6 ธ.ค. 2022 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อ #วัยทำงาน กดดันตัวเองให้เป็น #Perfectionist ทุกอย่างในชีวิตต้องไม่ผิดพลาด แต่อาจทำใจพังแบบไม่รู้ตัว! นักจิตวิทยาเผย พฤติกรรมนี้จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ วิตกกังวล ซึมเศร้า เครียดสูง และเสี่ยงฆ่าตัวตาย
เมื่อ #วัยทำงาน กดดันตัวเองให้เป็น #Perfectionist
การตั้งเป้าหมายในการทำงานหรือทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตว่า “ทุกอย่างต้องออกมาดีที่สุด” เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามทำในทุกๆ วัน ดูผิวเผินก็เหมือนจะไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่.. ในความเป็นจริง การนิยม “ความสมบูรณ์แบบ” อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้จิตใจของคนๆ นั้นบอบช้ำและซึมเศร้าในระยะยาว
จากข้อมูลของ American Academy of Pediatrics ระบุว่า ผู้ที่เป็น Perfectionist (นิยมความสมบูรณ์แบบ) มีลักษณะพฤติกรรมแบบนี้มาแต่กำเนิด โดยพวกเขามักจะแสดงความคิดแบบ “ตายตัว” มากกว่าความคิดแบบ “เติบโต”
2
ความคิดแบบตายตัว : เชื่อว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์และความสามารถโดยธรรมชาติ บุคคลเหล่านี้ตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก และพยายามหลีกเลี่ยงความล้มเหลวในทุกวิถีทาง ความล้มเหลวอาจทำให้พวกเขามองคุณค่าตัวเองต่ำลง
ความคิดแบบเติบโต : เชื่อในความสามารถในการเรียนรู้และเติบโตเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาสามารถฝ่าฟันความพ่ายแพ้ได้ง่าย ความล้มเหลวไม่ได้ผูกติดอยู่กับความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง พวกเขาเชื่อมั่นว่าคนเราผิดพลาดได้ ล้มเหลวได้ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้เสมอ
3
นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังพบว่ามีพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งสัญญาณถึงการเป็น Perfectionist ที่ชัดเจน ได้แก่
📌มุ่งมั่นที่จะบรรลุมาตรฐานระดับสูง
📌ต้องการความเรียบร้อยเสมอ และต้องการมากไปอีก
📌กังวลเกี่ยวกับความผิดพลาด ไม่มีที่ว่างสำหรับความผิดพลาด
📌ความรู้สึกไวต่อการวิจารณ์ของผู้อื่น
📌วิจารณ์ตนเอง
📌เกลียดข้อผิดพลาด ไม่ยอมรับความล้มเหลว (ทั้งๆ ที่สองอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต)
📌ตั้งมาตรฐานสูงเกินจริงกับคนรักหรือครอบครัว
แม้ว่าพฤติกรรมในลักษณะนิยมความสมบูรณ์แบบจะไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ แต่หากพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นเป็นประจำจะเชื่อมโยงถึงความเครียด ความวิตกกังวล เนื่องจากพวกเขาเชื่อมโยงคุณค่าในตนเองเข้ากับประสิทธิภาพการทำงาน พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำงานแบบสุดโต่ง ซึ่งจะเพิ่มความวิตกกังวลให้ชีวิตประจำวัน
ผลที่ตามมาคือ เมื่อสิ่งต่างๆ ดันเกิดผิดพลาดขึ้นมา เหล่า Perfectionist ก็จะยิ่งหมกหมุ่นอยู่กับความผิดพลาดนั้น และยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก
ขณะที่ ดร.เทรซี เดนนิส ทิวารี (Tracy Dennis-Tiwary) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาในนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลผ่าน Washington Post เกี่ยวกับพฤติกรรมของ Perfectionist ไว้ว่า การนิยมความสมบูรณ์แบบมีข้อดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับมีข้อเสียต่อสุขภาพจิตใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การมองคุณค่าตนเองต่ำ ซึมเศร้า เมื่อต้องเผชิญกับความผิดพลาดจะมีความเครียดสูง และแม้กระทั่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
อีกทั้ง ผู้ที่ชอบความสมบูรณ์แบบมักจะบรรลุผลสำเร็จน้อยกว่าที่พวกเขาคาดหวัง เพราะพวกเขายั้งคิด ผัดวันประกันพรุ่ง เหนื่อยหน่าย และเลิกรับความท้าทายไปเลย เพราะพวกเขารู้สึกว่าการไม่เข้าร่วมการแข่งขันเลย ย่อมดีกว่าการแข่งขันแล้วพ่ายแพ้
2
แต่ทั้งนี้มีวิธีแก้ไขและปรับทัศนคติใหม่ เพื่อให้ “วัยทำงาน” ยังทำงานได้ออกมาได้ดีมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องกดดันตนเอง โดยเปลี่ยนจาก Perfectionist เป็น Excellencist แทน นั่นคือ การทำงานเพื่อความเป็นเลิศมากกว่าความสมบูรณ์แบบ
1
แพทริก เกาโดร (Patrick Gaudreau) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา ระบุว่า พฤติกรรมแบบ Excellencist จะเน้นการทำงานที่ยอดเยี่ยมแม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม เน้นเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ใช้แนวทางที่ไม่เหมือนใครในการแก้ปัญหา และไม่รู้สึกผิดบาปที่จะทำผิด ตราบใดที่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม
1
สำหรับผู้คนวัยทำงานที่รู้ตัวว่าตนเองเข้าข่าย Perfectionist และอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการปรับกระบวนการทางความคิด ต้องหัดทำความเข้าใจและยอมรับว่า #ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนโดยเนื้อแท้ การใจเย็นและมีสติ จะทำให้คุณยอมรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้คุณโฟกัสกับความคิดและการทำงานได้ดีขึ้นด้วย
1
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าพฤติกรรมแบบ Perfectionist เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ทั้ง โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคการกินผิดปกติ ฯลฯ ดังนั้น การนิยมความสมบูรณ์แบบจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคนๆ หนึ่งอย่างมาก หากรู้จักปล่อยวาง ลดความมาตรฐานสูงลง และยอมปล่อยให้ตัวเองผิดพลาดบ้าง ก็จะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้นั่นเอง
อ้างอิง : Psychologytoday https://bit.ly/3Vzy7yX
UMPC Health Beat https://upmc.me/3ing2pn
กราฟิก : รัตนากร หัวเวียง
โฆษณา