11 เม.ย. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มาเลเซีย จุดยุทธศาสตร์ใหม่ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่พบอยู่ในแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่สมาร์ทโฟนยันยานพาหนะ ก็เลยเป็นจุดศูนย์กลางของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน
1
หลังจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้เร่งให้หลายบริษัทคิดหาทางกระจายการดำเนินงาน มาเลเซียจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์แห่งใหม่สำหรับโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
🔴 ทำไมต้องเป็นมาเลเซีย?
แล้วแจ็คพอตก็มาลงที่มาเลเซีย เพราะเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานดี และยังมีประสบการณ์กว่า 5 ทศวรรษ ตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการประกอบ การทดสอบ และการแพ็กเกจชิป
มาเลเซียได้เปรียบมาโดยตลอดตรงที่มีแรงงานที่มีทักษะในด้านแพ็กเกจชิป การประกอบ การทดสอบ และมีต้นทุนการดำเนินงานที่ถูกกว่าประเทศอื่่นๆ ทำให้สามารถส่งออกและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในระดับโลก นอกจากนี้ ด้วยสถานะของสกุลเงินริงกิตในปัจจุบันทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
มาเลเซียครองส่วนแบ่งในตลาดแพ็กเกจชิป ประกอบ และทดสอบ ด้วยสัดส่วน 13%
บริษัทชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง Intel ก็ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปลายปี 2021 ว่าจะลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการแพ็กเกจชิปและทดสอบชิปในมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นการผลิตได้ในปี 2024 ทั้งนี้ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ทาง Intel ตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียก็เพราะมาเลเซียมีแรงงานที่มีศักยภาพหลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง
โรงงานผลิตแห่งแรกในต่างประเทศของ Intel คือโรงงานประกอบชิปในปีนังที่เปิดตัวในปี 1972 ด้วยเงินลงทุน 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทาง Intel ก็เดินหน้าเพิ่มศูนย์ทดสอบเต็มรูปแบบ รวมถึงเพิ่มศูนย์การพัฒนาและออกแบบในมาเลเซีย
นอกจากนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทชิปยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอีกรายคือ GlobalFoundries ก็ได้เปิดฮับอยู่ที่ปีนัง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานผลิตในระดับโลก ไปพร้อมๆ กับโรงงานใน สิงคโปร์ สหรัฐฯ และยุโรป
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ทางด้านผู้ผลิตชิปสัญชาติเยอรมันอย่าง Infineon ก็ประกาศว่าจะสร้าง wafer fabrication module แห่งที่สาม ในเมืองคูลิม ในขณะที่บริษัท Neways ซัพพลายเออร์หลักๆ ของบริษัทผลิตชิปสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ASML ก็ออกมาบอกเมื่อเดือนก่อนว่าจะสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในอำเภอกลัง มาเลเซีย
1
ในปี 2023 การส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมเพิ่มขึ้น 0.03% เป็น 387.45 พันล้านริงกิตมาเลเซีย (81.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ท่ามกลางความต้องการชิปทั่วโลกที่อ่อนแอ
🔴 ผู้ได้ประโยชน์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน
มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียจึงได้รับอานิสงค์จากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เช่นเดียวกับอินเดียและญี่ปุ่น ที่ได้ชักจูงให้ต่างชาติเข้ามาเปิดการดำเนินงานธุรกิจในท้องถิ่น เนื่องจากได้ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางชิปหลัก ควบคู่ไปกับสหรัฐฯ ไต้หวัน และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม มาเลเซียเองอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาสมองไหล เนื่องจากแรงงานในประเทศออกไปหางานที่ดีกว่า เงินเดือนที่สูงกว่า ในประเทศอื่่นๆ เพราะจากข้อมูลในปี 2022 เผยว่า 3 ใน 4 ของแรงงานมาเลเซียที่ไปทำงานในสิงคโปร์เป็นแรงงานทักษะ หรือแรงงานกึ่งทักษะ
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ทางรัฐบาลมาเลเซียเร่งทำตอนนี้ คือการพยายามหานโยบายดึงคนมาเลเซียกลับไปทำงานในประเทศให้ได้ เพื่อที่จะมีแรงงานมากพอ ตอบสนองกับความต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซียต่อไป
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference
โฆษณา