12 มี.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

ไอน์สไตน์ตอบพ่อคนหนึ่งผู้สูญเสียลูก

เมื่อวานเล่าถึงว่า ในปี 1950 หลังจากที่พ่อคนหนึ่งสูญเสียบุตรชายอายุน้อย เขาเขียนจดหมายถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการกับชีวิต
ไอน์สไตน์ก็เขียนตอบพ่อคนนั้นไป ต่อมาตีพิมพ์ใน The New York Times และ The New York Post ในปี 1972
วันนี้จะต่อเรื่องคำตอบของไอน์สไตน์ ค่อนข้างยากนิด แต่ค่อยๆ อ่าน อาจเข้าใจได้ว่าไอน์สไตน์ต้องบอกอะไร
ไอน์สไตน์เขียนตอบพ่อคนนั้นว่า “มนุษย์คนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งรวมที่เราเรียกว่า ‘จักรวาล’ เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกจำกัดด้วยเวลาและที่ว่าง เขารับรู้ตัวตนของเขา ความคิด และความรู้สึกของเขา ว่าเป็นบางสิ่งที่แยกออกมาจากส่วนที่เหลือ เหมือนภาพลวงตาแห่งสติสัมปชัญญะ สิ่งลวงตานี้เป็นเหมือนคุกของเรา จำกัดเราอยู่ภายในความต้องการส่วนตัวและความรู้สึกของเราต่อคนไม่กี่คนที่ใกล้ชิดเรา...
"หน้าที่ของเราจะต้องปลดปล่อยตัวเราเป็นอิสระจากคุกนี้ โดยขยายขอบเขตของวงแห่งความเมตตาต่อสรรพชีวิตและธรรมชาติทั้งมวลในความงามของมัน ไม่มีใครสามารถกระทำเรื่องนี้ได้ครบถ้วน แต่การมุ่งหาเป้าหมายนี้ในตัวมันเองคือส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยและรากฐานของความมั่นคงภายใน”
1
ไอน์สไตน์คล้ายจะบอกว่า ประสบการณ์ความเป็นมนุษย์อาจจะกว้างกว่าแค่ตัวเราเอง
โลกรู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่ง แต่ไอน์สไตน์ก็มีมุมมองด้านปรัชญาและชีวิตที่ลุ่มลึกเช่นกัน เมื่อรวมกับความรู้เรื่องจักรวาลของเขา ก็เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ และบางส่วนคล้าย ๆ พุทธ
1
ในมุมมองของไอน์สไตน์ น่าจะมองเรื่องนี้ในประเด็น ‘ประสบการณ์การเป็นมนุษย์’ ซึ่งเป็นท่อนหนึ่งของภาพรวมชีวิตทั้งหมดในจักรวาล
ชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปของชีวิต
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักย่อมเป็นทุกข์ แต่ความตายเป็นเพียงการแปลงสภาพของเรา เป็นธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้นเอง
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเกิดความผูกพันกับสิ่งที่รักจนไม่ยอมปล่อยเมื่อสิ่งนั้นหมดสิ้นวาระชีวิตบนโลกไป แต่หากเราไม่ฝึกทำความเข้าใจและเตรียมใจรับ ความตายของคนที่เราผูกพันก็จะเป็นเรื่องหนักทับถมจิตใจ และเมื่อเราทุกข์มาก ๆ ก็อาจแสวงหายาวิเศษมาแก้ปัญหานี้
2
การพลัดพรากย่อมเจ็บปวด แต่หากเรารองรับด้วยความเข้าใจ มันก็อาจบรรเทาหรืออย่างน้อยระยะเวลาของความเจ็บปวดก็สั้นลง
ถ้าไม่เข้าใจสัจธรรมนี้ ก็ยากทำใจ เมื่อไม่ยอมปล่อย ก็จมในความทุกข์
1
การปล่อยเป็นหัวใจของแนวคิดทางพุทธ แต่เป็นเรื่องยากมาก
การสูญเสียคนรักเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่การไม่ยอมรับความจริงมีแต่ยืดให้ความเจ็บปวดยาวนานออกไป
ท่อนหนึ่งจาก กอดหนาม หนังสือกำลังใจเล่มใหม่ / วินทร์ เลียววาริณ
ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษ ชุด 3 เล่มใหม่
โฆษณา