9 มี.ค. เวลา 05:45 • สุขภาพ

"ฝุ่น PM 2.5" ทำคนไทยป่วยพุ่ง 10.5 ล้านคน ในปี 2566

คนไทยป่วยจาก “PM 2.5” ในปี 2566 พุ่งถึง 10.5 ล้านคน และตั้งแต่ต้นปี 2567 พบแล้ว 9.1 แสน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผย “รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2566” โดยมีเรื่องสุขภาพและการเจ็บป่วยที่น่าให้ความสนใจพบว่า หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน (2565) นอกเหนือจากโรคไข้หวัดใหญ่ ปัญหาสุขภาพจิต และโรคมะเร็งเต้านมที่ยังคงพบมากในผู้หญิงไทย ยังมีผลกระทบจาก “ฝุ่น PM 2.5” ต่อสุขภาพของประชาชนด้วย
ฝุ่น PM 2.5
เรื่องผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน ยิ่งเป็นที่น่าจับตามอง หลังการเสียชีวิต “หมอกฤตไท” หรือ “พ.ต.ต.รุ่งคุณ จันทโชติ” ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน เพราะทั้งคู่ไม่พบประวัติสูบบุหรี่ เป็นคนออกกำลังกาย แต่กลับป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทำให้อดคิดไม่ได้เลยว่าปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคร้ายนี้
คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศถึง 10.5 ล้าน ในปี 2566
แต่ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไรบ้างนั้น จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มีจำนวน 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 36 ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งพบมากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ กรุงเทพมหานคร
“หลอดลมอักเสบ-มะเร็งปอด-หลอดเลือดสมอง” 3 โรคสำคัญจากฝุ่น PM 2.5
เมื่อพิจารณาเป็นรายโรคสำคัญจากฝุ่นละออง PM 2.5 และรายจังหวัด ในปี 2566 พบว่า โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 39.1 โดยพบผู้ป่วยมากสุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา รองลงมาเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงทพมหานคร และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยพบมากสุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป
ตั้งแต่ต้นปี 2567 ฝุ่นทำคนไทยป่วยพุ่งแล้ว 9.1 แสน
สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศแล้ว 9.1 แสนราย โดยภาคเหนือพบผู้ป่วยสูงกว่าพื้นที่อื่น
จำนวยผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศ ปี 2555 และ ปี 2566
ดังนั้นปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่น
ทั้งนี้ การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีแนวทางการแก้ไขที่สำคัญ คือ
1) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อห้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 2) การควบคุมปริมาณการปล่อยสารมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม
3) กรลดการเผาหญ้าหรือขยะมูลฝอยในที่โล่ง
4) การส่งเสริมให้เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ ยังต้องสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน จะเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา