15 ต.ค. 2023 เวลา 01:00 • คริปโทเคอร์เรนซี

KKP ชี้ “คริปโต” ขาดคุณสมบัติของ “เงิน”

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่าคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrencies) เป็นสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน แต่สามารถสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ระดับราคาพุ่งสูงขึ้นจนได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมากตั้งแต่ช่วง COVID-19 เป็นต้นมา
2
รวมทั้งความนิยมนี้ ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นว่าในบิตคอยน์ รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีจะกลายเป็น “เงิน” แห่งโลกอนาคต ที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง และมีความปลอดภัยสูง
2
แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีข้อสงสัยว่า บิตคอยน์ รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ จะสามารถนำมาใช้แทนเงินได้จริงหรือไม่?
คำตอบจาก KKP Research กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า บิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซียังคงห่างไกลกับคำว่า “เงิน” เพราะยังมีข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของเงินใน 3 ข้อนี้
1
1. “เงิน” ต้องเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange)
ในความเป็นจริงแล้ว “เงิน” จะเป็นอะไรก็ได้ที่คนในสังคมทั่วไปยอมรับในการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้
แต่ในกรณีของคริปโตเคอร์เรนซี อาจจะยังมีปัญหาเรื่องของระยะเวลาในการทำธุรกรรมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรมลดลง (Scalability) และไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. “เงิน” ต้องใช้เป็นมาตรฐานในการใช้วัดมูลค่าสินค้าได้ (Unit of Account)
ปกติแล้วเงินจะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าและบริการได้ค่อนข้างแน่นอน เช่น น้ำ 1 ขวด ราคา 10 บาท แต่ถ้าเราอยากได้น้ำเพิ่มเป็น 2 ขวด ก็จะคิดเป็นเงิน 20 บาท ซึ่งราคาต่อขวดจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีของคริปโตเคอร์เรนซียังขาดคุณสมบัตินี้ เนื่องจากความผันผวนค่อนข้างสูง ทำให้ถ้ามีการยึดราคาสินค้าและบริการเข้ากับราคาของคริปโตเคอร์เรนซี ผู้ขายอาจจำเป็นต้องปรับราคาถี่ขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากทั้งผู้ขายและผู้บริโภค
3. “เงิน” ต้องใช้เป็นเครื่องรักษามูลค่าได้ (Store of Value)
เงินไม่ว่าจะผ่านเวลาไปนานเท่าไรก็ยังคงเป็นเงิน ซึ่งมูลค่าก็จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น สมมติเรามีเงิน 100 บาท แต่นำไปซื้อผักมาเก็บไว้ 1 สัปดาห์ ผักก็จะเน่าเสีย และมูลค่าก็จะลดลง แต่ถ้าเราเก็บเป็นเงิน 100 บาท 1 สัปดาห์ผ่านไป เงินก็ยังคงมีมูลค่า 100 บาทเหมือนเดิม
2
ต่างกับคริปโตเคอร์เรนซีที่เราไม่สามารถมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าวันพรุ่งนี้ผู้คนจะยังเชื่อมั่นในบิตคอยน์และคริปโตอยู่หรือไม่ ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเก็บรักษามูลค่าได้
และนอกจากเรื่องคุณสมบัติของการเป็นเงินแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังสร้างความกังวลให้กับผู้ดูแลเงินในระบบของประเทศอย่างธนาคารกลาง คือ ผลของการใช้นโยบายทางการเงินที่จะหายไป ถ้ามีการใช้คริปโตแทนเงินในปัจจุบัน
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด, ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะผันผวนเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่ปัญหาเศรษฐกิจจะลุกลาม
1
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในทางทฤษฎีถ้าทุกคนยอมรับบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ก็อาจเป็นไปได้ที่ความผันผวนจะลดลง และสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นได้ด้วยอุปสรรคในหลายด้านก็ทำให้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตามบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอาจยังคงอยู่เป็นสินทรัพย์ทดแทนที่มีการซื้อขายต่อไปแม้ว่าจะไม่ใช่สกุลเงินก็ตาม และหากคริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำหน้าที่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตัวเองได้ (เช่น ลดต้นทุนการทำธุรกรรม หรือสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ที่ระบบปัจจุบันทำไม่ได้) ก็อาจจะสามารถมีมูลค่าในตัวมันเองได้เช่นกัน
1
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #ออมเงิน #ลงทุน #วางแผนเกษียณ #เศรษฐกิจ #อิสรภาพทางการเงิน #คริปโต #บิตคอยน์ #Bitcoin #Cryptocurrency #KKP
โฆษณา