26 มี.ค. เวลา 00:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

หลอดสุญญากาศยักษ์สู่นาโนเมตร จากลอจิกเกตสู่พลังงานขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI

เราคงจำภาพหลอดสุญญากาศยักษ์ที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคโบราณกันได้ แต่น่าสนใจว่าเวลามันได้แปรเปลี่ยนเพียงไม่กี่สิบปี แต่ขนาดของชิปมันเข้าสู่ระดับนาโนเมตรกันแล้ว และยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาให้มันเล็กลงไปอีก
ในช่วงทศวรรษ 1940 มีพื้นที่ลับสุดยอดของสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษคือ Bletchley Park ที่นั่นเหล่านักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เริ่มตระหนักถึงคอมพิวเตอร์ที่แท้จริงเป็นครั้งแรก
ในการแข่งขันเพื่อทำการ Crack รหัสลับที่เยอรมนีประกาศกร้าวว่าไม่มีใครในโลกที่จะแก้สุดยอดโค้ดลับของพวกเขาได้นั่นก็คือเครื่อง “Enigma”
ทีมงานที่ Bletchley Park ที่นำโดย Alan Turing ได้คิดค้นเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อช่วยในการถอดรหัสเครื่อง Enigma ได้สำเร็จ และพัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่อง Colossus ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แบบดิจิทัลที่สามารถตั้งโปรแกรมได้เครื่องแรกของโลก
ภายในปี 1945 อุปกรณ์ที่เป็นรากฐานสำคัญของคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า ENIAC ที่ออกแบบโดย John Mauchly และ J.Presper Eckert โดยเป็นเครื่องจักรขนาดยักษ์สูง 8 ฟุต ประกอบด้วยหลอดสุญญากาศ 17,500 หลอด ไดโอด 7,200 หลอด และสายไฟยาวหลายไมล์ ใช้พื้นที่กว่า 1,8000 ตารางฟุต สามารถทำการคำนวณได้ 300 คำสั่งต่อวินาทีได้รับการพัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
1
Bell Labs ได้ทำสิ่งที่เรียกได้ว่าก้าวไปอีกขั้นในปี 1947 สิ่ง ๆ นั้นคือทราสซิสเตอร์ ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำที่สร้าง “Logic Gates” เพื่อใช้ในการคำนวณซึ่งเป็นรากฐานให้กับยุคดิจิทัล
เหล่าผู้สังเกตการณ์ในยุคนั้นไม่คิดว่าการคำนวณมันจะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ยังมีอุปกรณ์ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นบนโลก
ในช่วงต้นทศวรรษนั้น Thomas J. Watson ประธานของ IBM ได้กล่าวไว้ว่า “ผมคิดว่าคงมีตลาดคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเพียงประมาณ 5 เครื่อง”
นิตยสาร Popular Mechanics ได้คาดการณ์ในปี 1949 ไว้ว่า “ในอนาคต คอมพิวเตอร์อาจมีหลอดสุญญากาศเพียง 1,000 หลอด และ น่าจะมีน้ำหนักเพียงประมาณ 1.5 ตัน” ซึ่งราว ๆ หนึ่งทศวรรษหลังจากนั้นยังคงมีคอมพิวเตอร์เพียงหลักร้อยเครื่องทั่วโลก
แต่การคำนวณได้เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็วเกิดกว่าที่ใครจะคาดเดา และแพร่กระจายเกินกว่าที่สิ่งประดิษฐ์ใดในประวัติศาสตร์มนุษย์จะทำได้
Robert Noyce ได้คิดค้นแผงวงจรรวมในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และในช่วงทศวรรษ 1960 ที่ Fairchild Semiconductor มีการสร้างแผงวงจรที่มีทราสซิสเตอร์จำนวนมากบนแผ่นซิลิกอน เพื่อผลิตสิ่งที่เรียกว่า “ชิป”
4
หลังจากนั้นไม่นาน Gordon Moore ได้ได้นำเสนอ “Moore Law” ว่า ในทุก ๆ 24 เดือน จำนวนทราสซิสเตอร์บนชิปจะเพิ่มเป็นสองเท่า นั่นหมายความว่าโลกของเทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณจะได้เติบโตแบบ Exponential
ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 จำนวนทราสซิสเตอร์ต่อชิปได้เพิ่มขึ้นสิบล้านเท่าและให้พลังการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น 17,000 ล้านเท่า ในปี 1958 Fairchild Semiconductor ขายทรานซิสเตอร์ 100 ตัวในราคา 150 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันทรานซิสเตอร์ถูกผลิตขึ้นมานับพันล้านตัวต่อทุกวินาที ในราคาเพียงแค่เศษสตางค์
แน่นอนว่าความก้าวหน้าในพลังการคำนวณเช่นนี้มาจากการเกิดขึ้นของอุปกรณ์ใหม่ ๆ แอปพลิเคชันใหม่ ๆ และจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีคอมพิวเตอร์ทั่วโลกประมาณห้าแสนเครื่อง และในปี 1983 มีคอมพิวเตอร์เพียง 562 เครื่องทั่วโลกเท่านั้นที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ปัจจุบันจำนวนคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ มีอยู่ 14 พันล้านเครื่อง ซึ่งสมาร์ทโฟนใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ สำหรับเหล่านักธุรกิจไปสู่สิ่งของจำเป็นสำหรับประชากรสองในสามของโลก
มันได้เกิดอีเมล โซเชียลมีเดีย วีดีโอสตรีมมิ่ง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นประสบการณ์ใหม่ของมนุษย์โลกแทบจะทั้งสิ้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตมาพร้อมกับข้อมูล ที่เพิ่มขึ้น 20 เท่าในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2020 ในยุคก่อนหน้านั้นเพียงไม่นานมนุษย์จัดเก็บข้อมูลจำกัดอยู่แค่ในหนังสือและหอจดหมายเหตุเพียงเท่านั้น
แต่ตอนนี้มนุษย์สร้างอีเมล ข้อความ รูปภาพและวีดีโอนับหมื่นล้านชิ้นในทุก ๆ วัน และจัดเก็บไว้ในคลาวด์ โดยทุก ๆ นาทีของทุกวันจะมีข้อมูล 18 ล้านกิกะไบต์ถูกเสกขึ้นบนโลก
3
มนุษย์ใช้เวลานับพันล้านชั่วโมงในการบริโภคเทคโนโลยีเหล่านี้ และพวกมันได้เข้ามาครอบงำทั้งเรื่องงาน ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งเวลาพักผ่อนของเรา โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งแรกที่เราเห็นในตอนเช้าและเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะสัมผัสมันก่อนนอน
หากย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากมีคนในยุคนั้นมาเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเขาคงตกตะลึงกับความบ้าคลั่งในการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ที่คนในยุคนั้นอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงเทคโนโลยีสำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
โลกเราได้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจริง ๆ ก็ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ที่ยุคก่อนหน้านับพันนับหมื่นปีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างที่เราเห็นในยุคหลังสงครามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งเหล่านี้มันกำลังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมกับเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่อย่าง AI ซึ่งเราคงไม่สามารถจินตนาการภาพโลกในอนาคตในอีกเพียงแค่ 20-30 ปีที่จะถึง มันคงนึกภาพไม่ออกเลยจริง ๆ
3
References :
หนังสือ The Coming Wave : Technology, Power, and the Twenty-first Century’s Greatest Dilemma โดย Mustafa Suleyman
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
The original article appeared here https://www.tharadhol.com/from-vacuum-to-nanometer/
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา