18 เม.ย. เวลา 02:18 • ประวัติศาสตร์

ชีวิตที่น่าเศร้าของจักรพรรดินีองค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินจีน

“จักรพรรดินีหวั่นหรง (Wanrong)” เป็นจักรพรรดินีองค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินจีน และชีวิตของพระองค์ก็เปรียบเสมือนกับละครหรือภาพยนตร์ดราม่าเรื่องหนึ่ง
ถึงแม้จะได้ขึ้นเป็นถึงจักรพรรดินี แต่วาระสุดท้ายของพระองค์นั้นก็สิ้นสุดอย่างเดียวดายท่ามกลางกองพระบังคน (ปัสสาวะ) ของพระองค์เองด้วยพระชนมายุเพียง 39 พรรษา
และในทุกวันนี้ จักรพรรดินีหวั่นหรงก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่เรียกได้ว่าน่าสงสารที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน
เรื่องราวของพระองค์เป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
1
จักรพรรดินีหวั่นหรง (Wanrong)
พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนในปีค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) โดยพระนามเดิมคือ “โก้วปู้โลว หวั่นหรง (Gobulo Wanrong)” โดยพระราชมารดานั้นสิ้นไปตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ส่วนพระราชบิดานั้นทรงมีตำแหน่งสำคัญในวงการเมืองและมีสายสัมพันธ์ในราชสำนัก
ในปีค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) ได้เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติซินไฮ่ (1911 Revolution)” ซึ่งเป็นการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง และนำไปสู่การกำเนิด “สาธารณรัฐจีน (Republic of China)” ในปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455)
4
แต่ถึงแม้จะมีความผันผวนทางการเมืองมากมาย แต่พระประมุขหนุ่มอย่าง “จักรพรรดิปูยี (Puyi)” ก็ยังสามารถรักษาตำแหน่งของพระองค์ไว้ได้ และยังได้รับอนุญาตให้จัดงานอภิเษกสมรสใน “พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City)” อีกด้วย
พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City)
จักรพรรดิปูยีทรงได้รับการทูลให้เลือกคู่ครองจากรูปภาพจำนวนมากที่ส่งมาให้เลือก หากแต่จักรพรรดิปูยีก็ไม่สามารถอภิเษกสมรสกับตัวเลือกแรกที่พระองค์ทรงเลือกได้ นั่นคือเด็กหญิงวัย 12 ปีชื่อ “เหวินซิ่ว (Wenxiu)” ทำให้จักรพรรดิปูยีต้องทรงเลือกหวั่นหรงและให้เหวินซิ่วเป็นนางสนม
ในเวลานั้น จักรพรรดินีหวั่นหรงมีพระชนมายุ 16 พรรษา และก็ไม่ทรงยินดีกับการถูกจับคู่ครั้งนี้เลย โดยพระพี่น้องของพระองค์ทรงให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าจักรพรรดินีหวั่นหรงทรงต่อต้านเต็มที่ และไม่ทรงยินดีเลยที่ต้องแต่งงานกับคนที่พระองค์ไม่เคยพบมาก่อน
1
จักรพรรดิปูยีทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับจักรพรรดินีหวั่นหรงในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) และแค่คืนแรกที่ร่วมหอลงโรงก็ไม่ดีแล้ว เนื่องจากแค่คืนแรก แทนที่จะทรงใช้เวลากับเจ้าสาว จักรพรรดิปูยีก็ทรงหนีออกจากห้องหอแล้ว
เหวินซิ่ว (Wenxiu)
จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงเป็นคนหัวสมัยใหม่ ทรงโปรดความทันสมัย อาหารตะวันตก และดนตรีแจ๊ส และยังทรงตั้งพระนามภาษาอังกฤษให้พระองค์เองด้วย นั่นคือ “เอลิซาเบธ (Elizabeth)”
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงเป็นผู้ใจบุญ และได้พระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นจำนวนเงินกว่า 600 หยวนในปีค.ศ.1923 (พ.ศ.2466)
แต่ภายในพระทัยของจักรพรรดินีหวั่นหรงก็ไม่ได้ดีนัก พระองค์ทรงริษยาเหวินซิ่ว เนื่องจากเหวินซิ่วทรงเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิปูยี และในไม่ช้า พระองค์ก็ทรงใช้ฝิ่นเพื่อระบายความเครียดและพระอาการปวดหัว ทำให้ทรงติดฝิ่นในเวลาต่อมา
และแล้วในปีค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) ชีวิตในพระราชวังต้องห้ามของจักรพรรดินีหวั่นหรงก็ต้องสะดุดหยุดลง
จักรพรรดินีหวั่นหรงและจักรพรรดิปูยี
ตุลาคม ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) ได้เกิดการรัฐประหาร และทำให้องค์พระประมุขทั้งสองถูกขับไล่ออกจากพระราชวังต้องห้าม
ทั้งสองพระองค์และเหวินซิ่วต้องเสด็จไปยังเมืองเทียนจินโดยมีความคุ้มครองจากฝ่ายญี่ปุ่นถวายอารักขา
ที่เทียนจินนั้น จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงเพลิดเพลินกับการละเล่น เต้นรำ ทอดพระเนตรการแสดงต่างๆ และเริ่มมีอาการพระโรคประสาท ทำให้พระองค์ทรงมีพระอาการปวดหัวและอ่อนเพลียอยู่เสมอ และเริ่มมีภาวะซึมเศร้า
1
จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงตระหนักว่าจักรพรรดิปูยีไม่เคยทรงรักพระองค์เลย ทำให้พระองค์ต้องทนกับความเปล่าเปลี่ยว เบื่อหน่าย และถูกมองข้าม
เหวินซิ่วเองก็ไม่ได้มีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันนัก และได้ทิ้งจักรพรรดิปูยีไปในปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ซึ่งเรื่องนี้จักรพรรดิปูยีก็ทรงโทษจักรพรรดินีหวั่นหรงว่าเป็นต้นเหตุ และแทบจะไม่พูดคุยกับจักรพรรดินีหวั่นหรงอีกเลย
และนอกจากความสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นแล้ว เรื่องของการเมืองก็ผันผวน โดยในปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ญี่ปุ่นได้แต่งตั้งให้จักรพรรดิปูยีเป็นประมุขแห่งแมนจู ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดของญี่ปุ่น จักรพรรดิปูยีก็เป็นเพียงหุ่นเชิด จักรพรรดินีก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และถึงแม้พระองค์จะพยายามหลบหนี แต่ก็ล้มเหลว
พระพลานามัยของจักรพรรดินีหวั่นหรงนับวันมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ โดยในปีค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงสูบฝิ่นวันละหลายมวน ติดฝิ่นอย่างหนัก และในช่วงเวลานี้เอง พระองค์ก็ได้ทรงมีชู้กับข้าราชบริพารของจักรพรรดิปูยีถึงสองคน และทรงครรภ์
1
พระราชธิดาในพระครรภ์นั้นคลอดในปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมาไม่นาน โดยมีเรื่องเล่าว่าจักรพรรดิปูยีนั้นทรงกริ้วอย่างหนัก และทรงจับทารกน้อยโยนลงหม้อต้มน้ำ แต่บางแหล่งก็บอกว่าทารกน้อยนั้นสิ้นพระชนม์หลังจากคลอดออกมา
1
ด้วยภาวะเหล่านี้ทำให้จักรพรรดินีหวั่นหรงยิ่งทรงเครียดและติดฝิ่นหนักกว่าเดิม ทรงใช้เวลาในแต่ละวันไปกับฝิ่น ทรงสูบบุหรี่วันละกว่าสองซอง พระวรกายผอมโซและทรุดโทรม และทรงเก็บองค์ไม่ออกงานอะไรเลย
5
เมื่อถึงคราวที่สหภาพโซเวียตบุกแมนจูเรียในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) จักรพรรดินีหวั่นหรงก็แทบจะไม่สามารถทอดพระเนตรหรือพระดำเนินได้แล้ว โดยขณะนั้นจักรพรรดิปูยีก็ได้เสด็จหนีออกจากแมนจูเรีย ทิ้งจักรพรรดินีหวั่นหรงไว้เพียงลำพัง
จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนจับกุมในเดือนมกราคม ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) และถูกควบคุมองค์อยู่ในมณฑลจี๋หลิน
พระองค์ทรงถูกจำกัดอาหาร และถูกนำองค์ออกแสดงให้ประชาชนเห็นราวกับสัตว์ในสวนสัตว์ โดยประชาชนต่างก็ก่นด่าจักรพรรดินีหวั่นหรงว่าเป็นพวกเดียวกับญี่ปุ่น
20 มิถุนายน ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) จักรพรรดินีหวั่นหรงสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ 39 พรรษาจากภาวะขาดอาหารและการถอนการใช้ฝิ่น โดยพระองค์สวรรคตในห้องขังซึ่งพื้นนั้นเต็มไปด้วยพระบังคน (ปัสสาวะ) ของพระองค์เลอะเต็มห้อง
ส่วนจักรพรรดิปูยีก็ถูกจับกุมและคุมองค์ในเรือนจำเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะกลายเป็นคนสวนและไกด์ทัวร์ นำนักท่องเที่ยวชมพระราชวังต้องห้าม
1
ในทุกวันนี้ จักรพรรดินีหวั่นหรงทรงเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลที่มีชีวิตที่น่าเศร้าคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ทั้งการที่ต้องแต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก การไม่ได้รับความรักจากพระราชสวามี และต้องมีชีวิตที่โดดเดี่ยวและทุกข์ทนเป็นเวลาหลายปีและสวรรคตด้วยพระชนมายุที่สั้น
โฆษณา