15 พ.ย. 2022 เวลา 03:10 • ข่าว
#explainer คนขายหุ้นจะเอาเงิน แต่คนซื้อไม่มีจ่าย ดราม่าหุ้น MORE ที่สั่นสะเทือนตลาดหุ้นไทย จนโบรกเกอร์หลายเจ้าต้องเจ็บสาหัส เรื่องราวเป็นอย่างไร workpointTODAY จะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 16 ข้อ
1) ในการพนันฟุตบอลจะมี "โต๊ะบอล" ทำหน้าที่เป็นคนกลาง สมมุติ ลิเวอร์พูล แข่งกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลูกค้าจะแทงฝั่งไหนโต๊ะบอลก็รับหมด
ถ้าหากผลการแข่งขัน ลิเวอร์พูลชนะ 3-0 โต๊ะบอลต้องจ่ายเงินให้คนที่แทงลิเวอร์พูล (เพราะแทงถูก) และยึดเงินของคนที่แทงแมนฯ ยูไนเต็ดไว้ (เพราะแทงผิด) โดยโต๊ะบอลจะได้รายได้จาก "ค่าน้ำ" นั่นเอง
2
ถ้าเทียบอย่างเข้าใจง่าย ในตลาดหุ้นก็มีลักษณะเดียวกัน โดยโบรกเกอร์ (บริษัทหลักทรัพย์) ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คุณจะซื้อหรือจะขายหุ้นก็ได้ โบรกเกอร์รับหมด โดยโบรกเกอร์ก็จะได้ค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย เปรียบเสมือนค่าน้ำในการแทงพนันฟุตบอลนั่นเอง
2
2) ในปัจจุบัน มีหุ้นตัวหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีชื่อว่า MORE เป็นหุ้นของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจขายเทป ขายซีดี ในชื่อร้าน DNA แต่จากนั้นก็แตกไลน์มา ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้ชุมชน ตัวอย่างเช่น ระบบน้ำจืดในเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง บริษัท มอร์ รีเทิร์น ได้รับสัมปทาน เป็นเวลา 25 ปี
1
อย่างไรก็ตาม MORE ไม่ใช่หุ้นบิ๊กเนม ไม่ได้อยู่ใน SET 100 หรือ หุ้นที่มีขนาดใหญ่ 100 อันดับแรก ถ้าพูดกันจริงๆ หุ้น MORE เป็นหุ้นระดับเล็ก มีการซื้อขายต่อวันในโวลุ่มที่ไม่มากนัก
3) ย้อนกลับไปที่เรื่องโบรกเกอร์ การซื้อขายหุ้นในปัจจุบันนั้น มีหลายแบบ หนึ่งในนั้นมีรูปแบบที่เรียกว่า "พอร์ตเงินสด" โดยจะมีการเคลียร์เงินกันในสองวันทำการ
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ถ้าหากลูกค้ามาซื้อหุ้นกับโบรกเกอร์ในวันนี้ ลูกค้าจะได้หุ้นไป แล้วในวันมะรืนค่อยจ่ายเงินให้โบรกเกอร์
1
ในทางกลับกัน ถ้าลูกค้าขายหุ้นให้โบรกเกอร์ในวันนี้ อีกสองวันถัดมา โบรกเกอร์ต้องจ่ายเงินให้ลูกค้าที่สามารถขายหุ้นได้ โดยโบรกเกอร์จะเบี้ยวไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าหากไม่ยอมจ่ายลูกค้า ก็จะเสียเครดิตในฐานะคนกลาง เปรียบเสมือนโต๊ะบอลที่เชิดเงินลูกค้าไม่ยอมจ่ายทั้งๆ ที่อีกฝ่ายแทงถูก
2
4) และอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญก็คือ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าซื้อหุ้นเยอะๆ ทางโบรกเกอร์จะมีสิ่งที่เรียกว่า "เครดิตวงเงิน" ให้ ตัวอย่างเช่น บางโบรกเกอร์ ลูกค้าสามารถมัดจำเงินไว้ 20% เท่านั้นก็พอ กล่าวคือ ถ้าคุณมัดจำเงิน 200,000 บาท แต่สามารถไปซื้อหุ้นได้ในราคาราว 1,000,000 บาทเลยทีเดียว
5) ดราม่าของเรื่องนี้ เกิดขึ้นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เมื่อหุ้น MORE ที่ไม่ได้มีใครสนใจอะไร อยู่ๆ กลับมีการซื้อขายกันกระฉูดในระดับหลายพันล้านบาทภายในวันเดียว นี่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ถ้าเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนฟุตบอลระดับดิวิชั่น 5 ที่ปกติจะมีคนแทงแมตช์ละ 200 บาท อยู่ๆ ในวันเดียว มีคนแทงโป้งเดียวเป็นล้าน มันก็ย่อมเห็นความผิดปกติอย่างแน่นอน
3
บริษัท มอร์ รีเทิร์น แจ้งงบในไตรมาส 3 ของปี 2565 ปรากฎว่าขาดทุน 6.83 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่น่าสับสนมาก ที่หุ้นของบริษัทที่ขาดทุน จะมีการซื้อขายกันระดับพันล้านขนาดนี้
6) หลังจากผ่านไป 1 วัน ด้วยความที่เป็นยอดสูงมาก ทางโบรกเกอร์จึงติดต่อไปหา "คนซื้อหุ้น" เพื่อคอนเฟิร์มว่า คุณมีจ่ายจริงๆ ใช่ไหม เมื่อครบกำหนด แต่กลับได้รับคำตอบว่า "ไม่มีจ่าย" ท่ามกลางความงุนงงของโบรกเกอร์ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
1
7) โบรกเกอร์ 20 เจ้าในประเทศไทย แชร์ข้อมูลกันแล้วพบว่า คนซื้อหุ้น MORE ทั้งหมด 4,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้ว มาจากการซื้อของผู้ชายแค่ 1 คนเท่านั้น ชื่อนายอภิมุข บำรุงวงศ์ อดีตพนักงานบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ที่ไปเปิดพอร์ต กับโบรกเกอร์ 20 แห่ง แล้วใช้เครดิตเต็มแม็กซ์ กว้านซื้อหุ้น 4,500 ล้านบาท อย่างบ้าคลั่งในวันเดียว
4
8 ) การซื้อ-ขายหุ้นครั้งนี้ นี้มีความผิดปกติหลายอย่างมาก อย่างแรกคือ ในการขายหุ้นนั้น ต้องมีคนวางขาย และคนมีคนขอซื้อ ในปริมาณที่เท่ากัน จึงจะสามารถ Match กันได้ ในกรณีนี้ มีคนคิดจะขายหุ้น MORE พันกว่าล้านหุ้นพอดี และนายอภิมุข ก็ขอซื้อพันกว่าล้านหุ้นพอดีเป๊ะ เป็นอะไรที่แปลกมาก สำหรับหุ้นของบริษัทที่ปกติจะมีโวลุ่มต่ำ
1
อย่างที่สอง ทีมข่าวของฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ MORE มีชื่อว่า อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เคยเป็นลูกค้าคนสนิทของ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ จึงมีการตั้งคำถามว่า นี่เป็นการแอบฮั้วกันเพื่อเอาเงินจากโบรกเกอร์หรือเปล่า แต่ในภายหลังนายอมฤทธิ์ได้ยืนยันว่า ไม่ได้ขายหุ้น MORE ออกมา และยังถือครบที่ 1,500 ล้านหุ้นตามเดิม
1
และอย่างที่สามคือ ถ้าหากผู้ซื้ออยากจะซื้อหุ้นระดับหลายพันล้านบาทขนาดนี้จริง ทำไมไม่เจรจาซื้อผ่านกระดาน Big Lot ซึ่งอาจได้ราคาต่ำกว่าปกติก็ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อผ่านตัวกลางเลยด้วยซ้ำ
3
9) ท่ามกลางความผิดปกตินี้ นักวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์ ตั้งประเด็นว่า นี่อาจเป็นแผนปล้นเงินจากโบรกเกอร์หรือไม่ อธิบายให้เห็นภาพคือ
1
คนซื้อหุ้น (นายอภิมุข) > ไม่จ่ายเงินให้โบรกเกอร์ ยอมให้ตัวเองล้มละลายไปเลยดีกว่า
 
คนขายหุ้น > ไม่สนใจปัญหาของโบรกเกอร์ทั้งสิ้น รอรับเงินอย่างเดียว
2
โบรกเกอร์ > แม้จะไม่ได้เงินจากนายอภิมุข แต่จะไม่จ่ายเงินให้คนขายหุ้นก็ไม่ได้ เพราะไม่งั้นบริษัทก็สูญเสียความเชื่อถือ
1
จากนั้นนายอภิมุข กับคนขายหุ้น อาจฮั้วกันเพื่อแบ่งเงินกันอีกที ซึ่งนายอภิมุขจะยอมโดนปล่อยล้มละลายก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างไรก็ได้เงินสดที่เป็นส่วนแบ่งมาแล้ว นี่คือหนึ่งในสมมติฐานที่ถูกพูดถึงอย่างมาก
2
10) วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน หลังผ่านไป 1 วันทำการ กลุ่มโบรกเกอร์ ได้เข้าไปหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อขอให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากหุ้น MORE มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ แต่ ก.ล.ต. ไม่ยอมให้ยกเลิก โดยระบุว่า "เป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์เอง" และถ้ายอมให้โมฆะได้ คนอื่นที่ทำรายการซื้อ-ขาย อย่างถูกต้อง ก็จะโดนผลกระทบไปด้วย
2
ตัวแทนโบรกเกอร์รายหนึ่ง ที่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ว่า "เรื่องนี้มันมีความผิดปกติมาก มันเหมือนเป็นการปล้นเงินโบรกเกอร์กันซึ่งหน้า ก.ล.ต.เอง ก็ต้องรู้ แต่เมื่อทางโบรกเกอร์ไม่สามารถหาหลักฐานการฮั้วได้จริงๆ ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน จริงๆ ภาครัฐ ดูก็รู้แล้วว่า นี่เป็นแผนจงใจฉ้อโกงประชาชน ต้องผิดกฎหมายแน่นอน"
2
11) เสาร์-อาทิตย์ผ่านไป เข้าสู่วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 12.00 น. ครบ 2 วันทำการพอดี ทางโบรกเกอร์ถึงกำหนดต้องชำระเงินให้ผู้ขายหุ้นแล้ว ซึ่งดูจากตัวเงินที่นายอภิมุขซื้อหุ้นเข้ามาแล้ว บางโบรกเกอร์ ต้องควักเงินตัวเองจ่ายถึง 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ก็หลักหลายร้อยล้านบาท ซึ่งมีข่าวลือว่า โบรกเกอร์บางเจ้า อาจต้องปิดตัวไปเลย
1
นี่เป็นช่วงที่ลูกค้ารายย่อยมีความอ่อนไหวมาก เพราะบางคนเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ที่ ต้องชำระเงินหุ้น MORE และกลัวว่า ตัวเองจะได้ผลกระทบไปด้วย
12) อย่างไรก็ตาม หลายๆ โบรกเกอร์ได้แจ้งยืนยันกับลูกค้าว่า ไม่ต้องห่วง แม้จะต้องโดนบังคับจ่ายเงินหุ้น MORE แต่ก็ยังมั่นคงแข็งแรงดี ตัวอย่างเช่น บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) แถลงการณ์ว่า บริษัทชำระเงินให้ลูกค้าแล้ว ตามขั้นตอนปกติ และไม่ต้องห่วงว่าบริษัทจะล่มสลาย เพราะมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งมากเพียงพอในการประกอบธุรกิจ
เช่นเดียวกับบล. เกียรนาคินภัทร และ บล.พาย ก็แถลงการณ์เช่นกันว่า ไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากธุรกรรมซื้อขายหุ้น MORE คือสามารถจ่ายได้ไม่มีปัญหา จนถึงวันนี้ ยังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ไหน ชี้แจงว่าจะล้มละลายจากกรณีนี้
13) สำหรับกรณีนี้ ถ้าเปรียบเทียบก็คือ นายอภิมุข มีบัตรเครดิต 20 ใบ จาก 20 ธนาคาร และภายในวันเดียวใช้เต็มวงเงินครบทุกใบ แล้วเมื่อถึงกำหนดครบที่ธนาคารทวงเงิน เขากลับไม่มีจ่าย ซึ่งร้านค้าที่นายอภิมุขซื้อของไป ไม่สนใจว่าธนาคารจะเรียกเก็บเงินจากนายอภิมุขได้หรือไม่ ร้านค้าทวงเงินจากธนาคารว่า ยังไงคุณก็ต้องจ่ายเราเท่านั้น
4
14) ความเห็นในโลกออนไลน์ก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกบอกว่า โบรกเกอร์จะมางอแงทำไม คุณให้เครดิตเขาเองแต่แรก คราวนี้เขาดันไปซื้อหุ้น MORE อย่างบ้าคลั่งก็เท่านั้น นี่คุณเข้าไปหา ก.ล.ต. เพื่อกำลังหาเหตุผล ไม่ยอมจ่ายเงินให้คนขายหุ้นงั้นหรือ? ทำตัวเป็นโต๊ะบอลเชิดเงินคนเล่น ไม่ยอมจ่ายไปได้
1
แต่อีกฝ่ายก็บอกว่า ก็มันผิดปกติซะขนาดนี้ บริษัทที่ขาดทุนอยู่ และมีมูลค่าตลาดแค่นิดเดียว กลับมีการซื้อขายหุ้น 4,500 ล้านบาทในวันเดียว แล้วจะให้โบรกเกอร์ยอมทำใจโดนเชิดเงินต่อหน้าต่อตาอย่างนั้นหรือ ถ้าเห็นชัดๆ ว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล จะให้อยู่เฉยๆ แล้วยอมทำใจหรือไง
1
15) บทสรุปของเรื่องนี้ ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่า ผู้ซื้อกับผู้ขาย มีเจตนาฮั้วกัน เพื่อทำการทุจริตจริงหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจสอบ เรื่องนี้อาจจะจับมือใครดมไม่ได้เลย
16) นอกจากนั้นยังเป็นบทเรียนสำคัญ ให้โบรกเกอร์ได้ระมัดระวังมากขึ้นด้วยในเรื่องการปล่อยวงเงินเครดิต เพราะอาจมีนักลงทุนบางคนใช้ช่องว่างนี้ เล่นงานโบรกเกอร์อย่างเจ็บแสบ เพื่อปล้นเงินกันกลางอากาศในลักษณะนี้อีก
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
โฆษณา