19 เม.ย. เวลา 02:09 • ประวัติศาสตร์

“ชา” สินค้าที่ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

“ชา” คือหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของโลก เป็นเครื่องดื่มที่หลายคนขาดไม่ได้
แต่ทราบมั้ยครับว่าชานั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 5,000 ปี มีการพบเศษชาในสุสานจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 และชายังเป็นตัวจุดประกายให้เกิดสงครามอีกด้วย
เรื่องราวของชานั้นเป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
ตามตำนานนั้น ได้กล่าวว่าผู้ที่ค้นพบชาเป็นคนแรกก็คือจักรพรรดิในตำนานเรื่องเล่าของจีนที่มีพระนามว่า “เฉินหนง (Shennong)” เมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสตกาล
เฉินหนง (Shennong)
ตามตำนานนั้น จักรพรรดิเฉินหนงทรงโปรดให้ต้มน้ำให้เดือดก่อนเสวย และในวันหนึ่ง พระองค์และผู้ติดตามก็ได้เสด็จท่องเที่ยว และหยุดพักเหนื่อยเอาแรง
ข้าราชบริพารได้ทำการต้มน้ำและนำมาถวายจักรพรรดิเฉินหนง และในเวลานั้นเอง ก็ได้มีใบไม้ที่แห้งตายได้หลุดหล่นลงมาจากพุ่มไม้ หล่นลงมาในน้ำร้อนที่จักรพรรดิเฉินหนงจะเสวย
เมื่อได้เสวยน้ำนั้น จักรพรรดิเฉินหนงก็ทรงโปรดรสชาติของน้ำร้อนที่ผสมใบไม้นี้เป็นอย่างมาก โดยทรงมีรับสั่งว่ารู้สึกราวกับน้ำที่เสวยเข้าไปนั้นได้เข้าไปสำรวจและซ่อมแซมทุกส่วนในพระวรกาย
พระองค์ทรงตั้งชื่อเครื่องดื่มนี้ว่า “ชา (ch’a)” ซึ่งแปลว่า “สำรวจ”
จากนั้น ชาก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา
ก่อนที่ชาจะแพร่หลายไปทั่วโลก ชานั้นเป็นเครื่องดื่มที่ถูกใช้ในทางการแพทย์และแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) เมื่อสมัยศตวรรษที่ 3
กลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้ทำให้การดื่มชากลายเป็นกิจวัตรปกติของผู้คน ก็คือเหล่านักบวช โดยเหล่านักบวชมักจะดื่มชาเพื่อให้ไม่ง่วงและตื่นตัวในขณะที่ต้องสวดมนต์หรือนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ
สำหรับเรื่องราวของชาในประเทศจีนในสมัยโบราณนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากงานเขียนเรื่อง “The Classic of Tea” ของนักเขียนและปรมาจารย์เรื่องชาชาวจีนที่มีนามว่า “หลู่ยู่ (Lu Yu)” เมื่อราวค.ศ.760 (พ.ศ.1303) โดยหลู่ยู่ได้บอกเล่าถึงวัฒนธรรมการดื่มชาในสมัยราชวงศ์ถัง รวมทั้งวิธีการปลูกและจัดเตรียมชา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4-ศตวรรษที่ 8 ชาได้แพร่หลายและกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมไปทั่วประเทศจีน ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะในทางการแพทย์อีกต่อไป
หลู่ยู่ (Lu Yu)
เกิดไร่ชาขึ้นในประเทศจีนมากมายหลายแห่ง และเหล่าพ่อค้าชาก็มีฐานะมั่งคั่งเนื่องจากชานั้นมีราคาแพง ผลิตภัณฑ์จากชาก็กลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะและความยิ่งใหญ่
ในสมัยโบราณ ชานั้นมักจะถูกนำมาทำเป็น “ชาอัด” ซึ่งก็คือชาก้อนที่ทำเป็นรูปร่างบางอย่างที่เกิดจากการกดอัดใบชาเข้าด้วยกัน
ชาอัดนี้บางครั้งก็ถูกนำมาใช้แทนเงินตรา และเมื่อจะนำไปดื่ม ก็จะนำไปบดเป็นผงและผสมกับน้ำ ก่อนจะนำไปบริโภค
ในสมัยโบราณ ชานั้นคือสินค้าราคาแพงมาก และมีการระบุว่าชานั้นมีความบริสุทธิ์มาก มากซะจนมีการกำหนดให้ผู้ที่เก็บและจัดการกับใบชาจะต้องเป็นหญิงสาวเท่านั้น และหญิงสาวเหล่านั้นยังห้ามทานกระเทียม หัวหอม หรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เนื่องจากอาจจะส่งผลต่อกลิ่นใบชาที่เก็บ
ในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อศตวรรษที่ 14-ศตวรรษที่ 17 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ใช้ใบชาแทนชาอัด เพื่อที่ว่าเหล่าชาวไร่จะได้ทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาทำเป็นชาอัด
ก่อนช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ชาเขียวคือชาชนิดเดียวในจีน แต่เมื่อการค้ากับต่างชาติเติบโต ผู้ผลิตชาก็ได้ตระหนักว่าใบชานั้นสามารถนำไปหมักด้วยกระบวนการพิเศษ ทำให้เกิดเป็น “ชาดำ” ซึ่งจะช่วยรักษารสชาติและกลิ่นได้ดีกว่าชาเขียว อีกทั้งยังเก็บรักษาได้ดีกว่าหากต้องขนส่งในระยะทางยาวไกล
ทางฝั่งยุโรป เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส ก็ได้แนะนำให้ยุโรปรู้จักกับชาในปีค.ศ.1610 (พ.ศ.2153) และกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม
ทางด้านอังกฤษ ในปีค.ศ.1662 (พ.ศ.2205) “พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (Charles II of England)” ได้อภิเษกสมรสกับ “พระนางแคทเทอรีนแห่งบรากันซา (Catherine of Braganza)” เจ้าหญิงจากโปรตุเกส และหนึ่งในสินสมรสก็มีชาจีนอย่างดีจำนวนหนึ่งหีบ
พระนางแคทเทอรีนแห่งบรากันซา (Catherine of Braganza)
พระนางแคทเทอรีนได้พระราชทานชาให้เหล่าข้าราชสำนักได้ชิม และชาก็กลายเป็นเครื่องดื่มแฟชั่นยอดนิยม
1
กลับมาที่จีน ทางการจีนได้ควบคุมการเพาะปลูกชาอย่างเข้มงวด ซึ่งชานั้นมีราคาแพงและเป็นสิ่งที่สงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง โดยในเวลานั้น ชาเป็นสิ่งที่แสดงฐานะ เหล่าคนร่ำรวยหลายคนได้จ้างให้ศิลปินวาดรูปตนขณะกำลังดื่มชา
“บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company)” บริษัทร่วมทุนสัญชาติอังกฤษ ได้สั่งชาจากจีนเป็นครั้งแรกจำนวน 45 กิโลกรัมในปีค.ศ.1664 (พ.ศ.2207)
แต่การเก็บภาษีหฤโหดตั้งแต่ปีค.ศ.1689 (พ.ศ.2232) เกือบทำให้การค้าต้องตายสนิท หากแต่ทำให้ตลาดมืดนั้นเฟื่องฟู
เหล่าอาชญากรและพวกค้าของเถื่อนได้ทำการนำเข้าชากว่า 3.1 ล้านกิโลกรัมต่อปี นำเข้ามาในอังกฤษอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมากกว่าการนำเข้าชาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมีการนำเข้าเพียงแค่ 2.2 ล้านกิโลกรัมต่อปี
ดังนั้น ในเมื่อมีการนำเข้าชาเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ชนชั้นกลางแม้แต่รากหญ้าก็สามารถดื่มชาได้อย่างง่ายดายกว่าเมื่อก่อน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่ชนชั้นสูงและคนร่ำรวย ทำให้ชาแพร่หลายไปยิ่งขึ้น
แต่ในขณะที่การบริโภคชาในอังกฤษกำลังเติบโต แต่การส่งออกของอังกฤษก็โตไม่ทันปริมาณความต้องการชาในประเทศที่ต้องนำเข้าจากจีน และจีนก็ยอมที่จะขายชาให้โดยแลกกับ “แร่เงิน” เพียงอย่างเดียว ซึ่งนี่คือปัญหาของอังกฤษ
แต่อังกฤษก็หาวิธีการแก้ปัญหาออกจนได้ และวิธีการแก้ปัญหานี้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดกฎหมาย หากแต่ดูจะได้ผลดีอย่างมาก
อังกฤษได้ทำการปลูก “ฝิ่น” ในอาณานิคมอินเดียซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษ และอังกฤษก็จะส่งฝิ่นที่ปลูกในอินเดียนี้ไปขายในจีน แลกกับแร่เงิน และนำแร่เงินที่ได้มานั้นในการซื้อใบชาจากจีน
1
ทางด้านจีนก็เห็นถึงปัญหาการติดฝิ่นของประชากรจีน ทางการจีนจึงสั่งแบนฝิ่น ทำให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และทำให้อังกฤษประกาศสงครามต่อจีนในปีค.ศ.1839 (พ.ศ.2382)
1
จีนก็ได้โต้ตอบด้วยการสั่งห้ามส่งออกชาออกนอกประเทศ และผลของความขัดแย้งที่ยาวนานกว่า 21 ปีซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ “สงครามฝิ่น (Opium Wars)” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1839-1860 (พ.ศ.2382-2403) และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน ทำให้อิทธิพลของตะวันตกแผ่ขยายในจีนอย่างกว้างไกล และนำไปสู่ความวุ่นวายต่างๆ ในเวลาต่อมา
หนึ่งในความเสียหายของจีนที่เกี่ยวข้องกับสงครามฝิ่น ก็คือการที่ใบชาจีนจำนวนมาก รวมทั้งกรรมวิธีการผลิตชาในจีนนั้น ถูกขโมยออกจากจีน โดยผู้ที่ลงมือก็คือ “โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune)” นักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อต ซึ่งได้ขโมยชาออกจากจีนในปีค.ศ.1848 (พ.ศ.2391)
ฟอร์จูนได้ปลอมตัวเป็นพ่อค้าชาชาวจีนเพื่อหาทางขโมยพันธุ์ชาและข้อมูลต่างๆ และก็ได้ก่อตั้งไร่ชาขนาดใหญ่ในอินเดีย
ผลที่ได้ก็คือ เมื่อถึงปีค.ศ.1888 (พ.ศ.2431) ปริมาณการนำเข้าชาจากอินเดียมายังอังกฤษก็สูงกว่าปริมาณนำเข้าชาจากจีนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
โรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune)
เมื่อถึงศตวรรษต่อมา ความนิยมในชาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และจีนก็สามารถเรียกคืนสถานะผู้ส่งออกชาระดับโลกได้ในที่สุด
ในทุกวันนี้ จีนเป็นชาติที่มีการบริโภคชามากที่สุดในโลก ปริมาณการบริโภคชาในจีนนั้นสูงกว่าปีละ 726 ล้านกิโลกรัม และก็มีพันธุ์ชานับพันสายพันธุ์ในจีน
เรียกได้ว่าชานั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์และทำให้เกิดสงคราม รวมทั้งส่งผลต่อการค้าในประวัติศาสตร์อย่างใหญ่หลวง
เรียกได้ว่าใบไม้ใบเล็กๆ นี้เป็นสิ่งที่ทรงพลังมหาศาลเลยทีเดียว
โฆษณา