18 เม.ย. เวลา 07:46 • สิ่งแวดล้อม

คาร์บอนเครดิต ทางออกสู่วิถีคาร์บอนต่ำ???

"คาร์บอนเครดิต" เครื่องมือที่ถูกพัฒนาลองผิดลองถูกจนกระทั่งเกิดการนำมาใช้จริง เพื่อช่วยจูงใจให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปิดให้มีการซื้อขายเพื่อกระตุ้นกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในระยะเริ่มต้นนี้ หลายท่านอาจมองว่า
“ทำไม คาร์บอนเครดิตถึงดูเหมือนได้มาง่ายๆ”
“กระแสเฉยๆแหละ”
“แค่เครื่องมือกีดกันทางการค้า”
...
ก็ไม่ผิดครับ คาร์บอนเครดิตได้มาไม่ยาก และก็เป็นกระแสและเครื่องมือที่ว่าจริงๆ แต่มันจะยั่งยืนได้แค่ไหน?
เพราะ แนวคิดคาร์บอนเครดิตยังคงมีข้อจำกัด
โครงการฯจำเป็นต้อง มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และมีความโปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อขายเครดิตปลอมหรือมีการซ้ำซ้อน รวมถึงความไม่มั่นใจต่างๆต่อความเสี่ยงที่โครงการฯอาจไม่ก่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ หรือผลกระทบระยะยาวที่ยั่งยืน
ส่วน “ทำไม คาร์บอนเครดิตถึงดูเหมือนได้มาง่ายๆ” คงจะต้องบอกว่า เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในระยะเริ่มต้นมากกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ย้อนไปถึงคำถามเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง และมีความยั่งยืน
ก่อนอื่น ต้องแยกแยะก่อนว่า การได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต จะแยกโครงการออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ โครงการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแนวคิดแบบ Reduction ครับ ที่เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ใช้รถยนต์ไฟฟ้า จัดการขยะ บลา บลา บลา และโครงการที่เน้นกักเก็บก๊าซเรือนกระจก หรือแนวคิดแบบ Removal ที่เน้นกิจกรรมที่ดูดซับคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า จัดการดิน หรือใช้เทคโนโลยี Direct Air Capture (DAC) ดูดซับจากอากาศโดยตรง เป็นต้น
ซึ่งหลายๆท่านคงแอบคิดในใจว่า “ลด” จะไปสู้ “กักเก็บ” ได้อย่างไร ใช่ไหมครับ คำตอบง่ายๆเลยคือการกักเก็บมีต้นทุนที่ “แพงกว่ามาก” ครับ รวมถึงยังมีข้อกังขาถึงประสิทธิภาพต่างๆด้วย หรือถ้าจะปลูกป่าเพื่อเคลมคาร์บอนก็จะมีระยะเวลาให้พืชโตระยะนึงก่อน (แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด) ดังนั้นจะให้ได้เครดิตปุบปับทันทีทันใดก็ไม่ได้
ทีนี้คนเรา (ในมุมมองธุรกิจ) ก็จะเน้นไปที่ Reduction มากกว่า ทั้งมีตัวชี้วัดชัดเจน แถมเป็นประโยชน์ต่อการจัดการภายในองค์กรด้วย
และก็เหมือนที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ครับ การที่โครงการต่างๆยังให้มีการคิดเครดิตง่ายอยู่ก็เพราะว่าจะสร้างการตื่นตัวและค่อยๆให้มีการปรับตัว โดยไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างต้นทุนต่างๆมากจนเกินไป
และแน่นอนว่า เมื่อมีการดำเนินการไประยะหนึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงกลไกในการดำเนินงาน ก็จะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมถึงต้องมีความโปร่งใส และสร้างผลกระทบต่อเนื่องสู่ด้านอื่นๆให้น้อยที่สุด ซึ่งการสร้างระบบเครดิตคาร์บอนขึ้นมานั้น ก็จะทำให้เกิดการลงทุนและเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการก๊าซเรือนกระจก
ทีนี้ เราก็จะมีเทคโนโลยี/นวัตกรรม/ผลิตภัณฑ์ รักษ์โลก ต่างๆที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในราคาที่จับต้องได้ แถมด้วยอากาศสะอาด สภาพแวดล้อมดี และสภาพอากาศไม่ผันผวนรุนแรงอย่างในปัจจุบัน
ติดตามสาระความรู้ อัพเดตเทรนด์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ที่ “มิวอัลฟ่า” นะครับ
#uAlpha #sustainable #carboncredits
โฆษณา