครัว
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Laskin จึงเกิดไอเดียทำธุรกิจแพลตฟอร์ม เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนนำสระว่ายน้ำส่วนตัว มาปล่อยเช่าต่อ โดยเขาก็ได้ชักชวนเพื่อนชื่อว่า คุณ Asher Weinberger มาร่วมก่อตั้ง Swimply ด้วยกัน
1
ในช่วงแรก พวกเขาใช้ Google Earth ในการค้นหาบ้านที่มีสระว่ายน้ำส่วนตัว
แล้วลุยตระเวนเข้าไปพูดคุยต่อรอง เพื่อขอให้เจ้าของบ้านนำสระว่ายน้ำมาปล่อยเช่าบน Swimply
ต่อมา พอบางคนที่ทดลองปล่อยเช่าสระว่ายน้ำ มีรายได้เสริมเข้ามา ทำให้เกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จนมีทั้งเจ้าของสระว่ายน้ำ และกลุ่มลูกค้า ให้ความสนใจและเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น
ทำให้คุณ Laskin มองเห็นศักยภาพที่ดีในการตีตลาดนี้
เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อทำธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว
โดยระดมเงินทุนตั้งต้นจากเพื่อนและครอบครัวได้ราว 43 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการใช้งาน Swimply ผู้ที่เป็นเจ้าของสระว่ายน้ำ จะสามารถอัปโหลดรูปภาพ และบรรยากาศ
เพื่อดึงดูดผู้เช่าได้ รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะกำหนดราคา และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ได้เอง ตามความเหมาะสม
โดยสระว่ายน้ำบน Swimply มีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,600 ถึง 2,300 บาทต่อชั่วโมง และบริษัทยังมีการสนับสนุนประกันอุบัติเหตุ ในวงเงิน 35 ล้านบาท
1
อีกทั้งยังมีประกันความเสียหายสินทรัพย์ ในวงเงิน 3.5 แสนบาทด้วยเช่นกัน
จนกระทั่ง 2 ปีก่อน ก็ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่างจากกัน
แต่เรื่องดังกล่าวกลับเป็นโอกาสทองของ Swimply เนื่องจากความต้องการใช้สระว่ายน้ำส่วนตัวได้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงนี้ จนบริษัทมีรายได้โตระเบิดถึง 4,000% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความไม่แน่นอนของวิกฤติเศรษฐกิจ
เจ้าของบ้านพยายามหาลู่ทางในการสร้างรายได้เสริม
การปล่อยเช่าสระว่ายน้ำนั้น สามารถทำได้ทุกวัน วันละหลายช่วงเวลา
โดยผู้ปล่อยเช่าที่มีรายได้สูงสุด สัดส่วน 20% แรกของทั้งหมด
ทำเงินไปได้เฉลี่ยมากกว่า 180,000 บาทต่อเดือน
ขณะที่ผู้ที่ต้องการเล่นน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ก็สนใจใช้ Swimply กันมากขึ้น เพราะสามารถใช้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์กับคนรู้จักในสถานที่ปิด และถ่ายรูปหรือคลิปวิดีโอสวย ๆ ไปแชร์บนโซเชียลมีเดียได้นั่นเอง
ทีนี้ เรามาดูกันว่าแพลตฟอร์ม Swimply มีรายได้มาจากไหนบ้าง ?
Swimply มีรายได้มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
- การคิดค่าบริการกับผู้จองใช้สระว่ายน้ำ ในอัตรา 10% ของราคาค่าเช่า
- การคิดค่าคอมมิชชันกับเจ้าของสระว่ายน้ำ ในอัตรา 15% ของราคาค่าเช่า
ปัจจุบัน Swimply เปิดให้บริการแพลตฟอร์มอยู่ในพื้นที่ของ 3 ประเทศ ได้แก่
สหรัฐอเมริกา 125 แห่ง, แคนาดา 2 แห่ง และออสเตรเลีย 5 แห่ง
โดยมียอดจองใช้งานสระว่ายน้ำประมาณ 15,000 ถึง 20,000 ครั้งต่อเดือน หรือราว 250,000 ครั้งต่อปี
1
ถึงแม้บริษัทจะไม่ได้มีการเปิดเผย ตัวเลขผลประกอบการออกมาอย่างชัดเจน
แต่ก็ให้ข้อมูลว่า มีรายได้ถึงหลักล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือมากกว่า 36 ล้านบาทต่อเดือน
ด้วยความน่าสนใจนี้ จึงทำให้มีกลุ่มนักลงทุน ที่ชื่นชอบธุรกิจแนว Sharing Economy เข้ามาร่วมลงทุนใน Swimply กันหลายราย
เช่น GGV Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่เคยลงทุนใน Airbnb มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก
รวมไปถึงคุณ Nathan Blecharczyk ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb
ที่ผ่านมา Swimply มีการระดมทุนไปได้ทั้งหมด 5 รอบ
คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาท
โดยบริษัทมีแผนที่จะนำเงินทุน ไปขยายบริการในอีกหลายประเทศ
นอกจากนั้น บริษัทก็ยังเตรียมเปิดให้เช่าสถานที่สำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ
นอกเหนือจากสระว่ายน้ำ เรียกว่า Joyspace เช่น สนามบาสเกตบอล คอร์ตเทนนิส โรงยิม พื้นที่ใช้สอยในตัวบ้าน และเรือส่วนตัว เป็นต้น
1
จากเรื่องราวนี้จะเห็นได้ว่า แม้เราจะครอบครองสินทรัพย์บางอย่าง
แต่ก็อาจจะไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดเวลา
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้คนที่ต้องการใช้สินทรัพย์ดังกล่าว ในบางเวลาเช่นกัน
ข้อแตกต่างนี้ จึงทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ Sharing Economy
ซึ่งมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เข้ามาทำให้คนสองกลุ่มนี้เจอกัน
แน่นอนว่า ไอเดียธุรกิจแบบนี้ คงไม่สิ้นสุดแค่ การเช่าบ้านพัก เช่ารถยนต์ หรือเช่าสระว่ายน้ำ
แต่น่าจะประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายสินทรัพย์ในชีวิตของมนุษย์ เพราะคนเราไม่ได้เป็นเจ้าของไปเสียทุกอย่าง
ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า หากเราลองมองไปที่สินทรัพย์รอบตัว
เราอาจเจอสิ่งที่สามารถนำมาแบ่งปัน และสร้างรายได้เสริม ก็เป็นได้..
1
หนังสือ BRANDING THE NATION หนังสือที่เล่าถึงการสร้างแบรนด์ของแต่ละประเทศที่ทำให้ แต่ละประเทศเป็นแบบทุกวันนี้
เช่น ทำไมเยอรมนีเป็นประเทศแห่งรถยนต์ ทำไมฝรั่งเศสเป็นประเทศแห่งแบรนด์หรู สั่งซื้อเลยที่
โฆษณา