29 ส.ค. 2023 เวลา 09:14 • ประวัติศาสตร์

เมื่อจิตรกรหญิงของมารี อองตัวแนตต์ นิยามตัวเองว่าเป็นกะเทย

“ภาพนี้คือภาพของใครกัน?” นักดนตรีถามด้วยความใคร่รู้
“ชะรอยว่าจะเป็นภาพนางแบบของยอดศิลปินดูเปลซซี” กวีแสดงความคิดเห็นของตนเอง
“เปล่าเลย นี่เป็นภาพเหมือนตนเองของคนวาดต่างหากเล่า” จิตรกรตอบด้วยความรู้ที่ตนเองมี กวีรู้สึกประหลาดใจเมื่อทราบว่าภาพอันงดงามเบื้องหน้าวาดโดยผู้หญิง
“ถ้างั้นแม่สาวคนสวยนี้ก็วาดภาพตัวเองขึ้นมางั้นสิ?” กวีอุทาน
“เธอเป็นจิตรกรภาพประวัติศาสตร์เหรอ?” นักดนตรีผุดคำถามขึ้นมา
“เปล่าเลย ผู้หญิงไม่สามารถวาดภาพที่วิจิตรได้เพียงนี้ เพราะฝีมือ, เหตุผล, และจิตวิญญาณของผู้หญิงนั้นขาดความสามารถที่นำพาไปสู่จุดนั้นได้ หากธรรมชาติเสกสร้างให้ผู้หญิงมีฝีมือ, เหตุผล, และจิตวิญญาณได้ขนาดนั้น นั่นไม่ใช่ผู้หญิงแต่เป็นสัตว์ประหลาด” จิตรกรตอบ
บทสนทนาข้างต้นเป็นความตอนหนึ่งจากบทวิจารณ์ในซาลอนปี 1783 ที่มีต่อภาพเหมือนของ “เอลิซาแบต เลอเบริง” (Élisabeth Vigée Le Brun) หนึ่งในสี่จิตรกรหญิงที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมราชสมาคมจิตรกรรมและประติมากรรมแห่งฝรั่งเศสในช่วงระบอบเก่าก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นจิตรกรหญิงเพียงคนเดียวที่ใช้ภาพวาดในหมวด “ภาพประวัติศาสตร์” ที่อยู่บนจุดสูงสุดของชนชั้นจิตรกรรมและสงวนเอาไว้ให้ “ผู้ชาย” ในการยื่นเข้าร่วมราชสมาคม
ภาพเหมือนเป็นหมวดภาพที่สูงที่สุดเท่าที่ “ผู้ชาย” จะยอมให้ผู้หญิงวาด กลับกันมาดามเลอเบริงกลับพยายามทำลายความคิดนั้นเสียด้วยการส่งภาพประวัติศาสตร์ไป แล้วภาพประวัติศาสตร์ฝีมือของมาดามเลอเบริงก็ไม่ได้กระจอกเสียด้วย ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะไม่มีสิทธิวาดภาพเปลือยซึ่งมักจะปรากฏในภาพประวัติศาสตร์ได้ ทว่ามาดามเลอเบริงกลับสะท้อนภาพของหญิงรูปงามทว่ากลับแฝงไปด้วยความเป็นชายที่น่าอัศจรรย์
เป็นเพศภาวะที่เรียกว่า 'กะเทย' (Hermaphrodite) ที่ไม่ใช่ทั้งหญิงและไม่ใช่ทั้งชาย ความแอนโดรจีน (Androgynous) ของตัวละครหญิงในภาพประวัติศาสตร์ของมาดามเลอเบริงจึงเป็นเสมือนกับสัญญะของ “ผู้หญิงที่สามารถทัดเทียมผู้ชายได้”
สภาวะกึ่งหญิงกึ่งชายนั้นไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ในภาพประวัติศาสตร์ที่ใช้ยื่นเข้าสมาคมนั้น แม้แต่ในภาพเหมือนของมาดามเลอเบริงที่สามสหาย นักดนตรี, กวี, จิตรกร ได้วิจารณ์ไปนั้นก็ยังคงมีสภาวะกึ่งหญิงกึ่งชายดังที่จิตรกรกล่าวออกมาว่า “นั่นไม่ใช่ผู้หญิง” ด้วยความที่เป็นภาพเหมือน มันจึงไม่ได้บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงมากนัก เธอหยิบเอาลักษณะงานมาจากภาพเหมือนที่วาดโดยรูเบนส์ซึ่งเป็นไอดอลของเธอ แต่ความเป็นกึ่งชายกึ่งหญิงของมาดามเลอเบริงที่ปรากฏในภาพเหมือนกลับถูกสะท้อนออกมาผ่านสิ่งที่อยู่ในมือของเธอ “พู่กัน”
“พู่กัน” มันสะท้อนถึงความเป็นกึ่งชายกึ่งหญิงยังไง? ถ้าพูดแค่ว่ามันเป็นเป็นพู่กันมันก็ไม่ได้สื่อถึงอะไร แต่ถ้าเราบอกว่ามันคือ “Phallus” ล่ะ? สำหรับชาวฟรอยเดียน หรือคนที่ศึกษาจิตพิเคราะห์/จิตวิทยาทั้งหลายน่าจะรู้จักกับ Phallus มาบ้าง ในแง่ของศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรโกโก (ที่มาดามเลอเบริงได้รับอิทธิพลมาบ้าง) Phallus เป็นสิ่งที่ปรากฏกายบ่อยมากผ่านสัญญะต่าง ๆ ในศิลปะอีโรติก
พู่กันของมาดามเลอเบริงได้กลายมาเป็น Phallus ของเพศชาย ซึ่งมันกลับกลายเป็นความหมายเชิงสัญญะว่า เธอมี “ไอนั่น” แต่ไม่ใช่ “ไอนั่น” จริง ๆ แต่เป็น “ไอนั่น” ทางสัญญะที่ทำให้เธอเป็น “สตรีที่ทัดเทียมบุรุษ” ไม่ใช่เพียงแค่ฝีมือ แต่รวมไปถึง ‘ไอนั่น’ ด้วย มิหนำซ้ำมือขวาของเธอก็ไปห้อยอยู่กลางหว่างขาพอดิบพอดีอย่างน่าสงสัย อีกทั้งยังมีกลไกสำคัญในการบอกโดยนัยว่า “ฉันมีเหมือนผู้ชายมี แล้วทำไมฉันจะเป็นจิตรกรภาพประวัติศาสตร์ไม่ได้ล่ะ?”
มาดามเลอเบริงเลยกลายเป็นภาพลักษณ์ของจิตรกร “สตรีนิยม” ในยุคแรกเริ่มที่กล้าหาญพอที่จะประจัญหน้ากับสังคมที่ผู้หญิงยังไม่ได้มีปากเสียงมากพอ ถึงแม้ว่าเธอจะถูกกีดกันจากการวาดภาพประวัติศาสตร์และลดชั้นมาวาดภาพเหมือนอย่างเดียวในช่วงหลัง แต่ก็ไม่สามารถลดทอนความสามารถของเธอได้เลย เธอจึงยังคงเป็นที่รู้จักในฐานะของหนึ่งในจิตรกรภาพเหมือนที่มีชื่อเสียง และมีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ
อ้างอิง
Sheriff, Mary D. The exceptional woman: Elisabeth Vigée-Lebrun and the Cultural Politics of Art. Chicago: University of Chicago Press, 1997.
Sheriff, Mary D. “WOMAN? HERMAPHRODITE? HISTORY PAINTER? ON THE SELF-IMAGING OF ELISABETH VIGÉE-LEBRUN.” The Eighteenth Century 35, no. 1 (1994): 3–27. http://www.jstor.org/stable/41467571.
Montfort, Catherine R. “Self-Portraits, Portraits of Self: Adélaïde Labille-Guiard and Elisabeth Vigée Lebrun, Women Artists of the Eighteenth Century.” Pacific Coast Philology 40, no. 1 (2005): 1–18. http://www.jstor.org/stable/25474166.
Radisich, Paula Rea. “Que Peut Définir Les Femmes?: Vigée-Lebrun’s Portraits of an Artist.” Eighteenth-Century Studies 25, no. 4 (1992): 441–67. https://doi.org/10.2307/2739307.
โฆษณา