18 มี.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

จีนเป็นประเทศที่ผลิตงานวิจัยไร้คุณภาพและปลอมแปลงงานวิจัยมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก

เรื่องมหาวิทยาลัยจีนพยายามปั่นสถิติการตีพิมพ์งานวิจัยนี้ผมได้ยินมานาน 3-4 ปีแล้ว จากเพื่อนๆที่ทำงานอยู่ในจีน เพราะสังคมในแวดวงวิชาการจีนนั้นค่อนข้างโหด แข่งขันกันสูง นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องแข่งกันตีพิมพ์เปเปอร์กันปีละไม่ต่ำกว่า 10-20 ชิ้น บางคนขยันหน่อยก็ทำกัน 30-40 ฉบับ (ส่วนมากพวกที่มีผลงานวิจัยเยอะๆแบบนี้ ไม่ได้ทำเองหรอก เอาชื่อไปแปะกับนักศึกษา ป.เอกที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษางานให้ทั้งนั้น)
2
อย่างในกรณีที่ The Economist เอามาลงเมื่อฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ก็มีเคสนึงจาก Huazhong Agricultural University ที่อู่ฮั่น นักศึกษารวมตัวกันออกมาแฉอาจารย์ที่คุมวิทยานิพนธ์ว่าปลอมแปลงข้อมูล เอาผลการวิจัยแบบเท็จๆมาแอบอ้างในงานวิจัย แถมยังกดดันให้นักศึกษาที่ตัวเองดูแลอยู่ทำวิจัยปลอมๆตามตัวเองอีก เพื่อที่จะได้เอางานวิจัยไปตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย สุดท้ายมหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสอบสวนแล้วก็ไล่ออกไปตามเรื่อง
2
แต่ประเด็นคือมันไม่จบแค่นั้น เรื่องที่เกิดในอู่ฮั่นนี้เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่จีนมีข่าวเกี่ยวกับการปลอมแปลงผลงานวิจัยในสายวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ลองค้น Google ด้วยคำว่า "Scientific fraud in China" น่าจะเจอกรณีตัวอย่างเยอะอยู่ ต้นตอของปัญหาคือรัฐบาลจีน และหน่วยงานด้านการศึกษาของจีนนั้นพยายามผลักดันให้จีนกลายเป็นผู้นำโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เลยมีการเอาเงินทุนสนับสนุนวิจัย และเงินรางวัลมาอัดฉีดให้นักวิชาการที่ตีพิมพ์ผลงานสร้างชื่อให้มหาวิทยาลัย สร้างชื่อให้เป็นประเทศ (เงินที่รัฐบาลจีนอัดฉีดให้นักวิชาการอาจมากถึงคนละเกือบ 6 ล้านบาท) ใครตีพิมพ์วารสารลงในต่างประเทศ มีผลงานวิจัยไปดังในยุโรป-อเมริกา ยิ่งได้รับการตอบแทนดีขึ้น ได้เลื่อนขั้น ฯลฯ คือพูดง่ายๆเน้นปริมาณเป็นหลัก จนกระทั่งปี 2017 เป็นต้นมา นั้นจีนกลายเป็นประเทศที่ตีพิมพ์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลายปี
อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงที่ได้มาจากการเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพนี้ก็อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะจากการสำรวจของวารสารวิชาการ Nature พบว่า จีนเป็นประเทศที่มีนักวิชาการ/นักวิจัยถูกถอดถอนบทความวิชาการหรืองานวิจัยออกจากวารสาร (retraction rate) มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และรัสเซีย ตีเป็นสถิติง่ายๆคือ 46% ของบทความวิจัยไร้คุณภาพจำนวนกว่า 50,000 ชิ้น ที่ถูกถอดถอนออกจากวารสารวิชาการในฐาน Scopus ทั่วโลกนั้น เป็นบทความที่มาจากประเทศจีน
3
งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นที่จีนผลิตออกมาในห้วงหลายปีมานี้ก็ถูกพบว่าลอกเนื้อหาของคนอื่นมาแล้วเปลี่ยนแปลงรายละเอียด หรือไม่ก็ปลอมแปลงผลการวิจัยขึ้นมาทั้งนั้น จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นข่าวปลอมที่ฝั่งตะวันตกสร้างขึ้นมาก็ไม่ได้นะ รัฐบาลจีนเองก็เคยออกมายอมรับแบบอ้อมๆว่ามหาวิทยาลัยจีนผลิตงานวิจัยปลอมออกมาเยอะจริงๆ และได้มีการสั่งให้นักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยที่ถูกจับได้ว่าปลอมผลงานนั้นจ่ายค่าปรับ และแบนจากการเขียนโครงการขอทุนวิจัยภาครัฐไปบ้างแล้วไม่ต่ำกว่า 200-300 เคส
5
เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากังวลนะ ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของ Generative AI อีก ในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมานี้ก็เริ่มมีข่าวนักวิชาการใช้ ChatGPT ทำวิจัยให้แล้วก็ผ่านตาหลุดได้รับการตีพิมพ์ไปสู่สาธารณะหลายฉบับด้วย ต่อไปมาตรการคัดกรองคงต้องเข้มข้นขึ้น ไม่งั้นจะเต็มไปด้วยงานวิจัยปลอมๆเต็มวงวิชาการ โดยเฉพาะกับสายวิทยาศาสตร์และสายสุขภาพนั้นจะอันตรายมากเป็นพิเศษ
Source: The Economist, MIT Technology Review, Financial Times, Nature
credit ภาพจาก The Economist
โฆษณา