2 ก.พ. เวลา 15:30 • ข่าวรอบโลก

ไอเดียแจ่ม! ครูเด็ก ป.3 ในอเมริกา 'จำลองระบบเศรษฐกิจ' เพื่อสอนเด็กๆ 'เรื่องการบริหารเงิน'

ให้เด็กๆ ทำงานในห้องเพื่อหา 'เงินปลอม' นำมาใช้จ่ายเช่น 'ค่าเช่าโต๊ะในห้องเรียน'
12
กลายเป็นไวรัลที่ได้รับเสียงตอบรับดีมากๆ ไปแล้วกับเรื่องราวของ เชลบี ลาตติมอร์ (Shelby Lattimore) คุณครูของเด็กประถมปีที่ 3 (เด็กอายุ 8-9 ขวบ) ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา หลังจากที่เธอออกแบบการสร้างสุดสร้างสรรค์เรื่องการ ‘บริหารเงิน’ ให้กับเด็กๆ
ลาตติมอร์ ได้ ‘จำลองระบบเศรษฐกิจ’ ขนาดเล็กขึ้นมาในห้องเรียน ที่มีการหมุนเวียนและใช้จ่าย ‘เงินปลอม’ (เป็นเงินกระดาษคล้ายกับในเกมเศรษฐี) เหมือนในชีวิตจริงๆ เลย
1
ยกตัวอย่างเช่นเด็กนักเรียนจะต้องจ่าย ‘ค่าเช่า’ โต๊ะเรียนและเก้าอี้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเอาเงินไปใช้จ่ายเพื่อซื้อสิทธิพิเศษในห้องเรียนอย่างอื่นได้ด้วย เช่นสิทธิในการข้ามการทำการบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนการสอนเรื่องความรับผิดชอบและการบริหารเงินนั่นเอง
1
คุณครูจะบันทึกวิธีการสอนต่างๆ ไว้ในวิดีโอ (สามารถเข้าไปดูวิดีโอการสอนของเธอได้ในลิงก์ด้านล่างครับ) โดยอธิบายว่าเด็กๆ จะสามารถสร้างรายได้ (เงินปลอม) โดยการทำงานภายในห้อง ยกตัวอย่างเช่นเปิดประตูให้คนอื่น ทำความสะอาดห้อง หรือช่วยเหลือครูในงานต่างๆ
4
งานแต่ละอย่างก็จะได้รับรายได้ที่ต่างกันออกไป ซึ่งทุกวันศุกร์เด็กๆ ทุกคนก็จะมารับเงินตรงนี้ไปตามงานที่ได้ทำ ซึ่งเมื่อได้เงินไปแล้ว เด็กๆ ต้องรับผิดชอบในการใช้จ่ายเงินตรงนั้นของตัวเอง คุณครูจะคอยย้ำเสมอว่าต้องเหลือเงินติดตัว 5 เหรียญเสมอ เพื่อเอาไว้จ่ายค่าเช่าโต๊ะกับเก้าอี้ในอาทิตย์ถัดไป
1
ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตจริงนั่นแหละครับ เราต้องแบ่งเงินสำหรับใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นก่อนเสมอ แล้วถ้ามีเงินเหลือ ก็สามารถเอาไปใช้ซื้ออย่างอื่นได้ อย่างเช่นนั่งทานข้าวกับคุณครู เวลาเล่นเพิ่มขึ้น นั่งดูหนังกับเพื่อนตอนกินข้าวเที่ยง เปลี่ยนที่นั่งในห้องไปนั่งกับเพื่อนสนิท หรือ แม้แต่การมานั่งที่โต๊ะทำงานของครูก็ได้เช่นกัน (ราคาส่วนใหญ่ก็จะ 3-10 เหรียญ)
1
สิทธิพิเศษที่ราคาแพงที่สุดคือการได้เป็นคุณครู ซึ่งต้องจ่าย 30 เหรียญเลยทีเดียว
มีวิดีโอหนึ่งที่สอนเรื่อง “Supply & Demand” ซึ่งสอนได้สนุกมาก
1
บนกระดาน (ลิสต์ของสิทธิต่างๆ ที่เด็กสามารถใช้เงินซื้อได้) เธอจะเขียนหมายเหตุเอาไว้ว่า ‘ราคาสามารถปรับเปลี่ยนได้’ (Prices are Subject to Change)
1
เธอสังเกตว่ามีสิทธิพิเศษอันหนึ่งที่เด็กๆ ชอบใช้เงินมาซื้อนั่นก็คือการนั่งทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนแล้วได้ดูหนังไปด้วย เลยใช้โอกาสนี้สอนเด็กๆ ว่าโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด ของบางอย่างที่เป็นที่ต้องการมากๆ ราคาอาจจะสูงขึ้นไปได้ เพราะฉะนั้นจากราคา 5 เหรียญ จะขึ้นเป็น 8 เหรียญ แต่อย่างอื่นยังราคาเดิมนะ
1
เด็กบางคนบ่นบอกว่า ‘ผมถังแตกแน่นอนเลยแบบนี้’ (ความน่ารักของเด็ก)
1
ทีนี้แล้วถ้าเด็กที่ใช้เงินจนหมดไม่เหลือเงินจ่ายค่าเช่าโต๊ะกับเก้าอี้ทำยังไง?
บทเรียนก็เหมือนชีวิตจริงครับ คือถ้าไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่าก็ไม่มีที่อยู่ เด็กก็ต้องนั่งบนพื้นแทน ซึ่งเป็นบทเรียนที่สอนเรื่องความรับผิดชอบทางการเงินได้เป็นอย่างดี หรือถ้าไม่ทำการบ้านก็ต้องจ่ายค่าปรับด้วยเช่นกัน
5
นอกจากนั้นแล้วยังมีบทเรียนด้านการเงินอื่นๆ ที่แฝงมาตลอดเช่นการนับเงินทอนทุกครั้งที่ไปซื้อของ หรือห้ามยื่นกระเป๋าสตางค์ให้คนอื่นเด็ดขาด โดยลาตติมอร์อธิบายถึงเหตุผลที่เธอทำแบบนี้ก็เพราะว่า
3
“เด็กๆ ที่อยู่ในห้องส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ด้านการเงินที่ดีสักเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นฉันเลยรู้สึกว่าพวกเขาไม่เด็กเกินไปที่จะเรียนรู้เรื่องการจัดการเงิน วิธีการใช้เงิน และอยากใช้เงินไปกับอะไร”
8
อย่างที่เราทราบกันดีว่าความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากและอันที่จริงเด็กๆ ก็อยากเรียนรู้เรื่องการเงินมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย
2
ยกตัวอย่างการไปสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา (กฎเกณฑ์ในโรงเรียน การเรียนการสอน ครู วิชาที่เรียน สิ่งที่อยากให้เปลี่ยน ฯลฯ) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1,985 คน ในช่วงวันที่ 9 – 11 มกราคม 2567 พบว่า วิชาที่อยากให้มีที่สุดอันดับแรกคือ วิชาการเงิน การลงทุน มากเกือบ 40% เลยทีเดียว
ลาตติมอร์ให้สัมภาษณ์กับ NBC ว่าบทเรียนเหล่านี้ช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและสอนพวกเขาให้เห็นคุณค่าของเงิน การทำงานหนักของพ่อแม่และผู้ปกครอง การใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่อยากได้ ในสภาพแวดล้อมที่ ‘ปลอดภัย’
2
คุณแม่ของเด็กคนหนึ่งออกมาชื่นชมการสอนของลาตติมอร์ว่าลูกสาวของเธอได้เรียนรู้เยอะมากๆ การบริหารเงินเป็นบทเรียนที่มีค่าจริงๆ “ลูกของฉันเคยคิดว่าเงินงอกจากต้นไม้และจะใช้มันยังไงก็ได้”
2
ส่วนตัวคุณครูเองก็ถือว่าได้ผลพลอยได้ไปด้วยเลย เพราะบทเรียนเหล่านี้ถูกพูดถึงเยอะมากๆ กลายเป็นไวรัลออนไลน์และมีคนตามเธอมากกว่า 870,000 คนบน TikTok นอกจากนั้นแล้วก็ยังได้ร่วมงานสร้างคอนเทนต์กับแบรนด์อื่นๆ ด้วยและได้เงินมากกว่าเงินเดือนค่าจ้างการเป็นครูซะอีก
1
เราสามารถปลูกฝังนิสัยการเงินที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ ก็เหมือนอย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวเอาไว้ว่า
2
“มันไม่เคยเร็วเกินไป [ในการสอนเรื่องเงินให้เด็ก] ไม่ว่าจะเป็นการสอนเด็กๆ ถึงคุณค่าของเงินหนึ่งดอลลาร์ ความแตกต่างระหว่างของที่จำเป็นและของที่อยากได้ หรือคุณค่าของการออม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวคิดที่เด็กๆ พบเจอตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นควรช่วยให้พวกเขาเข้าใจดีที่สุด”
6
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
1
#News #การเงิน #สอนเด็กเรื่องเงิน #การเงินส่วนบุคคล #ระบบการเงิน #บริหารเงิน
โฆษณา