21 มี.ค. เวลา 11:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ถนนพระรามที่ 3 เกือบได้เป็นย่านเศรษฐกิจ แต่สะดุดเพราะต้มยำกุ้ง

รู้หรือไม่ว่าในอดีต ถนนพระรามที่ 3 ถูกตั้งเป้าให้เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อรองรับความเจริญ ต่อจากย่านสีลมที่เริ่มแออัดคับคั่ง
และมีศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 3 ที่เข้ามาปักหมุดเพื่อเตรียมรับการเติบโตที่กำลังจะมาถึง
แต่สุดท้าย ผลจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้อาคารห้างร้านจำนวนมากที่อยู่บนถนนพระรามที่ 3 ต้องหยุดการพัฒนา
รวมถึงแผนการที่จะปั้นให้ถนนพระรามที่ 3 กลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ก็ต้องหยุดไว้เช่นกัน
ผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เปลี่ยนแปลงถนนพระรามที่ 3 ไปอย่างไร
และย่านพระราม 3 ในปัจจุบัน เป็นแบบไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถนนพระรามที่ 3 เป็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสายหนึ่ง โดยมีจุดเริ่มต้นจากเชิงสะพานกรุงเทพ ฝั่งพระนคร เลียบขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา และสิ้นสุดที่แยก ณ ระนอง เขตคลองเตย
โดยจุดเด่นหนึ่ง ของถนนพระรามที่ 3 ก็คือ ทำเลที่ตั้ง ที่อยู่ไม่ห่างจากย่านธุรกิจสำคัญหลายแห่ง เช่น สีลม สาทร หรือถนนเศรษฐกิจอย่างสุขุมวิท และถนนพระรามที่ 4
รวมถึงมีระบบทางพิเศษหลัก อย่างทางพิเศษเฉลิมมหานครพาดผ่าน
ซึ่งแต่เดิมถนนพระรามที่ 3 เป็นเพียงย่านชุมชนที่อยู่อาศัย และที่ดินว่างเปล่า ที่ยังไม่มีการพัฒนาอะไรมากนัก
จนในช่วงปี 2535 เศรษฐกิจไทยเติบโตจากนโยบายการเปิดเสรีทางการเงิน และทำให้บริษัทข้ามชาติ เข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก
ทำให้ย่านเศรษฐกิจอย่างสีลม มีความแออัดสูง และมีการจราจรที่ติดขัด
ด้วยทำเลของถนนพระรามที่ 3 ที่อยู่ใกล้ย่านธุรกิจ ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้น พยายามจะพัฒนาถนนพระรามที่ 3 เพื่อรองรับการเติบโต และปั้นพระราม 3 ให้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ต่อจากสีลม
โดยรัฐบาลได้มีการเชิญชวนบริษัทเอกชน ให้มาลงทุนสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ บนถนนพระรามที่ 3 มากมาย
ทั้งในรูปแบบอาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า และที่อยู่อาศัย
ส่งผลให้ราคาที่ดินของถนนพระรามที่ 3 ในตอนนั้น สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
3
ซึ่งตัวอย่างโครงการของบริษัทเอกชน ที่มีการลงทุนในย่านพระราม 3 ในช่วงนั้นก็คือ เซ็นทรัล พระราม 3 ที่บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
การปักหมุดของบรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ บนถนนพระรามที่ 3 ทำให้ย่านนี้ ดูเหมือนจะได้เป็นดาวรุ่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
แต่แล้วทุกอย่างก็มาสะดุด.. เมื่อประเทศไทยเจอเข้ากับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540
ที่นอกจากจะทำให้บริษัทหลายแห่งต้องล้มละลายแล้ว ยังทำให้หลาย ๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ รวมถึงในย่านพระราม 3 ซึ่งกำลังถูกปั้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ต้องหยุดชะงักไปด้วย
โดยราคาที่ดินในย่านพระราม 3 เคยถูกซื้อขายกัน สูงถึง 150,000 บาทต่อตารางวา ได้ตกลงอย่างรวดเร็ว เหลือต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางวา
ทำให้ย่านพระราม 3 ที่เกือบได้เป็นดาวรุ่ง กลายเป็นดาวดับ ไปโดยปริยาย..
และไม่ได้เป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
แล้วตอนนี้ย่านพระราม 3 เป็นอย่างไรบ้าง ?
หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งจบลง โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ก็มุ่งเน้นไปเปิดโครงการในพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านแทน
แต่ด้วยจุดแข็งสำคัญของถนนพระรามที่ 3 อย่างทำเลที่ตั้ง ที่อยู่ไม่ห่างจากย่านธุรกิจ
ทำให้บางบริษัท ยังคงเลือกถนนพระรามที่ 3 เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของตน เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างศุภาลัย
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายราย ก็เลือกมาตั้งโครงการที่อยู่อาศัยบนถนนพระรามที่ 3 เพราะมองว่า แม้จะอยู่ใกล้กับย่านกลางเมือง แต่พระราม 3 ยังไม่หนาแน่น และที่ดินยังคงมีราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับโซนอื่น ๆ
ประกอบกับการที่ภาครัฐ มีการพัฒนาระบบขนส่งใหม่ ๆ เข้าสู่พื้นที่ เช่น รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT รวมถึงวงแหวนอุตสาหกรรม หรือที่รู้จักในชื่อสะพานภูมิพล
ทำให้ย่านพระราม 3 เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จนในวันนี้ ซากตึกรกร้างที่หลงเหลือจากวิกฤติต้มยำกุ้ง บนถนนพระรามที่ 3 ก็แทบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้ว
โดยถูกแทนที่ด้วยหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน รวมถึงศูนย์การค้าใหม่ ๆ อย่าง Terminal 21 แทน..
และในตอนนี้ ถนนพระรามที่ 3 ก็ได้กลายเป็นจุดสนใจอีกครั้ง เนื่องจากภาครัฐมีแผนพัฒนาระบบขนส่งขนาดใหญ่ถึง 2 โครงการ ได้แก่
1
- โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเชื่อมย่านพระราม 3 ไปยังถนนพระรามที่ 2 และสิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก
1
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โดยจะเริ่มตั้งแต่ย่านพระโขนง ถนนสุขุมวิท ผ่านถนนพระรามที่ 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งโครงการนี้ ถูกมองว่าจะมาทดแทน BRT ในอนาคต
5
หรือก็คือ ถนนพระรามที่ 3 จากย่านที่เคยหกล้มในวันวาน แต่ด้วยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ก็ลุกขึ้นมาได้ และวันนี้เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
แต่ในอนาคต จะสามารถกลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ตามที่เคยวาดภาพไว้ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป..
1
โฆษณา