13 เม.ย. 2023 เวลา 14:36 • ประวัติศาสตร์

แม้แต่หัวหน้าเชฟ ก็ยังไม่รู้สูตรลับของ KFC

ในธุรกิจแฟรนไชส์ สิ่งที่ต้องเก็บเป็นความลับอย่างถึงที่สุด และห้ามหลุดอย่างเด็ดขาด คือ สูตรลับในการสรรสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองขึ้นมา
4
คุณไม่มีทางซื้อแฟรนไชส์ไก่ย่างห้าดาว แล้วจะได้สูตรในการหมักไก่มาด้วย เช่นเดียวกันกับถ้าคุณซื้อแฟรนไชส์ KFC ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าไก่ที่หมักมานั้น ใส่อะไรลงไปบ้าง
3
ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่เจ้า KFC ครับ แฟรนไชส์แบรนด์นี้มีอายุเกิน 70 ปีแล้ว แถมยังมีหน้าร้านมากกว่า 25,000 สาขาทั่วโลก
แต่น่าแปลกที่ยังสามารถเก็บสูตรลับในการหมักไก่ไว้ได้แบบมิดชิด แม้แต่หัวหน้าเชฟเอง ก็ยังไม่รู้วัตถุดิบทั้งหมดที่ปรุงมันขึ้นมา
คำถามคือ KFC ทำได้ยังไง และทำไมแม้แต่คนที่เตรียมวัตถุดิบถึงยังไม่รู้ ?
บทความนี้ เราจะไปหาคำตอบที่ว่านั้นกันครับ
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส
ย้อนกลับไปในปี 1939 ที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี สหรัฐอเมริกา
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส หนุ่มใหญ่วัย 49 ปี กำลังง่วนอยู่กับการเสิร์ฟอาหารอย่างแฮม สเต็ก และไก่ทอดสูตรพิเศษให้กับลูกค้าที่หลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย
2
บ้างเข้ามาเพราะรอรถที่เติมแก๊ส แต่ก็มีไม่น้อยที่มาเพราะรีวิวของนักวิจารณ์อาหารชื่อดังอย่างดันแคน ไฮนส์ ที่พูดเปรยไว้ทำนองว่า "ถ้าคุณแวะมาเคนตักกี ร้านนี้ควรค่าแก่การลิ้มลองดูสักครั้ง"
2
ด้วยคุณภาพและรสชาติของอาหาร โดยเฉพาะไก่ทอดที่เข้าขั้นอร่อยเหาะ ร้าน Sanders Court and Café ของแซนเดอร์ส จึงเริ่มโด่งดังเป็นพลุแตก ชนิดที่ว่าเป็นร้านดังประจำรัฐและเป็นแลนด์มาร์กให้กับนักท่องเที่ยว
3
เมื่อโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากๆ เข้า ผู้ว่าการรัฐจึงมอบตำแหน่ง "พันเอกแห่งเคนตักกี" ตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเกียรติให้กับคุณประโยชน์และชื่อเสียงที่เขาทำให้แก่บ้านเกิด จากนี้จนวันตายผู้คนจึงรู้จักเขาในชื่อของ "ผู้พันแซนเดอร์ส"
1
และในช่วงที่ธุรกิจของแซนเดอร์สกำลังประสบความสำเร็จนี้เอง สูตรลับในการหมักไก่ของเขาก็เสร็จพอดี
ร้าน Sanders Court and Café
สูตรลับที่ว่านี้ แซนเดอร์สได้แรงบันดาลใจมาจากไก่ที่แม่เขาทอดให้กินตอนเด็กๆ วัตถุดิบที่ใช้ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่เลยนอกจากเกลือ พริกไทย และของที่ใครๆ ก็มีในห้องครัว
1
เผอิญว่ามันผสมกันได้แบบลงตัวมากๆ ทุกวันนี้ถ้าใครเป็นแฟน KFC ก็จะพอเห็นคุ้นเคยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ที่มีทั้งความมัน เคล้ารสเผ็ด หุ้มไปด้วยความชุ่มฉ่ำของเนื้อไก่ และหนังที่กรอบพอดีคำเป็นอย่างดี
1
ปัจจุบัน KFC ผ่านเวลามามากกว่า 70 ปีแล้ว เว้นเสียแต่ผู้บริหารระดับสูง ก็ยังไม่มีใครรู้สูตรที่แท้จริงในการหมักไก่ของฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส แม้แต่หัวหน้าเชฟที่เป็นคนเตรียมวัตถุดิบขึ้นมากับมือ
1
ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ ถ้าร้านของแซนเดอร์สยังเป็นแค่คาเฟ่เล็กๆ อยู่ในชนบท
แต่ปัจจุบันนี่คือแฟรนไชส์ระดับโลกที่มีหน้าร้านมากกว่า 25,000 สาขา ใน 147 ประเทศ
KFC ทำธุรกิจโดยที่ความลับของพวกเขาไม่รั่วไหลได้ยังไงกัน ?
หลังรุ่งโรจน์กับธุรกิจร้านอาหารอยู่หลายปี แซนเดอร์สก็จำใจต้องปิดร้านอาหารที่เขามีอยู่ทั้งหมด เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
2
จากนั้นเป็นต้นมากราฟชีวิตของเขาก็ดำดิ่ง ไม่มีรายได้ ไม่มีลูกค้า ก่อนจะพบหนทางสว่าง นั่นคือ นำสูตรลับที่มีอยู่ไปทอดไก่ และขายผ่านร้านอาหารชื่อดังที่เข้าร่วมโครงการ เรียกให้ดีหน่อยว่า "แฟรนไชส์"
1
หนึ่งในนั้นคือร้านของพีท ฮาร์แมน ร้านอาหารชื่อดังร้านหนึ่งในย่าน Salt Lake City
1
ร้านของพีท ฮาร์แมนนั้น มีเมนูไก่ทอดที่ชื่อ Southern Fried Chicken หรือ "ไก่ใต้" ขายอยู่แล้ว แซนเดอร์สต้องการชื่อให้กับเมนูไก่ของเขาที่ดูแปลกใหม่แต่ก็ยังล้อคำเดิม
2
เขาจึงบิดคำเล็กน้อย เติมชื่อบ้านเกิด ก่อนจะออกมาเป็น Kentucky Fried Chicken หรือ "ไก่ตักกี" ย่อสั้นๆ ว่า KFC ที่พวกเรารู้จัก
2
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส และ พีท ฮาร์แมน จุดกำเนิด KFC
ในช่วงแรก แซนเดอร์สและภรรยา จะเป็นคนหมักไก่เองทั้งหมด ร้านที่ร่วมแฟรนไชส์จะมีหน้าที่เพียงทอด และนำไปเสิร์ฟลูกค้าเท่านั้น โดยแซนเดอร์สจะได้ส่วนแบ่งจากไก่ที่ขายได้ และสูตรลับของเขาก็จะไม่มีทางรั่วไหลสู่สาธารณชน
2
แต่หลังจากที่ KFC เริ่มบินสูง มีสาขาในอเมริกามากกว่า 600 สาขา แซนเดอร์สในวัย 73 ปี รู้ถึงสังขารตัวเองดีว่า อีกไม่นานถึงเวลาที่เขาจะต้องวางมือแล้ว
1
เมื่อการตัดสินใจครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง มกราคม ปี 1964 เขาตกลงขายแฟรนไชส์ทั้งหมดให้กับนักธุรกิจหนุ่มผู้ทะเยอทะยานอยากจะพา KFC ไปไกลถึงระดับโลก อย่างจอห์น บราวน์ จูเนียร์ ไปในราคาสองล้านเหรียญ พร้อมกับทิ้งโจทย์สุดหินก่อนไปใช้ชีวิตเป็นเศรษฐีในบั้นปลายไว้ว่า
1
จะเก็บความลับที่ฉันอุตส่าห์ปิดมานานนี่ยังไง ?
1
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส (กลาง), จอห์น บราวน์ จูเนียร์ (ขวา)
หลังได้สิทธิ์ในการบริหาร ตัวบราวน์เองก็รู้ดีว่าในธุรกิจแฟรนไชส์ ความลับผลิตภัณฑ์นั้นสำคัญที่สุด
เพราะถ้าเกิดความลับรั่วไหลแล้วคนทั่วไปรู้หมดก็จบเห่ หรือถ้ามีลูกน้องเก่าลาออก แล้วออกมาแฉบริษัทนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เขาต้องทำให้ความลับนี้เป็นความลับต่อไป
สิ่งที่บราวน์และผู้บริหารทำคือ แบ่งสูตรในการหมักไก่ออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งส่งให้กับบริษัท Griffith Laboratories อีกส่วนส่งให้กับบริษัท McCormick & Co. ทั้งสองบริษัทนี้เชี่ยวชาญในสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ การทำเครื่องปรุง
3
Griffith Lab. นั้นก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1919 ด้วยพ่อที่เป็นเซลและลูกที่เป็นเภสัชกร
2
Griffith คนพ่อ (ซ้าย) และคนลูก (ขวา)
ส่วน McCormick ก็เริ่มต้นกิจการด้วยการขายเครื่องเทศ บ้างก็สกัดออกมาเป็นขวด
ผลิตภัณฑ์จาก McCormick
นั่นแปลว่าการจะทำให้พริกไทย เกลือ ปาปริกา และมัสตาร์ด อยู่ในรูปแบบสำเร็จรูปและพร้อมจัดส่งให้หน้าร้านของ KFC กว่า 1,000 สาขาจึงดูไม่ใช่งานที่ยากเท่าไหร่นัก
1
ในขั้นตอนดำเนินงาน Griffith Lab. จะต้องทำครึ่งของตัวเองก่อน (ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไรบ้าง แต่ก็จะวนๆ อยู่แถวๆ พริกไทย เกลือ แป้ง) และส่งต่อให้กับ McCormick (ที่ดูจะเชี่ยวชาญเรื่องพริกและสมุนไพรเป็นหลัก เช่น ปาปริกา ออริกาโน) และจัดส่งให้กับหน้าร้านต่างๆ ที่เป็นแฟรนไชส์
2
จากคำบอกเล่าของพนักงาน เมื่อตัวเครื่องเทศมาถึง คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าในถุงใบนั้นคืออะไร จนกระทั่งมันถูกเปิดออก เต็มที่ก็พอจะเดาได้จากกลิ่นของมัน แต่จ่าหน้าซองไม่มีชื่อบอกอะไรทั้งนั้น นอกจากอักษรสั้นๆ เช่น A B หรือ C D
2
ถ้าคุณเป็นพนักงาน หน้าที่มีเพียงอย่างเดียวคือ แกะซอง ผสม ทอด และนำไปเสิร์ฟ ส่วนถ้าคุณเป็นเชฟ หน้าที่คือควบคุมวัตถุดิบและคุณภาพของอาหาร
2
แม้คุณจะเป็นเชฟที่เก่งจนพอจะเดาได้ว่า เครื่องเทศแต่ละซองนั้นคืออะไร แต่เมื่อมันมาในรูปแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน การรู้ว่าคืออะไร แต่ไม่รู้ว่าใส่ในปริมาณเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางรู้สูตรที่แท้จริงอยู่ดี
2
และเมื่อนำภาพทั้งหมดมาประกอบกัน ทั้งตัวผู้บริหาร การแยกส่วนวัตถุดิบ ระบบการจัดส่ง และการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนของพนักงาน
1
ทุกวันนี้ความลับของผู้พันแซนเดอร์ส จึงยังอยู่ตรงนั้น แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 70 ปี แล้วก็ตาม
3
แต่ว่ากันตามตรง ต่อให้รู้หรือไม่รู้ ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า การใส่เรื่องราวของสูตรลับบางอย่างที่ยังไม่มีใครไขได้เข้ามา
ทำให้ไก่ทอดไม่กี่ชิ้นนั้นดูน่าค้นหา และ ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาลิ้มลองได้ไม่น้อยเลยจริงๆ
#WDYMean
อ้างอิงจาก
ประวัติของผู้พันแซนเดอร์ส และ KFC
สูตรลับของผู้พันแซนเดอร์ส
พีท ฮาร์แมน จุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ KFC
จอห์น บราวน์ จูเนียร์ ผู้สานต่อกิจการ KFC
โฆษณา