17 เม.ย. เวลา 10:36 • การเมือง

สงครามตะวันออกกลาง “สมการสามตัวแปร” ของ 3อ.

อเมริกา-อิสราเอล-อิหร่าน
บทบาทของ “อิสราเอล” ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลางคือ เป็นตัวสร้างเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปะทะกันระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “อิหร่าน” เหตุการณ์เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นพัฒนาการของสงครามในตะวันออกกลางที่อาจเรียกได้ว่าเข้าสู่เฟสใหม่แล้วหลังผ่านมากว่าหกเดือน ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าการปะทะกันโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านอาจไม่บานปลาย แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจไปได้
ดูแล้วอเมริกาไม่อยากต้องการล้ำเส้นเข้าไปในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เพราะไม่อยากให้เกิดสงครามขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ อีกอย่างคือการโจมตีโต้กลับของอิหร่านเมื่อช่วงดึกของวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฐานทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางแต่อย่างใด ผิดกับก่อนหน้านี้ในช่วงเริ่มต้นของสงครามเมื่อช่วงปลายปีก่อนที่ฐานทัพของพวกเขาเป็นเป้าหมายโดนโจมตีของขีปนาวุธและโดรน
เครดิตภาพ: Al Jazeera
การโจมตีตอบโต้อิสราเอลของอิหร่านตามที่สื่ออังกฤษระบุ เกิดขึ้น “ราวกับว่าอิหร่านจงใจหลีกเลี่ยงความประหลาดใจ (ยังไงก็รู้อยู่แล้วว่าต้องทำ)” สถานที่เฉพาะเจาะจงเป็นเป้าหมายของการโจมตี (ในวงแคบ) การโจมตีซึ่งประกอบด้วยขีปนาวุธและโดรนรวมกันมากกว่า 300 ลูก อ้างอิงจากสื่อบางแห่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นเด็กหญิงชาวเบดูอิน ตามที่ระบุมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยประมาณหลักสิบคนทั่วประเทศ – อ้างอิง: [1]
การโจมตีของอิหร่านเข้าเป้าหมายทางทหารในอิสราเอล โดยขีปนาวุธอิหร่านอย่างน้อย 9 ลูกเจาะระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล และโจมตีฐานทัพอากาศ 2 แห่ง ABC News รายงาน จากข้อมูลมีขีปนาวุธ 5 ลูกเข้าโจมตีฐานทัพอากาศเนวาติมของอิสราเอล และสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินขนส่ง C-130 รันเวย์ และโรงเก็บ และขีปนาวุธ 4 ลูกโจมตีฐานทัพอากาศอิสราเอลในทะเลทรายเนเกฟ - อ้างอิง: [2]
ซากชิ้นส่วนของจรวดทำให้เด็กหญิงวัย 7 ขวบได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากที่อิหร่านยิงโดรนและขีปนาวุธเข้ามายังอิสราเอล ใกล้เมืองอาราด ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2024 เครดิตภาพ: Christophe Van Der Perre/Reuters
  • ท่าทีของสามฝ่าย “อิหร่าน” “อิสราเอล” และ “อเมริกา” หลังเกิดการโจมตีโต้กลับไปมา
มีการเฉลิมฉลองในที่สาธารณะในอิหร่านเพื่อเป็นเกียรติแก่ชัยชนะเหนืออิสราเอล กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) เรียกการโจมตีดังกล่าวว่า “ประสบความสำเร็จ” - อ้างอิง: [3]
ผู้แทนถาวรของอิหร่านประจำสหประชาชาติกล่าวว่าการตอบโต้สิ้นสุดลงแล้ว และ “หากอิสราเอลกระทำการโดยไม่ระวังอีกครั้ง อิหร่านจะไม่ลังเลที่จะลงโทษอีกครั้ง” และ “ขอให้อเมริกาอยู่ห่างๆ เข้าไว้ อย่ามายุ่ง” - อ้างอิง: [4]
เครดิตภาพ: Al Jazeera
ส่วนทางฝั่งอิสราเอลนั้นก็มีการเฉลิมฉลองเช่นกัน ในความสำเร็จของประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศของพวกเขา โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวนไม่มากและไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด ทำนองว่าพวกเขาทำสำเร็จขับไล่พวกอิหร่านที่โจมตีออกไปได้
สหรัฐอเมริกาก็ร่วมยินดีไปกับเขาด้วยเช่นกัน พวกเขามองว่าข่าวกรองที่ส่งไปยังอิรักและจอร์แดน ทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศทำงานได้ผลเต็มที่จึงยิงโดรนและขีปนาวุธของอิหร่านจำนวนมากตกได้ ดังนั้นแล้วในภาพรวมหลังการโจมตีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงกลายเป็นว่า “ต่างคนต่างเคลมว่าฝ่ายตนได้รับชัยชนะ ไม่มีใครแพ้”
ดูเหมือนมีผู้แพ้เพียงคนเดียวคือ นายกรัฐมนตรี “เบนจามิน เนทันยาฮู” ของอิสราเอล ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา ปฏิบัติการดาบเหล็กของกองทัพอิสราเอลซึ่งเริ่มตั้งแต่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายคือการปลดปล่อยตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับตัวไป ได้มาถึงทางตันแล้ว ตัวประกันยังคงอยู่ในมือของฮามาส
1
วิกฤตทางการเมืองในอิสราเอลกำลังเลวร้ายลง ประชาชนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับรัฐบาลของเนทันยาฮู และปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในการปล่อยตัวตัวประกันได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนต่อผู้นำของพวกเขา
เครดิตภาพ: ALEXANDRE MENEGHINI / Reuters
“เนทันยาฮู” อาจมองว่าความต่อเนื่องของความขัดแย้งในตะวันออกกลางดูเหมือนจะเป็นปัจจัยด้านบวกสำหรับเขา เพราะชาวอิสราเอลไม่ต้องการ “ให้เปลี่ยนม้ากลางศึก” หรือไม่? เขาต้องทำและยื้อจนถึงที่สุดเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ด้วยเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ ไม่สามารถยอมให้อิสราเอลพ่ายแพ้ได้ การสร้างตัวแทนขึ้นใหม่ที่พร้อมรบและใช้งานได้จริงในตะวันออกกลางเพื่อใช้เป็นกลไกควบคุมอิทธิพลบนโลก จะต้องใช้เงินจำนวนมากและเวลาที่ทุ่มลงไปอีกยาวไกล เวลามีค่าที่สุดในตอนนี้สำหรับอเมริกา ดังนั้นยังไงพวกเขาก็ต้องหาทางทุ่มเงินและอาวุธเพื่อช่วยอิสราเอลให้ได้ แต่ต้องไม่ก้าวเท้าเข้าไปยุ่งโดยตรงเด็ดขาด เป็นการใช้ “สงครามตัวแทน” เหมือนกับที่อิหร่านใช้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ละแวกนี้เล่นงานอิสราเอล
1
อย่างไรก็ตาม “เนทันยาฮู” มีทีท่าว่าจะเดินหน้าต่อแน่นอน เมื่อช่วงเย็นของ 15 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้สั่งให้กองทัพอิสราเอลระบุเป้าหมายโจมตีตอบโต้ “ล็อคเป้า” ในอิหร่าน การโจมตีดังกล่าวจะทำเป็น “เชิงสัญลักษณ์” ไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ตัวเลือกของการโจมตีที่มองไว้ เช่น โครงสร้างพื้นฐานในกรุงเตหะราน หรือ “การโจมตีทางไซเบอร์” ซึ่งกำลังได้รับการพิจารณา อ้างอิงเพิ่มเติมได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
สถานีโทรทัศน์ช่อง 13 ของอิสราเอลรายงานว่า คณะรัฐมนตรีของอิสราเอลในยามสงครามกำลังร่างแผนการตอบโต้ต่อการโจมตีของอิหร่าน ซึ่งมันจะไม่ส่งผลก่อให้เกิดสงครามในระดับภูมิภาค รัฐบาลอิสราเอลต้องการเลือกการตอบโต้การโจมตีของอิหร่านที่จะไม่ถูกขัดขวางโดยสหรัฐฯ เช่น การส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศไปที่ระยะ 1,500 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก - อ้างอิง: [5]
คำถามคือปฏิกิริยาของอิหร่านต่อการโจมตีครั้งถัดไปของอิสราเอลจะเป็นอย่างไร IRGC ประกาศไปแล้วว่าหากอิสราเอลโจมตีกลับมาอีก การตอบโต้ครั้งใหม่ของเตหะรานจะรุนแรงมากกว่าการตอบโต้ครั้งก่อนแน่นอน เนทันยาฮูต้องยอมรับในความจริงที่ว่าแม้แต่การโจมตีขนาดเล็กในดินแดนอิหร่านครั้งใหม่ก็อาจทำให้เกิดการตอบโต้ที่ทรงพลังของอิหร่านกลับเข้ามาได้ ซึ่งสหรัฐฯ จะทนเห็นได้ไหวหรือไม่
วิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางในวงกว้างไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ ด้านการควบคุมระเบียบโลก สหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมเลย และเป็นเรื่องยากมากสำหรับอเมริกาที่จะควบคุมความขัดแย้งในหลายภูมิภาคพร้อมกันในทีเดียว ไม่ว่าเป็นในยูเครน สงครามที่ลุกลามในตะวันออกกลาง และการเตรียมการเผชิญหน้ากับจีนเหนือไต้หวัน พวกเขาต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ไม่งั้นก็ล้มทั้งกระดาน
วิกฤตในตะวันออกกลางกำลังส่งผลเสียมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ คือ ต้นทุนทางการเมือง ความผันผวนของตลาดน้ำมัน การหยุดชะงักของการขนส่งทางการค้าผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ และเกิดการกระจายศูนย์กลางแหล่งพลังงานใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯ กำลังใช้ความพยายามทางการทูตอย่างมากไปในทิศทางนี้ เห็นได้จากมีการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของทำเนียบขาวมาแถบนี้บ่อยและถี่มากในช่วงยามสงคราม
อิสราเอลจำเป็นต้องลากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ความขัดแย้งกับอิหร่านด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ต้องให้ถึงกับมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันสร้างภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของรัฐยิวของพวกเขา แต่มันก็ต้องอยู่ในระดับความรุนแรงเพียงพอที่อเมริกาจะยอมอัดฉีดทางการเงินและอาวุธเข้ามาช่วย และเชื่อว่าอิหร่านก็คงไม่อยากให้เกิดสงครามใหญ่บานปลาย
เครดิตภาพ: Getty Images
เรียบเรียงโดย Right Style
17th Apr 2024
  • แหล่งข่าวและข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Illustrated by Annelise Capossela / Axios>
โฆษณา