8 เม.ย. เวลา 15:59 • สุขภาพ

ใกล้สงกรานต์แล้ว ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือนอย่างไร

สำหรับใครที่มีแพลนเที่ยวช่วงสงกรานต์ แต่กังวลว่าอาจจะต้องถูกขัดขวางความสนุกจากรอบเดือนที่อาจมาชนกับช่วงสงกรานต์พอดี ขอให้บทความนี้เป็นข้อมูลที่ช่วยตัดสินและประกอบการใช้ยา เพื่อให้ท่านใช้ยาเลื่อนประจำเดือนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และใช้ช่วงเวลาวันหยุดยาวสงกรานต์นี้อย่างคุ้มค่าที่สุดครับ
ยาเลื่อนประจำเดือน เป็นยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญคือ นอร์เอทีสเตอโรน
(Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม เป็นฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์มีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน จนกว่าจะหยุดยา จึงมีข้อบ่งใช้ในการเลื่อนประจำเดือน
นอร์อิทิสเตอโรนเป็นยาที่สังเคราะห์ขึ้น มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน (progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีอยู่ในร่างกายฮอร์โมนตัวนี้ ทำหน้าที่ควบคุมการหนาตัวของเยื่อบุมดลูก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ตัวอ่อนฝังตัว
โดยทั่วไปถ้าไม่ได้เกิดการผสมระหว่างไข่และอสุจิ ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน ก็จะลดลงในวันที่ 28 ของรอบประจำเดือน มีการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก ทำให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน การคงระดับของฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนให้อยู่ในระดับสูงตลอดด้วยการรับประทานยานอร์อิทิสเตอโรน จะทำให้เยื่อบุมดลูกไม่เกิดการหลุดลอก ทำให้สามารถเลื่อนประจำเดือนออกไปได้
การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนเหมาะสำหรับใช้ในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตรงกันในแต่ละเดือน ควรเริ่มรับประทนยาเลื่อนประจำเดือนอย่างน้อย 3 วันล่วงหน้าก่อนวันที่คาดว่าจะเป็นวันแรกของประจำเดือน รับประทนยาเลื่อนประจำเดือนครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร และรับประทานยาต่อเนื่องต่อไป จนกว่าจะต้องการให้มีประจำเดือนเมื่อใด ก็หยุดรับประทานยา
เมื่อหยุดรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนแล้ว 2-3 วัน ประจำเดือนก็จะมา ไม่ควรรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนติดต่อกันนานเกินกว่า 14 วัน หากลืมรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนในช่วงที่ยังต้องการเลื่อนประจำเดือน แนะนำให้รับประทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ และรับประทานต่อในมื้อถัดไปตามปกติ หากลืมรับประทานยาติดต่อกันแม้เพียง 2 มื้อ ระดับของฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง เป็นผลให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนได้
อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดได้จากยาเลื่อนประจำเดือน ได้แก่ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาจเกิดการบวมจากการคั่งของน้ำได้ในผู้ป่วยบางราย นอกจากนี้หากพบอาการแพ้ยา เช่น ปากบวม ตาบวม หรือผื่นคันตามผิวหนัง ควรหยุดรับประทนยาแล้วไปพบแพทย์
การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนในขณะที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งแสดงว่าเกิดการหลุดลอกของผนังมดลูกแล้ว อาจทำให้ประจำเดือนที่มาแล้วมีปริมาณลดลงและจำนวนวันของการมีประจำเดือนสั้นลงได้
หากมีเพศสัมพันธ์ขณะใช้ยาเลื่อนประจำเดือน แม้จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยเนื่องจากเป็นช่วง 3 วันก่อนมีประจำเดือน(หากรับประทานถูกต้อง) แต่ควรได้รับการป้องกันจากวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ห้ามใช้ยาเลื่อนประจำเดือนในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกในครรภ์มีการพัฒนาอวัยวะเพศที่ผิดปกติได้ มารดาที่ให้นมบุตรก็ห้ามใช้ยาเลื่อนประจำเดือนเช่นกัน เนื่องจากยาสามารถปนออกมากับน้ำนมได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคตับขั้นรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน
กรณีรับประทนยาคุมกำเนิดเป็นประจำอยู่แล้ว หากต้องการเลื่อนประจำเดือนไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนเพิ่มเติมเข้าไปอีก สามารถที่จะปรับการรับประทานยาคุมกำเนิดที่รับประทานประจำเพื่อเลื่อนประจำเดือนได้
หากรับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด ที่มีปริมาณยาเท่ากันทุกเม็ด เมื่อรับประทานยาแผงเดิมจนหมดแล้ว ให้รับประทานยาแผงใหม่วันละ 1 เม็ดต่อไปทันที โดยไม่ต้องหยุด 7 วัน จนกระทั่งหมดแผงที่ 2 ให้หยุดยา 7 วัน ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงนี้
หากรับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด มีเม็ดยา 21 เม็ด และเป็นเม็ดแป้ง 7 เม็ด ให้ทิ้งเม็ดแป้ง 7 เม็ดที่เหลือไป และเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ต่อไปทันที โดยให้เริ่มรับประทานเม็ดที่เป็นตัวยาต่อ เมื่อรับประทานต่อเนื่องจนครบทั้ง 28 เม็ด ประจำเดือนจะมาในช่วง 7 เม็ดสุดท้ายที่เป็นเม็ดแป้ง
เมื่อหยุดรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนแล้ว 2-3 วัน ประจำเดือนก็จะมา แต่ถ้าหากหยุดรับประทานยาไปนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ประจำเดือนก็ยังไม่มา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ถูกต้องแม่นยำ การรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนบ่อยๆ อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรืออาจทำให้ประจำเดือนไม่มาเลยก็ได้ในบางราย หากมีภาวะดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์
อ้างอิง
โฆษณา