16 เม.ย. เวลา 11:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก “ฟีลิป ฟิชเชอร์” ต้นแบบนักลงทุน หุ้นเติบโต ที่เปลี่ยนชีวิต วอร์เรน บัฟเฟตต์

หากพูดถึงนักลงทุนระดับตำนานของโลก ชื่อของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ คงเป็นชื่อที่หลายคนนึกถึง
แต่รู้หรือไม่ว่า แนวคิดในการลงทุนของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ เอง
นอกจากคุณชาร์ลี มังเกอร์ แล้ว คุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ก็คืออีกคนที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ต่อแนวทางการลงทุนของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์
1
โดยคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นำแนวคิดของ “คุณฟีลิป ฟิชเชอร์” มาประยุกต์ใช้ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นนักลงทุนระดับตำนานที่เรารู้จักกันอย่างในวันนี้
แล้ว “คุณฟีลิป ฟิชเชอร์” คือใคร
ทำไมถึงเป็นผู้ที่คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คุณฟีลิป ฟิชเชอร์ เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1907 รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
และเขาก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
แต่หลังจากเรียนปริญญาโทไปได้เพียงปีเดียว
คุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ได้ตัดสินใจลาออก และเริ่มต้นเส้นทางอาชีพสายการเงิน ในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่ Crocker-Anglo National Bank ในปี 1928
คุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นานหลายปี จนมาในปี 1931 เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัท Fisher & Co. บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนของตัวเองขึ้นมา
โดยเขาได้บริหารบริษัทแห่งนี้ยาวนานหลายสิบปี ก่อนที่จะเกษียณตัวเองในวัย 91 ปี
ที่น่าสนใจคือ แนวทางในการลงทุนของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
จะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ในบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เขาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ อย่างบริษัทไฮเทค หรือบริษัทเทคโนโลยี แต่ก็ต้องมีระดับราคาที่สมเหตุสมผลด้วย
ซึ่งเขาจะเริ่มเข้าลงทุน ก่อนที่บริษัทจะได้รับความสนใจ จากนักลงทุนจำนวนมาก
แนวทางการลงทุนของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ จะให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” เป็นหลัก เช่น
- ความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน
- ความสามารถของผู้บริหาร
- ความแข็งแกร่งของแบรนด์
โดยหนึ่งในวิธีที่คุณฟีลิป ฟิชเชอร์ มักกล่าวถึง เกี่ยวกับการหาข้อมูลปัจจัยเชิงคุณภาพที่ว่านี้
เรียกว่า “Scuttlebutt” หรือคำซุบซิบนินทา เป็นวิธีการหาข้อมูลวงใน จากการตามแกะรอยกิจการ
โดยการแกะรอยในที่นี้ ไม่ใช่การใช้ข้อมูลวงใน ที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
แต่จะเป็นการเข้าไปสืบข้อมูล จากผู้บริโภค พนักงาน และคู่ค้าของบริษัท
หรือแม้แต่ไปตามหาข้อมูล จากบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทให้ลึกซึ้งขึ้น แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ ไปใช้ประกอบการดูงบการเงิน ติดตามข่าว หรือการฟังการรายงานจากผู้บริหาร เพื่อตัดสินใจลงทุนอีกที
หนึ่งในการลงทุนที่สร้างชื่อเสียงให้กับคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ก็คือ “การเข้าลงทุนในบริษัท Motorola” ในปี 1955 และเขาก็ได้ถือหุ้นนั้นไปตลอดชีวิต.. จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงเมื่อปี 2004
ในเวลานั้น บริษัท Motorola เป็นผู้ผลิตวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม ที่มีการเติบโตที่สูง
อย่างไรก็ตาม เขากลับมองว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นการเติบโตในระยะสั้น ที่เกิดจากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราว ที่ครอบครัวชาวอเมริกันกำลังเร่งตัวซื้อโทรทัศน์ ไม่ได้มาจากความต้องการทั่วไป และมันไม่ใช่การเติบโตในระยะยาว
2
แต่สิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจลงทุน กลับเป็นเพราะมูลค่าที่ซ่อนอยู่ในแผนกใหม่ของบริษัท Motorola ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมา เพื่อศึกษาธุรกิจใหม่เกี่ยวกับการสื่อสาร
เขามองว่า แผนกนี้แหละที่จะเป็นการต่อยอด จากความเชี่ยวชาญเดิมที่บริษัทมีอยู่แล้ว
มาสร้างการเติบโตอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว จนสุดท้ายจะกลายมาเป็นรายได้หลักของบริษัทในที่สุด
ก่อนที่ในเวลาต่อมา บริษัท Motorola จะก้าวมาเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมระดับโลก
ด้วยมุมมองการลงทุนของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ที่เฉียบคม ประกอบกับการอดทนรอให้บริษัทแสดงศักยภาพออกมา
ทำให้การลงทุนในบริษัท Motorola ตลอดชั่วชีวิตของเขา หรือเกือบ 50 ปี ก็ได้สร้างผลตอบแทนให้กับเขาอย่างมหาศาล จนเขาถูกยกย่องให้เป็นนักลงทุนระดับตำนาน และเป็นต้นแบบของใครหลายคน
หนึ่งในนั้นคือคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ขึ้นชื่อว่ามีความมั่งคั่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ที่เขายอมรับว่าได้นำแนวคิดในการลงทุนของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ไปประยุกต์ใช้
โดยหลักการลงทุนของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ช่วยกล่อมเกลาให้คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ พัฒนาออกจากหลักการเน้นคุณค่า (Value Investing) ดั้งเดิมแบบอาจารย์ของเขา “คุณเบนจามิน เกรแฮม” ที่เน้นซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาก ๆ โดยไม่สนใจศักยภาพของตัวธุรกิจ
มาเป็นการผสมผสานแบบใหม่ นั่นคือ เน้นการลงทุนกับบริษัทชั้นยอดในราคาที่สมเหตุสมผลแทน
อิทธิพลของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ สะท้อนให้เห็นในกระบวนการลงทุนของคุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ทำให้เขาพยายามมองหา
- ธุรกิจที่มีคูเมือง (Moats) หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน
- ธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- มีทีมบริหารที่เก่งและซื่อสัตย์
- หุ้นมีราคาสมเหตุสมผล
เป็นเกณฑ์หลักในการเลือกและตัดสินใจลงทุน
และด้วยหลักดังกล่าว ที่ได้แนวคิดของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ มาต่อยอด
ก็ทำให้คุณวอร์เรน บัฟเฟตต์ ค้นพบแนวคิดการลงทุนที่เฉียบคมกว่าเดิม จนทำให้เขาสามารถประสบความสำเร็จได้มาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งเราก็สามารถเรียนรู้ และนำแนวคิดของคุณฟีลิป ฟิชเชอร์ ไปปรับใช้กับตัวเองได้เช่นกัน
มันก็จะทำให้เรามีมุมมองในการลงทุนที่กว้างขึ้นมากกว่าเดิม..
โฆษณา