15 มี.ค. เวลา 13:05 • ข่าวรอบโลก

ไทยเทียบไม่ติด ! UN จัดสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดใน ASEAN

ข้อมูลปีล่าสุดของสหประชาชาติ (UN) ได้จัดให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดใน ASEAN และถือว่าดีเป็นอันดับ 9 ของโลก (ในเอเชียมีแค่ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่ติด Top 10) ตามการจัดอันดับของดัชนีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (Human Development Index) ซึ่งใช้เกณฑ์ทางสังคม อาทิ อายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากร (life expectancy) การเข้าถึงระบบการศึกษา และผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GNP) มาเป็นตัวชี้วัดหลัก
ตัวอย่างคะแนนของสิงคโปร์คือ อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 84 ปี อัตราการเข้าถึงการศึกษาอยู่ที่ 16.9 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเกือบ 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยของโลกตอนนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ปีกว่าๆ) ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เยาวชนจะเข้าถึงและอยู่ในระบบการศึกษาได้ถึง 16-20 ปี สำหรับของไทยน่าจะอยู่ที่ใกล้ๆ 11-12 ปี ไล่ๆกับของอินเดีย ถามว่าของไทยขี้เหร่ไหม? ดูในกราฟที่เอามาแปะให้ก็บอกตรงๆว่าไม่แย่เท่าไร
ถ้าดูตามเส้นที่มาร์คไว้ให้จะเห็นว่าคะแนนของประเทศไทยยังอยู่เหนือกว่าระดับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก UN ทั้ง 194 ประเทศที่เขาไปสำรวจมาก ถึงแม้ว่าจะยังเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งเป็น Top 10 ของโลกไม่ติด แต่เราก็ยังถือว่าห่างจากเพื่อนๆรอบบ้านใน ASEAN เยอะอยู่ อย่างของพม่า กัมพูชาและลาวนั้นจะเห็นได้ว่าอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไปค่อนข้างไกล ตอนนี้เหมือนว่าเพื่อนบ้านที่คะแนนไล่เลี่ยๆกับไทยจะมีมาเลเซียกับเวียดนามครับที่คะแนนวิ่งสูสีกันช่วงปีก่อนๆนี้
เพราะรายได้ของเวียดนามเขาพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาเยอะ หลังจากมีการเซ็น FTA ไปหลายฉบับ แล้วพาบริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนตั้งโรงงาน เศรษฐกิจเขาก็ค่อยๆเติบโตเรื่อยมา รายได้เฉลี่ยของใกล้ไทยมากแล้ว 10,000-12,000 บาท/เดือน ย้อนมามองไทยยังแทบจะไม่พ้น 13,000-14,000 บาท/เดือนเลยในหลายๆจังหวัด
ประเด็นนี้สถิติที่ออกมานี้ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าไรสำหรับภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะในทางสถิติหลังยุค COVID มา สถานการณ์คุณภาพชีวิตมันก็แย่ลงทั่วโลกนั้นแหละ ยุโรปคนก็ยากจนลง เพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย ฝั่งตะวันออกกลาง-แอฟริกาก็เจอภัยรัฐประหารหลายประเทศ เอเชียก็เจอพิษเศรษฐกิจ จีนมีปัญหาภายในจนแบกภาคส่งออกให้ประเทศเล็กประเทศน้อยที่พึ่งพาเม็ดเงินจากจีนไม่ไหว
ถ้าใครคิดว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้แย่แล้วในเชิงสถิติ ให้พึงระลึกไว้ว่าของจริงอาจจะแย่กว่าที่ตัวเลขใน The Economist หรือ UN เอามากางให้ดูก็ได้ เพราะดัชนีที่ UN เอามาใช้ประเมินคุณภาพชีวิตคนทั่วโลกมันขาดตัวชี้วัดด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งถ้ามันมีตัวชี้วัดแบบนั้นเข้ามารวมจริงๆ คะแนนของหลายๆประเทศรวมถึงในยุโรปอาจจะไม่ได้ออกมาสวยงามขนาดนี้ก็ได้
และตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาช่องว่างของระดับคุณภาพชีวิตในประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน/ด้อยพัฒนา ก็ถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าหลังผ่านยุค COVID มาได้ 3-4 ปี ประเทศร่ำรวย เช่น แก๊ง OECD ส่วนมากก็ฟื้นตัวได้แล้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มประเทศยากจนอีกกว่าครึ่งหนึ่งของโลกที่นอกจากจะยังไม่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้วยังยากจนลงกว่าเดิมอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ไม่ได้อยู่แก๊งน้ำมัน OPEC
Source: The Economist, UNDP, World Bank, CNBC
credit ภาพจาก The Economist
โฆษณา