25 ส.ค. 2023 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์

“สามคนเป็น สามคนตาย”: กระจกสะท้อนความตายของชาวยุคกลาง

ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยุคกลาง ดังที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ รวมไปถึงแนวคิดเรื่องการตายดีของชาวคริสต์ยุคกลางด้วย ซึ่งผลพวงจากการพยายามแสวงหาการตายดีอย่างที่ปรากฏในศาสตร์แห่งความตาย (Ars Moriendi) ก็นำมาสู่ศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า
“มรณานุสติ” (Mementos Mori) เพื่อเตือนสติชาวยุคกลางถึงความตายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยธีมของมรณานุสติที่นิยมวาดกันมีอยู่ด้วยกัน 2 ธีมหลัก ๆ คือ สามคนเป็น สามคนตาย (Three living and Three dead) และระบำมรณะ (Danse Macabre)
สามคนเป็น สามคนตายเป็นภาพวาดที่เกิดจากเรื่องราวในหนังสือของบาร์ดผู้หนึ่งนาม โบดวง เดอ กงเด (Baudouin de Condé) โดยมีใจความว่า ชายชนชั้นสูง 3 คน ออกไปล่าสัตว์ในป่า แต่แล้วก็พบกับศพพูดได้ 3 ร่างที่มาเตือนชายชนชั้นสูงทั้ง 3 เกี่ยวกับความตายที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังในภาพ ซึ่งเป็นภาพสามคนเป็น สามคนตายจาก Book of Hour ของฝรั่งเศสในช่วงปี 1480-1490
จากภาพจะเป็นภาพของพระสันตะปาปา ราชา และจักรพรรดิ ยืนประจัญหน้ากับศพพูดได้ทั้งสามที่สวมเครื่องหัวเหมือนกันกับคนเป็น เสมือนกับภาพสะท้อนในกระจกของพระสันตะปาปา ราขา และจักรพรรดิ เป็นนิมิตความตายของคนเป็นทั้งสาม อีกทั้งยังเป็นข้อเตือนใจว่า ความตายนั้นไม่เลือกชนชั้น แม้แต่เจ้าผู้ปกครองเองก็ตายได้เหมือนกัน แต่ทว่าภาพในธีมนี้กลับดูเป็นการสะท้อนเพื่อเตือนใจเหล่าชนชั้นสูงมากกว่า เนื่องจากภาพของชนชั้นสูงอาจจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ในขณะเดียวกันภาพระบำมรณะอาจจะดูเข้าถึงบุคคลทั่วไปได้ง่ายกว่า
อ้างอิง
Medieval Manuscripts blog, “The Three Living and the Three Dead,” British Library, https://blogs.bl.uk/digitisedmanuscripts/2014/01/the-three-living-and-the-three-dead.html
โฆษณา