19 เม.ย. เวลา 02:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

หลานม่า : สังคมสูงวัย เมื่อความกตัญญูอาจไม่ใช่คำตอบ

หลานม่า หนังใหม่ล่าสุดจาก GDH ที่สร้างปรากฏการณ์หนังครอบครัวอีกครั้ง โดนเล่นประเด็นผู้สูงอายุในบ้านที่ทัชใจคนดูตั้งแต่คำโปรยที่ว่า “คนที่กลับบ้านไปเมื่อไหร่ก็เจอ อาจไม่ได้อยู่รอเราตรงนั้นตลอดไป”
คงไม่ต้องเล่าเรื่องย่ออะไรมากมายเพราะทุกคนน่าจะผ่านหูผ่านตากันมาหมดแล้ว เรื่องราวของหลายชายที่ไปดูแลอาม่าซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายเพื่อหวังมรดกก้อนโต แต่ระหว่างนั้นทั้งอาม่าและหลายชายก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างคนทั้งสองเจเนอเรชั่นมากขึ้นจนทำให้ทั้งคู่ได้ตกตะกอนความคิดบางอย่าง
ประเด็นผู้สูงอายุกับค่านิยมความกตัญญูในไทยนั้นเป็นเรื่องอ่อนไหวที่สามารถเล่นกับความรู้สึกคนได้ง่ายมาก ทำให้หลังจากหนังเรื่องนี้ฉายไปสักพักก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงประเด็นนี้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ในยุคนี้ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวันจนลูกหลานไม่สามารถลางานออกมาเพื่อทำหน้าที่ “ลูกหลานกตัญญู” ตามขนบความคิดแบบในอดีตได้ง่ายนัก
สังคมสูงวัย…เมื่อคนไทย “แก่ก่อนรวย”
ข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20.17% ของประชากรโดยรวม และมีผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 14% ของประชากรโดยรวม โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงสุดคือ ภาคกลาง (39.81%) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (31.62%) จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดคือ ลำปาง (28%) ทำให้กลายเป็นจังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยทั้งประเทศก็จะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดเช่นกัน
ในขณะที่คนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น แต่เด็กเกิดใหม่กลับน้อยลง เมื่อพิจารณาจากอัตราการให้กำเนิดบุตร (Fertility rate) ของไทยอยู่ที่ 1.33 คน ต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน
ซึ่งถ้าจะให้สามารถชดเชยกับประชากรที่หมดอายุขัยไปได้ อัตรานี้ควรจะอยู่ที่ราวๆ 2.1 (ต้องให้กำเนิดลูกอย่างน้อย 2.1 คน เพื่อชดเชยกับพ่อแม่ที่วันหนึ่งต้องหมดอายุขัย) จากข้อมูลนั้นพบว่า ประเทศส่วนใหญ่กำลังมีอัตราการให้กำเนิดบุตรต่ำกว่า 2 ไม่ว่าจะเป็น จีน (1.16), ญี่ปุ่น (1.3), สิงคโปร์ (1.12), เกาหลีใต้ (0.81) นั่นแปลว่าเราไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่ประสบปัญหานี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหาเด็กเกิดน้อยลง และเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่ นั่นอาจทำให้ปัญหาของเราไม่ใช่เพราะเรามีคนแก่เยอะ แต่ปัญหาคือคนเหล่านั้น “แก่ก่อนรวย”
1
มีลูกไว้เลี้ยงดูยามแก่ชรา…ยังใช้กับเศรษฐกิจยุคนี้ได้อยู่หรือ?
ในอดีตเราคงจะเคยได้ยินคำว่า “มีลูกไว้ทันใช้” นั่นก็เป็นเพราะค่านิยมจากสังคมเกษตรกรรมในอดีตที่ต้องการมีลูกเพื่อไปเป็นแรงงาน และเป็นเหมือนหลักประกันในวัยเกษียณ เด็กหลายคนจึงเติบโตมาแบบที่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตในวัยเด็กที่ดีมากนัก หรือบางทีพ่อแม่ก็จำเป็นต้องไปกู้เงินมาเพื่อสงเสียลูก จนกลายเป็นความคาดหวังว่าลูกจะต้องเติบโตขึ้นมาเพื่อตอบแทนบุญคุณเหล่านี้
แต่เมื่อค่านิยมเปลี่ยนไป คู่แต่งงานเริ่มมีการวางแผนครอบครัว ค่านิยมการมีลูกเมื่อพร้อมจึงเข้ามาแทนที่ คำว่าพร้อมในที่นี้คือพร้อมทั้งการเงินและความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพได้
ดังนั้นการที่ชายหญิงจะตัดสินใจวางแผนมีลูก ปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ดูมีอนาคตอันสดใสรออยู่ แต่เมื่อมองดูสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูง การจะดูแลตัวเองให้รอดยังยาก หากมีลูกแล้วทำให้สภาพการเงินมีปัญหา หลายคู่ก็เลือกที่จะหยุดวงจรความยากจนให้จบที่รุ่นตัวเองดีกว่า
ภาระทางการคลัง…เมื่อความกตัญญูไม่ใช่คำตอบ
หากอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายด้วยแล้ว แปลว่าในอนาคต เราจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่จะต้องพึ่งพาวัยแรงงานมากขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสภาพัฒน์ พบว่า
ในปี 2537 อัตราส่วนการพึ่งพิงวัยสูงอายุ (old-age dependency ratio) อยู่ที่ 10.7%
จนกระทั่งในปี 2563 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 27.7%
และคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะพุ่งขึ้นไปถึง 56.5%
นั่นหมายความว่า ประชากรวัยแรงงาน 100 คน จะต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุถึง 56 คน เลยทีเดียว ซึ่งเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางการคลังเป็นอย่างมาก เมื่อคนจ่ายภาษีเข้าระบบน้อยลง แต่กลับต้องมีรายจ่ายที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไป ค่านิยมความกตัญญูซึ่งถูกปลูกฝังกันในไทยมาอย่างช้านานคงไม่ใช่คำตอบ หากเราลองพิจารณาในบริบทของครอบครัว ถ้าครอบครัวมีลูกแค่ 1 คน นั่นหมายความว่าคนๆ นั้นจะต้องรับภาระดูแลทั้ง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่นับว่าต้องสร้างครอบครัวและดูแลลูกอีก
สภาวะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ การจะลาออกมาดูแลเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นปีๆ แบบเต็มเวลาอย่างในเรื่องหลานม่าทำนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ หากจะจ้างคนมาดูแล หรือส่งไป Nursing Home ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
ถ้าอยากจะมีภาพความกตัญญูที่สวยหรูแบบในหนัง ครอบครัวก็จะต้องรวยมากพอที่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายของคนที่ไม่ได้ทำงานได้เป็นปีๆ ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ซึ่งต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว หากไม่อยากเสียเวลาไปรอคิวรักษาที่โรงพยาบาลรัฐบาลเป็นวันๆ และไม่ได้มีการซื้อประกันสุขภาพไว้
มาถึงตอนนี้ เราควรเริ่มตะหนักว่าในไม่ช้าที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เราเตรียมเงินออมหลังเกษียณไว้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่ลำบาก หรือมีการซื้อประกันชีวิตอย่างครอบคลุมหรือไม่ (ซึ่งอาจจะทำได้ยากในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการมากพอ จนเมื่อคนๆ หนึ่งเข้าสู่วัยทำงาน อาจต้องรับภาระทั้งเลี้ยงดูพ่อแม่ และสร้างครอบครัว จนแทบไม่สามารถมีเงินออมได้ แล้วก็กลายเป็นวงจรจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป)
นอกจากนี้ยังเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับรัฐบาลให้เตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบประกันสังคม สวัสดิการของรัฐ สร้างระบบบำนาญให้ครอบคลุม และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยโอบอุ้มผู้สูงวัยเหล่านี้ในฐานะพลเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยช่วยสร้างประเทศนี้ขึ้นมา มิใช่ผู้อนาถาที่รอความช่วยเหลือจากรัฐแต่อย่างใด
อีกทั้งรัฐควรเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เต็มไปด้วยความหวังสำหรับคนหนุ่มสาวในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพขึ้นมาเพิ่ม มิฉะนั้นระบบบำนาญอาจเกิดปัญหาล้มละลายได้ในอนาคต (มีแต่คนรับบำนาญ ไม่มีคนจ่ายเงินเข้าระบบ)
.
.
.
การมีความกตัญญูนั้นเป็นเรื่องดี แต่ความกตัญญูเพียงอย่างเดียวทำให้เราอิ่มท้องไม่ได้ ทำให้เรามีที่นอนที่ปลอดภัยไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปหลงติดกับดักความกตัญญูจนไม่ลืมหูลืมตา อย่ารู้สึกผิดหากคุณไม่ได้เป็นลูกหลานที่ทำงานจนไม่สามารถดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้แบบเต็มเวลา เพราะคุณทำได้ดีที่สุดเท่าที่เศรษฐกิจจะเอื้อให้คุณทำได้แล้ว…
#หลานม่า #LAHNMAH
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
โฆษณา