4 พ.ค. เวลา 04:00 • หนังสือ

รักซ้อน ซ่อนรส : ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา

เพิ่งอ่านนิยายเล่มนี้จบหมาดๆเองครับ ทั้งที่ได้ซื้อหามาไว้นานแล้ว
ซื้อมาดอง
อันเป็นปกติของคนชอบอ่านหนังสือแต่ขี้เกียจอย่างผม
นิยายเล่มนี้ชื่อ Like Water for Chocolate เขียนโดย Laura Esquivel แปลไทยโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล
เคยมีแปลไทยมาก่อนในชื่อรักซ้อน ซ่อนรส โดยสำนักพิมพ์ศรีสารา
มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี1992 ยังไม่เคยชมนะครับ แต่เห็นว่าตรงตามนิยายอยู่มาก
มาว่ากันที่นิยายก็แล้วกัน
นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงสาวนามติตาที่มีศักดิ์เป็นคุณยายเล็กของคนเล่าเรื่อง ติตาเป็นลูกสาวคนสุดท้องของเอเลนา มีพี่สาว2คนชื่อโรเซารากับเฮร์ทรูดิส
ติตาเกิดมาได้ไม่กี่วันพ่อของเธอก็เสียชีวิต แม่ของเธอช็อคเรื่องพ่อจึงไม่มีน้ำนมให้ติตา แม่ครัวของที่ไร่ต้องนำติตาไปเลี้ยงในครัว ติตาเมื่อโตมาจึงคุ้นเคยกับงานครัวและมีฝีมือในการทำอาหารเป็นอย่างดี
เมื่อติตาเป็นสาว มีหนุ่มชื่อเปโดรมาชอบพอซึ่งติตาก็มีไมตรีให้ เปโดรขอติตาแต่งงาน เอเลนาไม่ยอมและบอกว่าตามธรรมเนียมของตระกูลลูกสาวคนเล็กต้องอยู่ดูแลแม่จนกว่าแม่จะตาย แต่เอเลนากลับยื่นข้อเสนอให้เปโดรแต่งงานกับโรเชาราแทน เปโดรตอบตกลงเพราะเขาจะได้เข้ามาอยู่ในบ้านและใกล้ชิดติตามากขึ้น
เนื้อเรื่องหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของติตากับงานครัวที่เกี่ยวพันไปกับความรักของเธอ ที่มาของความเกลียดชังของเอเลนาที่มีต่อติตาในขณะยังมีชีวิตหรือตายไปแล้ว บทสรุปเรื่องความรักของติตากับเปโดร และตำราอาหารที่อ่านดูแล้ว เอ ถ้าลองทำดูก็น่าจะอร่อยนะ
ยุงบิน ยุงมี ยุงชุม
ชอบบบบ
อ้อ ถ้าไม่อยากอ่านนิยายยาวๆ wikipediaช่วยท่านได้ครับ
แต่มันไม่มีสูตรอาหารให้น้าาา
เรื่องนี้เป็นนิยายที่จัดอยู่ในกลุ่ม Magical Realism หรือสัจจะนิยมมหัศจรรย์ หมายถึงนิยายที่มีความสมจริง (Realism) แต่มีการซ้อนทับของความมหัศจรรย์อันแปลกประหลาด (Magical) อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนและคนในเรื่องก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใด
เวลาพูดถึงงานในกลุ่มนี้ชื่อของเกเบรียล การ์เซีย มาร์เกซกับนิยายเรื่อง100ปีแห่งความโดดเดี่ยว(One Hundred Years of Solitude) จะผุดขึ้นมาก่อน ซึ่งก็จริง งานเขียนของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนในกลุ่มละตินอเมริกาเขียนเรื่องแนวนี้
งานแนวนี้มีที่มาจากการกดขี่ข่มเหงของชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครองครับ
แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยกเว้น
บ้านไร่ของติตาจะมีมามี/มามา(แม่)เอเลนาเป็นหัวหน้าครอบครัวหลังสามีเสียชีวิตไป เอเลนาเป็นหญิงแกร่ง เป็นผู้นำ และมีความเข้มแข็งมาก เรียกว่าเป็นชนชั้นปกครองก็ได้ แต่ตามมาด้วยการบงการทุกชีวิตในบ้านจนกลายเป็นกดขี่บังคับ โดยเฉพาะกับติตาที่ต้องทำตามที่เอเลนาบัญชาลงมาเสมอไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม
ติตาทำทุกอย่างเกี่ยวกับงานครัว ทั้งเตรียมวัตถุดิบจนทำเป็นอาหาร ติตาใส่ความรู้สึกต่างๆลงไปในอาหารที่เธอทำจนเกิดเรื่องราวอลเวงอยู่บ่อยๆ
ขอยกตัวอย่างสักหน่อยครับ
-ติตาทำอาหารเลี้ยงแขกในงานแต่งงานของโรเชารากับเปโดร เธอเศร้ามาก น้ำตาของเธอหยดลงไปในอาหาร ทำให้แขกที่มาร่วมงานและกินอาหารนั้นรู้สึกเศร้าและอาเจียนออกมาเละเทะด้วยความเศร้าโศก
-ติตาได้รับดอกกุหลาบจากเปโดร เธอนำมันมาทำเป็นอาหาร เฮร์ทรูดิสกินอาหารและรับรู้ถึงความรักใคร่ที่ติตามีต่อเปโดร เธอถึงกับมีอารมณ์ทางเพศอย่างมากจนต้องออกไปอาบน้ำและทำให้ห้องน้ำไหม้ กลิ่นกุหลาบจากตัวเธอลอยไปไกลจนทำให้นายทหารคนหนึ่งออกจากสนามรบ ตามกลิ่นมาและมีเซ็กซ์กับเธอแล้วพากันหายไป
-ติตาโมโหโรเชาราขณะที่กำลังบิแป้งตอร์ติญ่าให้ไก่กิน ทำให้ไก่ทั้งเล้าจิกตีกันวุ่นวายกลายเป็นพายุลูกใหญ่ ไก่ทั้งเล้าเหลือแค่3ตัวสภาพบาดเจ็บหนัก
แล้วมันยังมีอีกหลายตอนครับ อ่านแล้วก็ เฮ้ย มีงี้ด้วยหรือวะ
การที่ติตาสามารถทำแบบนี้ได้เป็นการบอกอย่างชัดเจนถึงความคับแค้นใจของตัวเอง ความต้องการหลุดพ้นจากการกดขี่ของแม่ที่เผด็จการต่อชีวิตของเธอ มันระบายออกมาในรูปแบบของอาหารและปฏิกิริยาของคนที่กินอาหารจานนั้นๆลงไป
ทั้งหมดนี้ล้อไปกับฉากหลังที่อยู่ในสงครามปฏิวัติเม็กซิโกที่ชนชั้นปกครอง, ทหารและกลุ่มชาวบ้านต้องออกมารบรากันเพื่อปลดแอกให้หลุดพ้นจากการกดขี่สารพัดในตอนนั้น
สภาพในบ้านไร่ก็คือภาพจำลองของการปฏิวัติในครั้งนั้นเอง
แต่บอกไว้เลยครับว่าแม้อ่านแล้วเจอว่าเรื่องนี้เหมือนๆจะเป็นการไฝว้กันของแม่ลูก ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาจะวนอยู่ตรงนี้อย่างเดียว ยังมีเรื่องราวความรักของแต่ละคนในเรื่องอีก ไม่ว่าจะเป็นความหลังของเอเลนากับคนรักเก่า, โรเซาราที่ต้องการให้ลูกสาวดูแลเธอเหมือนติตา, เฮร์ทรูดิสที่กลับมาในตำแหน่งนายพลหญิงพร้อมสามี ซึ่งมันก็ร้อนแรงและซ่อนเร้นไม่ผิดจากเมนูอาหารที่ติตาทำขึ้นมา
อ้อ อีกอย่าง ในเรื่องผู้ชายจะไม่ค่อยมีบทบาทอะไรนัก มีผู้หญิงเป็นตัวชูโรงเดินเรื่องมากกว่า แม้จะได้บอกอยู่แล้วว่าผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบกันหมดก็ตาม แต่ผู้หญิงก็ยังเด่นกว่าอยู่ดี
นิยายนี้เหมือนจะเฟมินิสท์หน่อยๆครับ
ถ้าเจาะลึกลงไปที่เมนูต่างๆจะพบว่ามีไม่กี่เมนูที่ติตาไม่ได้ทำแต่มีสูตรบอกไว้ นอกนั้นเธอจะเป็นคนทำเองทั้งหมด
อ่านดูแล้ว เออ มันเป็นเมนูอาหารยัดไส้อย่างพริกยัดไส้บ้าง ขนมปังยัดไส้บ้าง อ่านแล้วก็ให้สงสัยอยู่ว่าเขากินเมนูยัดไส้กันขนาดนี้จริงๆหรือ
มีผู้วิจารณ์ไว้ว่าเมนูที่ใส่ไว้ในหนังสือคือความรู้สึกของติตาที่ต้องเก็บงำ ปิดบัง ซ่อนอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อชายคนที่เธอรักและรักเธอเหมือนกันแต่ไม่ได้แต่งงานอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา ได้แต่ลอบรักกันและดูแลกันในเวลาที่มีโอกาส
ดังนั้นเมนูที่เขียนจึงเป็นอาหารแบบพวกยัดไส้เสียมาก
ซ่อนรัก ซ่อนอารมณ์ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นอาหารสูตรต่างๆตามสไตล์เม็กซิกันที่ว่ากันว่าร้อนแรงและหวานล้ำนัก
และยังบอกด้วยว่าสูตรอาหารที่ทำในเรื่องนี้ก็เป็นของจริง และทำตามได้จริงๆด้วย ไม่ได้มโนขึ้นมาเล่นๆ
น่าสนใจมว้ากกกกสำหรับคนชอบชิมอย่างผม
แล้วชื่อเรื่องนี้ในภาษาเดิมหรืออังกฤษหมายความว่าอย่างไร
มันมาจากภาษาสเปนที่ว่าComo Agua Para Chocolate อันมีความหมายว่าใกล้จะถึงจุดเดือดแล้ว เพราะในการชงช็อคโกแลตตามท้องเรื่องที่กล่าวไว้นั้นจะใช้น้ำที่ต้มจนเกือบจะเดือดแล้วชงจึงจะได้รสชาติดี แต่จะใช้นมร้อนแทนก็ได้ มีความหมายเดียวกัน
ผมเลยตีขลุมเอาเองว่ามันคือการบอกอารมณ์ของติตาว่าใกล้จะระเบิดแล้วนะ ระวังหน่อยล่ะ ถ้าไม่ระวังจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้นะ บอกเอาไว้ก่อน
มันน่าจะเป็นคำเตือนล่ะครับ
แหงล่ะ เล่นกับอะไรไม่เล่น ดันมาเล่นกับของร้อน
ร้อนก็ดีครับ ใช้ชงชากาแฟหรือช็อคโกแลตได้ดี อร่อยด้วย
แต่ถ้าเอามือเข้าไปจับหรือเล่นกับของร้อนๆพวกนี้ล่ะก็...
ตัวใครตัวมันกันล่ะครับทุกท่าน
มันไม่ใช่แผลพุพองอย่างเดียว
เผลอๆจะกลายเป็นแผลเป็นให้เจ็บจำกันไปจนตายเลยล่ะ
ระวังไว้ครับ
เราเตือนคุณแล้ว
โฆษณา