13 เม.ย. 2023 เวลา 07:01

พระโสดาบัน เป็นผู้ฟังธรรม จนได้อานิสงส์ 4 ประการ

ลำดับต่อไปนี้จะแสดงธรรม ในข้อธรรมที่ว่า พระโสดาบันเป็นผู้ฟังธรรม จนได้อานิสงส์ 4 ประการ คือเป็นผู้บรรลุธรรมดังนี้ โดยได้อาศัยเอา โสตานุคตสูตรข้อ191 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21 เป็นที่ตั้งแห่งเนื้อธรรมนี้ เริ่มต้นดังนี้
ในเบื้องต้นนี้ใคร่ท้าวความให้ได้รับฟังว่า ได้แสดงธรรมของบุคคลผู้บรรลุธรรม หรือเหตุปัจจัยแห่งการบรรลุธรรมให้ได้รับทราบเป็นบทความแล้ว โดยได้อาศัยเอาโสตานุคตสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21 นี้ เป็นที่ตั้งในการแสดงธรรมนั้น
แต่บัดนี้ได้นำธรรมนั้นมาแสดงซ้ำทั้งนี้เพื่อให้ได้ฟังธรรมนี้เนื่องๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิในธรรมนั้น และเพื่อให้เห็นถึงความน่าอัศจรรย์ของธรรมที่ชื่อว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ และให้ได้เห็นถึงความน่ามหัศจรรย์ยิ่งของธรรมที่ชื่อว่า โสตาปัน หรือ โสดาบัน ธรรม 2 ประการนี้ให้รับทราบว่า เป็นธรรมอันเดียวกัน
เป็นธรรมอันเดียวกันคือดังนี้ อนุสาสนีปาฏิหาริย์นี้เนื้อความแห่งธรรมคือ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร้ำสอนกันอยู่อย่างนี้ว่า
ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น
ท่านจงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น
ท่านจงละสิ่งนั้น จงเข้าถึงสิ่งนี้แล้วอยู่
นี้คือเนื้อความแห่งธรรมของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์นี้ประกอบด้วยองค์ประชุมหรือมีเหตุปัจจัยประชุมกัน 3 ประการคือ
1 ศาสดาสัมมาสัมพุทธ
2 พระธรรม หรือ ข้อธรรม
3 ผู้ฟัง
เป็นไปตามลำดับ คือ 1 ศาสดา 2 พระธรรม 3 ผู้ฟัง
และลำดับต่อมานั้น ได้แสดงให้ได้รับทราบว่า
โสตาปันก็คือองค์ธรรมแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์
โสตา แปลว่า ผู้ฟัง หรือ มีความหมายว่า ผู้ฟัง
โสตาบัน หรือ โสดาบัน คือผู้รู้จริงแทงตลอดในธรรมที่ตนได้ฟังแล้ว ความหมายของคำว่าโสดาบัน
คือ ผู้รู้จริงแทงตลอดในธรรมที่ตนได้ฟังแล้ว
ซึ่งโสตาบันนั้น มีองค์ประชุมหรือมีเหตุปัจจัยประชุมกัน 3 ประการ คือ 1 ผู้ฟัง 2 พระธรรม 3 พระศาสดา
นั่นหมายถึงว่าผู้ฟังนี้ประการที่ 1
ฟังอะไร? ฟังพระธรรม
ฟังพระธรรมจากใคร? ฟังพระธรรมจากศาสดา
องค์ประชุมของธรรม 2 ประการนี้เหมือนกัน เพียงแต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์นี้ เป็นไปโดยอนุโลม คือเริ่มต้นที่ 1 ศาสดา 2 พระธรรม 3 ผู้ฟัง
องค์ประชุมแห่งโสดาบันนั้นเป็นไปโดยปฏิโลม
คือเริ่มตนที่อันดับที่ 1 คือ ผู้ฟัง
ลำดับที่ 2 คือพระธรรม
ลำดับที่ 3 คือ ศาสดา
แต่เนื้อความแห่งธรรมนี้เพียงชี้ให้ดูว่า
ธรรมอันหนึ่งเป็นอนุโลม
ธรรมอันหนึ่งเป็นปฏิโลม
แต่ธรรมนี้เป็นธรรมอันเดียวกัน
ดังนั้นเพื่อให้ได้เห็นถึงคุณสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ยิ่ง
ของธรรมที่ชื่อว่าอนุสาสีปาฏิหาริย์ หรือโสดาบันนี้
จึงนำธรรมที่ชื่อว่า โสตานุคตสูตรนี้มาแสดงซ้ำให้ได้รับทราบ
1
เพื่อชี้ให้ได้เห็นว่า บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดในโลก หรือ ในมหาจักรวาลนี้ จะเป็นผู้บรรลุธรรมได้นั้น จะต้องเกิดจากการที่ได้เป็นผู้เข้าสู่กระบวนการแห่งธรรมที่ชื่อว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หรือกระบวนการแห่งธรรมที่ชื่อว่า โสดาบัน นี้เท่านั้น
ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่บรรลุธรรมได้เลย
ไม่มีวิธีการอื่นโดยเด็ดขาดอีกด้วย มีวิธีการนี้เท่านั้น
โดยจะยกเอาเนื้อความแห่งธรรมที่ชื่อว่า โสตานุคตสูตร มาเป็นที่ตั้งเบื้องต้นเพื่อแสดงธรรม เพื่อคงเนื้อความแห่งธรรม และจะอธิบายเนื้อความแห่งธรรมนั้น ไปตามลำดับทั้ง 4 ประการดังนี้
มหาวรรค โสตานุคตสูตร ข้อ 191
โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง
วจสา ปริจิตานัง
มนสานุเปกขิตานัง
ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง
จัตตาโร อานิสังสา ปาฏิกังขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ 4 ประการ แห่งธรรมทั้งหลาย ที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
อานิสงส์ 4 ประการเป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
เธอมีสติ หลงลืมเมื่อกระทำกาละ เธอย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่เธอนั้นระลึกได้ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 1
แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิอันบุคคลพึงหวังได้
นี้คืออานิสงส์ประการที่ 1 ของบุคคลผู้ที่
ฟังธรรมเนืองๆ โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง
คล่องปาก วจสา ปริจิตานัง
ขึ้นใจ มนาสานุเปกขิตานัง
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง
ฟังแล้ว ฟังธรรมเนื่องๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ บุคคลผู้นี้จะไม่บรรลุธรรม ไม่บรรลุธรรมโดยเด็ดขาด ในการฟังครั้งแรก หรือฟังเท่าไรก็ไม่บรรลุธรรม ถ้าเหตุปัจจัยไม่ประชุมพร้อมกันให้ถึงความบรรลุธรรม ชี้ให้ดูดังนี้
ในกรณีที่ 1 หรืออานิสงส์ประการที่ 1 นี้
พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นชัดๆว่า ธรรมเหล่านั้นอันบุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิแล้ว เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
โส มุฏฐัสสติ กาลัง คือ เธอมีสติหลงลืมบทธรรมเหล่านั้นทั้งหมดทั้งมวลเมื่อกระทำกาละ
เมื่อตายลงไป เธอย่อมเข้าสู่เทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
คำว่าเทพนิกาย คือ ไปเกิดอยู่ในหมู่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือ เทพนิกาย หรือ สภาวะที่อยู่เป็นสุข คำต่อมาจึงบอกว่า บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น
บุคคลผู้ได้อานิสงส์ประการที่ 1 นี้ คือ
อุปปัชชติ ตัสส ตัตถ สุขิโน
บทแห่งธรรมทั้งหลายปรากฏแก่เธอขึ้นมาเอง ในชาตินั้นในภพนั้น ธรรมที่เธอฟังมาแล้วแต่เธอลืมนั่นแหละ เธอลืม
แต่พอมาถึงชาตินี้เธออยู่ในเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง เธอกลับอุบัติบทแห่งธรรมนี้ขึ้นมาเอง นี่คืออานิสงส์ ในที่นี้ชี้ให้ดูว่าตรงนี้ คือ พระพุทธเจ้าได้รับอานิสงส์ประการนี้เพียงฐานะเดียวเท่านั้น
โดยเนื้อความแห่งธรรมนั้น เธอมีสติหลงลืม
บทแห่งธรรมย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น
สติบังเกิดขึ้นช้า
พระพุทธเจ้าสมณโคดมนั้นฟังความรู้ฟังธรรมนี้อยู่ 4 อสงไขยกับแสนกัป ทุกชาติๆ เมื่อเป็นเมื่อไปในธรรมนี้อยู่ เมื่อตายลงไปก็ลืมๆๆ จนมาถึงพระชาติที่เป็นสมณโคดมนี้ ก็ยังไม่บรรลุธรรมโดยทันทีจนอายุ 35 ปี
ขณะที่พระองค์ท่านก็มีฐานะที่เป็นสุขอยู่นั่นเอง
แต่บทแห่งธรรมก็ปรากฏแก่ท่านตอนอายุ 35 ปี
นั่นคือสติบังเกิดขึ้นช้า บทแห่งธรรมนี้ปรากฏขึ้นช้า
แต่เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว เธอย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน โดยเร็วเลยทันทีเลย นี่คืออานิสงส์ประการที่ 1 แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคล ฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิอันบุคคลพึงหวังได้
นี่ประการที่1 ให้ผ่านไป ยกเอาไว้ที่พระพุทธเจ้า เท่านั้น
ดังที่เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่า
เราตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง คือ ระลึกบทธรรมได้เอง ไม่ได้ฟังใครในพระชาติที่เป็นสมณโคดมนี้ หรือ ชาติที่เป็นพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมนี้ ไม่ได้ฟังธรรมจากใคร
เพื่อชี้ให้บุคคลที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าไปเรียนรู้ธรรมกับอาฬารดาบสกับอุทกดาบสนั้น ในเรื่องนี้ให้เห็นชัดๆว่า อาฬารดาบสกับอุทกดาบส ไม่ใช่ครูไม่ใช่อาจารย์ของพระพุทธเจ้าเลย
ดังนั้นให้ได้รับทราบว่านี่คืออานิสงส์ความเป็นโสดาบันก่อน พระพุทธเจ้าฟังธรรมนี้ ปฏิบัติธรรมเข้าสู่ความเป็นโสดาปัติติผล เบื้องต้นท่านปฏิบัติตนด้วยโสดามรรคก่อน ปฏิบัติความเข้าสู่ความเป็นโสดาบันก่อน ทุกๆคนจะต้องเป็นแบบนี้ไม่มียกเว้น
อานิสงส์ประการที่ 2
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุ ฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย
แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่เธอนั้นระลึกได้ย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ 4 ประการ
แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ประการที่ 2
อธิบายให้รับฟังดังนี้ว่า บุคคลผู้ที่ได้รับอานิสงส์ประการที่ 2 นี้ ก็เป็นบุคคลผู้ที่ฟังธรรมมาก่อนเนื่องๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิมาแล้ว บอกไม่ได้ว่าตั้งแต่ชาติไหน แต่บุคคลนี้จะไม่บรรลุธรรมโดยทันที
เมื่อตายไปก็จะหลงลืมๆๆในธรรมนี้ เมื่อเธอได้ทำความดีมาดังนี้ เธอย่อมเข้าสู่เทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง ในฐานะใดฐานะหนึ่งที่เป็นสุข แต่บทแห่งธรรมนี้จะไม่ปรากฏแก่เธอที่มีความสุขอยู่ในภพนั้น บุคคลคนนี้ระลึกบทธรรมเองไม่ได้ ระลึกบทธรรมขึ้นเหมือนอานิสงส์ประการที่ 1 ไม่ได้
แต่ อิทธิมา เจโตวสิปปัตโต เทวปริสาย ธัมมัง เทเสติ
ตัสสเอวัง โหติ อยัง วา โส
ธัมมวินโย ยัตถาหัง ปุพเพ พรหมจริยัง
แต่เมื่อภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่
เธอได้มีสติระลึกได้ว่าในการก่อนโน้น เธอได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด
นี้คือธรรมวินัยนั้น
บุคคลๆนี้ระลึกบทแห่งธรรมไมได้เอง เป็นมาในฐานะแห่งอานิสงส์ประการที่ 2 คือ บุคคลคนนี้ เมื่อได้ฟังภิกษุผู้มีฤทธิ์ คือ พระอรหันต์ ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัท คือ แสดงธรรมแห่งอรหันต์ด้วยกัน เธอได้มีความปริวิตกดังนี้ว่าในการก่อนโน้น เราได้เคยประพฤติในธรรมวินัยใดนี้คือธรรมวินัยนั้น
นั่นหมายถึงว่า ได้อธิบายให้ได้รับทราบแล้วว่า ในพระไตรปิฎกนั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรม แต่เป็นอรหันตสาวก ได้รวบรวมพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าขึ้น นั่นคืออรหันตสาวกทั้งหมดทั้งมวล
โดยเบื้องต้นมีท่านพระมหากัสสปะเป็นประทาน
ท่านพระอานนท์เป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องของพระสูตร
ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องพระวินัย
ท่านพระโสณกุฏฏิกัณณะ เป็นผู้ที่มาคอยซักถามสอบทวนต่างๆ
รวมถึงอรหันตสาวกทั้งหมดที่มีในยุคนั้น เป็นผู้ฟังธรรมนี้อยู่ เป็นผู้คัดกรองธรรมนี้อยู่ เป็นผู้รวบรวมธรรมนี้อยู่ ทั้งหมดนี้คือ ภิกษุผู้มีฤกธิ์หรือพระอรหันต์ ที่แสดงธรรมในพระไตรปิฎกนี้ เป็นพระอรหันต์แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ให้กันและกันฟังอยู่
นี่คือความหมายของคำว่า เมื่อภิกษุผู้มีฤกธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ เมื่อเธอได้ฟังธรรมนั้น เธอได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า ในการก่อนโน้น เราได้เคยปฏิบัติธรรมใดนี้คือธรรมวินัยนั้น บุคคลผู้ได้อานิสงส์จากการฟังธรรมเนื่องๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ประการที่ 2 คือบุคคลคนนี้
เป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกในยุคนี้ มีบุคคลฐานะนี้เท่านั้นที่สามารถรู้จริงแทงตลอดในพระธรรมคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนี้ได้ นอกนั้นไม่มี บุคคลฐานะนี้เท่านั้นที่เป็นผู้รู้ตามธรรมในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่อรหันตสาวกแสดงเอาไว้ในพระไตรปิฎกได้ นี้คืออานิสงส์ประการที่ 2
อานิสงส์ประการที่ 3
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตก อัพภูตธรรม เวทัลละ บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัทอยู่ เธอได้มีปริวิตกดังนี้ว่า ในกาลก่อนโน้นเราได้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่นั้นเธอระลึกได้ ย่อมผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน
นี่คืออานิสงส์ประการที่ 3 บุคคลคนนี้เป็นผู้ฟังธรรมเนื่องๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิมาก่อน ไม่รู้ว่าตั้งแต่ชาติไหน เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ ทำกาละเธอย่อมเข้าสู่เทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง ไปเกิดอยู่ในหมู่คนที่เป็นบุคคลดีเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง เธอมีความสุขอยู่ในภพนั้น
แต่บทแห่งธรรมไม่ปรากฏขึ้นแก่เธอ เธอระลึกธรรมเองไม่ได้ และภิกษุผุ้มีฤกธิ์ก็ไม่ได้แสดงธรรมให้เธอได้เห็นได้ฟัง นั่นหมายถึงว่าเธอเป็นบุคคลผู้ที่อ่านพระไตรปิฎก หรือ รู้ตามธรรมในพระไตรปิฎกนี้ไม่ได้ เป็นธรรมที่ภิกษุผู้มีฤกธิ์แสดงธรรมให้แก่กันและกันฟัง เธอรู้ตามไม่ได้ บุคคลนี้อ่านพระไตรปิฎกไม่รู้เรื่อง คือ รู้ตามไม่ถ้วนรอบ
แต่บุคคลนี้จะได้อานิสงส์ประการที่ 3 คือ บุคคลนี้เมื่อได้ฟังเทวบุตร คือ ผู้บรรลุธรรม ผู้รู้ตามธรรมนี้แล้ว แสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ หรือแก่สาวกของบุคคลคนที่ 2 นี้อยู่ เธอจะพึงระลึกได้ว่า ในกาลก่อนโน้นเราได้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น
นี่คือบุคคลผู้ที่ได้อานิสงส์ประการที่ 3 จากการฟังธรรมเนื่องๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ บุคคลผู้ที่ 3 นี้ต้องฟังบุคคลผู้ที่ 2 แสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ บุคคลผู้ที่ 3 ก็จะรู้ตามธรรมได้ นี่คืออานิสงส์ประการที่ 3
อานิสงส์ประการที่ 4
อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ฟังธรรมนั้นจนคล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิแล้ว บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์
นั่นหมายถึงว่าบุคคลผู้ที่ได้อานิสงส์ประการที่ 4 นี้
เป็นผู้ฟังธรรมเนื่องๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิมาก่อน เธอก็ไม่บรรลุธรรมเช่นเดียวกัน
เธอมีสติหลงลืม ลืมบทธรรมทั้งหมดเมื่อตายไป เธอย่อมเข้าสู่เทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง พอเข้ามาสู่เทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมก็ไม่ปรากฏแก่เธอเอง เธอระลึกเองไมได้ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่เทพบริษัท คือ เธอรู้ตามธรรมจากภิกษุผู้มีฤกธิ์นี้ไม่ได้ หรือ เธอฟังเทวบุตรผู้แสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ก็รู้ตามธรรมไม่ได้
แต่มีเทพบุตรผู้เกิดก่อน คือผู้ที่ได้รู้ธรรม เกิดก่อนในชาตินี้ ในที่หมายนี้หรือที่หมายถึงนี้คือ บุคคลคนผู้ที่รู้ธรรม เห็นธรรมแล้ว ไปบอกเตือนกับบุคคลคนที่ 4 นี้ว่า ในการก่อนโน้นเธอระลึกได้หรือไม่ว่าเราเคยประพฤติในพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ (คือ บุคคลที่ 3 ได้นำธรรมที่ตนรู้จริงแทงตลอดจากบุคคลที่ 2 ไปบอกบุคคลที่ 4)พอเธอได้ฟังดังนี้บุคคลที่ 4 ได้ฟังดังนี้ ก็จะระลึกได้ว่า นี้คือธรรมที่เราเคยประพฤติมาก่อน
เป็นชั้นๆ เป็นทอดๆ เป็นระดับๆ ลงมา ในอานิสงส์แก่การฟังธรรมเนื่อง จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เป็นไปตามลำดับ ซึ่งบุคคลที่จะได้อานิสงส์ 4 ประการนี้ จะต้องเป็นบุคคลผู้ที่เข้าถึงองค์ประชุมแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์ก่อน คือ มีศาสดา มีพระธรรม ตัวเองเป็นผู้ฟังธรรมนั้นมาก่อน
หรือ หมายถึงความเป็นโสดาบัน
ซึ่งบุคคลผู้นี้เป็นผู้ฟังมาก่อน
ฟังอะไร? ฟังพระธรรม
ฟังพระธรรมจากใคร?
ฟังพระธรรมจากศาสดาหรือผู้รู้
ฟังอย่างไร? ฟังอย่าง
โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง ฟังธรรมนั้นเนืองๆ
วจสา ปริจิตานัง ฟังจนจำติดปากจนคล่องปาก
มนาสานุเปกขิตานัง ฟังจนจำขึ้นใจ
ฟังจนขนาดไหน? ฟังจน ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง
แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิในธรรมนั้นมาก่อน
ซึ่งเป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ประกาศเอาไว้ในกีฏาคิริสูตรว่า ดูกรภิษุทั้งหลายเรากล่าวว่า ความเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เป็นไปได้เพียงการเข้ามาตั้งอยู่ในธรรมนี้เพียงครั้งเดียว
แต่ความเป็นอรหันต์ได้นั้น จะต้องเป็นไปตาม
อนุปุพพสิกขา อนุปุพพกิริยา อนุปุพพปฏิปทา
คือ เป็นไปตามที่ต้องศึกษาไปตามลำดับ ต้องกระทำไปตามลำดับ ต้องปฏิบัติไปตามลำดับ เป็นความเริ่มต้นตั้งแต่เบื้องต้น แล้วไล่เรียงไปเรื่อยๆ
เหมือนบุคคลผู้ศึกษาความรู้ในยุคปัจจุบันนี้ ต้องเข้าสู่อนุบาล ผ่านอนุบาลแล้วเข้าสู่ประถม ผ่านประถมแล้วเข้าสู่มัธยม ผ่านมัธยมแล้วเข้าสู่อุดมศึกษาไปตามลำดับ จนกระทั้งจบปริญญาเอกดังนี้ เป็นไปตามลำดับ แม้ธรรมในพระพุทธเจ้านี้ก็ไม่ต่างกัน
เหมือนที่ท่านตรัสเอาไว้ใน คณกโมคคัลลานสูตร ก็เหมือนกัน ธรรมนั้นจะต้องเป็นไปตาม อนุปุพพสิกขา อนุปุพพกิริยา อนุปุพพปฏิปทา คือ ศึกษาไปตามลำดับ กระทำไปตามลำดับ ปฏิบัติไปตามลำดับ
ดังนั้นทุกคนที่ได้ฟังธรรมนี้ ถ้าเป็นบุคคลผู้ที่ได้รับการกระทำในการฟังธรรมมาก่อนเนื่องๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยททิฏฐิในธรรมนั้นๆ จะตระหนักรู้ว่าธรรมนี้สามารถพิสูจน์ได้ สามารถพิสูจน์ได้จนถึงผลอันเป็นที่สุด
นั่นหมายถึงว่าเคยเป็น ผู้ที่เป็นโสดาบันมาก่อน นั่นเป็นเหตุเป็นปัจจัยของแต่ละคน แต่ถ้าบุคคลผู้ใดผุ้หนึ่งไม่ได้กระทำขั้นตอนลำดับเบื้องต้นนั้น บัดนี้บุคคลผู้ใดผุ้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่เข้าถึงความเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์นี้ หรือต้องเข้าถึงความเป็นโสดาบันนี้ จึงจะเป็นผู้ที่ ได้อานิสงส์ 4 ประการแห่งการฟังธรรม แล้วจะเป็นผู้บรรลุธรรม
ยืนยันที่นี่ว่า ด้วยวิธีการอื่น ด้วยวิธีการอื่นใดๆ จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้เลย ถ้าไม่ได้กระทำตามขั้นตอนของอนุสาสนีปาฏิหาริย์ หรือขั้นตอนของโสดาบัน ดังที่ได้แสดงธรรมในพระพุทธเจ้าให้ได้รับทราบนี้
ผู้ที่จะบรรลุธรรมนั้นจะต้อง อนุปุพพสิกขา เรียนรู้ไปตามลำดับ อนุปุพพกิริยา กระทำไปตามลำดับ
อนุปุพพปฏิปทา ปฏิบัติไปตามลำดับ ตามธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
เข้าถึงความเป็นอนุสาสีนีปาฏิหาริย์ 1
เข้าถึงความเป็นโสดาบัน 1
จึงจะเข้าถึงความเป็นสกทาคามี
จึงจะเข้าถึงความเป็นอนาคามี
และที่สุดจึงจะเข้าถึงความเป็นพระอรหันตตผลตามลำดับ
พระสูตรอ้างอิง
มหาวรรค โสตานุคตสูตร ข้อ191 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่21
กีฏาคิริสูตร ข้อ238 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่13
คณกโมคคัลลานสูตร ข้อ93 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่14
โฆษณา