16 ก.ย. 2023 เวลา 07:23 • ศิลปะ & ออกแบบ

บันทึก “พระวิหารกรุงเทพ” ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

พระวิหารแห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับทางแยกของถนนเพชรบุรีตัดใหม่กับถนนอโศกมนตรี (แยกอโศก-เพชรฯ) หลังจากการที่ได้เยี่ยมชม พร้อมกับพิเคราะห์รูปลักษณ์ของอาคาร ตลอดจนได้มีโอกาสพูดคุยกับกัลยาณมิตรแห่ง “ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” ทำให้ได้พบประเด็นต่างๆที่มีความน่าสนใจสามารถสรุปได้ ดังนี้
นับตั้งแต่การเกิดนิกายย่อยต่างๆของ “โปรเตสแตนต์” (คริสเตียน) ที่สอดรับกับช่วงเวลาของเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในดินแดน “โลกใหม่” โดยมีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ช่วงเวลาเดียวกับการเกิดประเทศอเมริกา) คือ มีหมอสอนศาสนาในส่วนของนิกายย่อยคือ “เพรสไบทีเรียน” ที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา ทำให้สังคมไทยบางส่วนเริ่มเรียนรู้จักแนวคิด “ความเชื่อ ศรัทธา” แบบใหม่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี กลุ่ม“ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” หรือที่เรียกว่ากลุ่มที่ถือพระคัมภีร์ “Mormon” (มอรมอน) ที่ก่อตั้งโดย “โจเซฟ สมิธ” (ช่วงทศวรรษ 1820) ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มมิชชันนารี “เพรสไบทีเรียน” ที่เข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ช่วง รัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๕)
และแม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะเดินทางมาจากดินแดนที่ถูกเรียกเช่นเดียวกันว่าอเมริกาก็ตาม แต่ช่วงเวลานั้นดินแดนต่างๆของประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เป็นปีกแผ่นดังเช่นสมัยปัจจุบัน
 
หนึ่งในความน่าสนใจที่เกี่ยวกับที่มาของ พระคัมภีร์มอรมอน คือการให้ความสำคัญกับดินแดนที่เรียกว่า “โลกใหม่” โดยมีการกล่าวถึง “การเสด็จของพระเยซูคริสต์ มาสู่ผืนแผ่นดินอเมริกา” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการแสดงออกทางด้าน “รูปแบบศิลปะ” ตั้งแต่สมัย Neo-Classic (ช่วงต่อสมัยรัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๒)
โดยมีผลพวงมาจากพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีการต่อยอดวิถี วัฒนธรรมจากยุโรป มาสู่สมัยทางศิลปะ-สถาปัตยกรรมของ Art Deco ซึ่งเป็น “นวัตกรรมใหม่” ที่มีความนิยม แพร่หลายในอเมริกา
การใช้เส้นตรงแบบเรขาคณิต โดยแยกระนาบต่างๆให้เกิดลวดลายผ่านแสงเงา หนึ่งในแนวคิดนิยมของงานออกแบบ Art Deco ภาพจาก ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร
เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่นำไปสู่พัฒนาการทางสังคมที่พยายามเชื่อมผู้คนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ฐานะความเป็นอยู่ ฯลฯ โดยมีพระคัมภีร์ “มอรมอน” อันเป็นหมุดหมายแห่งนวัตกรรมทางด้าน ความเชื่อ ศรัทธา ที่ได้สร้างอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น “โลกใหม่”
การออกแบบลายกระจกด้วยเส้นตรงแบบเรขศิลป์ที่ลดรูปมาจากศิลปะไทย  โดยผสมผสานกับการใช้เม็ดสีรูปเหลี่ยมในอากัปกิริยาของกระจก Stained Glass ในงานศิลปะแบบ Art Deco ภาพจาก ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมสัญจร
รูปลักษณ์ที่แสดงผ่านรูปแบบของอาคาร เกิดจากแนวคิดที่ถูกผนึกเข้ารวมกับ วิถีของผู้คน (Way of Life) ในแผ่นดินอเมริกา ที่มีการเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งยุโรป โดยมีการเรียกขานดินแดนแห่งนี้ (ในช่วงเวลานั้น) ว่า “โลกใหม่” ความหลากหลายของผู้คนในดินแดนใหม่ ทำให้เกิดพัฒนาการทางด้านต่างๆมากมาย อาทิ นวัตกรรมทางด้านจักรกล (เทคโนโลยี) ในทุกมิติ รวมถึงแนวคิด “ความเชื่อ ศรัทธา” ที่เกิดคู่ขนานไปกับแนวคิดโลกใหม่บนแผ่นดินอเมริกา
การแสดงออกผ่านแนวคิดโลกใหม่ของศาสนสถานแห่งนี้ ปรากฏในงานออกแบบคือ การเลือกใช้กลุ่มสี (Schemes) ที่ผู้ออกแบบมีความประทับใจจากจิตรกรรมฝาผนังของวัดพระแก้ว (จากคำบอกเล่าของคุณ Matthew) โดยพบได้จากการนำกลุ่มสีและลวดลายดังกล่าวไปใส่ไว้ในงานตกแต่งภายในห้องที่มีความสำคัญของพระวิหาร ซึ่งเปรียบเหมือนพื้นที่ของพระเยซูคริสต์ทรงประทับอยู่บนสวรรค์ (คืออาคารสูงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และอยู่ตรงข้ามกับโบสถ์) โดยมีลานกลางแจ้ง (Courtyard) เชื่อมพื้นที่ของอาคารทั้งสอง
การเลือกใช้ “ช่องลม” ที่เป็นลวดลายมาตรฐานของอาคาร โดยมีเค้าโครงมาจากลาย “แก้วชิงดวง” ซึ่งเป็นหนึ่งในลวดลายของศิลปะไทย โดยมีการ “ลดรูป” (Simplified) ให้เหลือเพียง “กรอบโครง” ของลวดลายเท่านั้น การลดรายละเอียดของลวดลาย ยังมีความสอดคล้องกับแนวคิด ศิลปะ-สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างของกลุ่มลาย "แก้วชิงดวง" หนึ่งในลวดลายที่มักพบในงานศิลปะไทย  ภาพจาก พระเทวาภินิมมิต
นอกจากนี้ การหยิบนำเอา “อากัปกริยา” ของลวดลายในศิลปะไทยคือ "แก้วชิงดวง" มาลดทอนรายละเอียดให้เหลือเพียง “เส้นโครงของลาย” ยังทำให้ศาสนสถานแห่งนี้มีความทันสมัย และสามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับสถานที่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ดีอีกด้วย
ลวดลายของช่องลม ที่มีเค้าของกรอบโครงมาจากลาย "แก้วชิงดวง"
ในทางกลับกัน แม้ว่าพื้นผิวอาคารจะไม่มีการตกแต่งลวดลาย แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความสงบ มั่นคง โดยมีการใช้แสงและสีช่วยสร้างบรรยากาศของอาคารในยามค่ำคืนตามหลัก Lighting Design ทำให้อาคารมีความ “มลังเมลือง” โดยใช้แสงขับให้เกิดความสว่างเฉพาะจุด สอดคล้องกับพื้นที่การใช้งานทั้งภายในและภายนอกของอาคาร
บันทึกการใช้แสงและสีในงานออกแบบ Lighting Design   ภาพบันทึกจากลานกลางแจ้งทางฝั่งซ้ายของประติมากรรมพระศาสดา
ในขณะเดียวกันแสงและสียังช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้อาคารแลดูศักดิ์สิทธิ์ โดยยอมให้บางส่วนของอาคารมืดสลัวเพื่อช่วยเสริมให้ระนาบอีกส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งมีความสำคัญกลับมีความโดดเด่นจากแสงสว่างด้วยเส้นสายและรูปทรงแนวตั้ง
การใช้โคมไฟที่มีรูปแบบมาจากผังอาคารในงานสถาปัตยกรรมไทย  โดยการเพิ่มมุมออกมาเป็นมุมย่อยที่เรียกการย่อมุมแบบ ไม้ ๑๒
การเกิดนิกายย่อยที่เรียกว่า “มอรมอน” จึงถือเป็นอีกหนึ่งพลวัตที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งก่อนหน้านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ภาคพื้นเอเชียตะวันออกไกล มีกรอบแนวคิดการออกแบบที่นิยมแสดงภาพลักษณ์ของศาสนสถานโดยเน้นรูปทรงตามแนวตั้ง ประหนึ่งรูปแบบปราสาทในวัฒนธรรมตะวันตก หากแต่มีการ “ลดรูป” ให้มีรายละเอียดของลวดลายงานตกแต่งของอาคารให้น้อยลงตามแนวคิดสมัยใหม่
บันทึกอาคารของศาสนสถานในระยะไกล  จะพบกลุ่มหลังคายอดแหลมที่ผ่านการลดรูป ลดขนาดให้เหลือเพียงสัญญะของอาคารบริวาร (Towers) โดยมีอาคารประธาน (Main Tower) ตั้งอยู่ตรงกลาง   ภาพบันทึกจากบริเวณหน้าร้านกาแฟแห่งหนึ่ง
สิ่งต่างๆเหล่านี้ สะท้อนผ่านรูปแบบทาง “ศิลปะ-สถาปัตยกรรม” และมีความสอดคล้องกับแนวคิด “สมัยใหม่” ที่สอดรับกับนิยามของคำว่า “โลกใหม่” ที่แฝงผลลัพธ์ทางด้านจิตใจด้วย “ความหวังแห่งใหม่” ซึ่งผู้คนกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อ ศรัทธา ต่อศาสนาที่ปรากฏอยู่ในวันนี้ โดยมีความหวังอันเป็นความสุขนิรันดร์รออยู่เบื้องหน้า
#Mormon #ศาสนจักร #Art Deco #ศิลปะไทย
ขอขอบคุณ
Matthew Vogel. กัลยาณมิตรแห่ง “ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย”
รายการอ้างอิง
พระเทวาภินิมมิต. สมุดตำราลายไทย. กรุงเทพฯ: นครเขษมบุ๊คสโตร์. มปป.
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย. พระคัมภีร์มอรมอน. Korea: Intellectual Reserve, Inc. 2023.
โฆษณา