20 เม.ย. เวลา 05:57 • ข่าวรอบโลก

ทำไมถึงย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ตอนที่ 1

ภาคเริ่มต้น
จีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคนแต่กลับมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะอะไร ?
เพราะคนรุ่นใหม่ของจีนไม่ชอบงานในโรงงาน
สถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างรุนแรง โดยกว่า 80% ของผู้ผลิตในจีนต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไล่ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันกันเลยทีเดียว ซึ่งจำนวนแรงงานที่ขาดหายไปนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 10%-30% ของแรงงานทั้งหมดในบริษัทยักษ์ใหญ่เลยทีเดียว
กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ประเมินว่าภายในปี 2025 จีนจะขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตกว่า 30 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรของออสเตรเลียเสียอีก แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก
ดังนั้นผู้ผลิตในจีนต้องเลือกว่าจะยอมลดผลกำไรของตนลงเพื่อนำไปเพิ่มผลตอบแทนหรือขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงาน หรือลงทุนนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอย่างเช่นเวียดนามหรือว่าอินเดีย
………
ย้อนกลับไปราว 10-20 ปีก่อนหน้านี้ จีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก สินค้ามากมายผลิตขึ้นในจีนแล้วส่งออกกระจายไปยังทั่วโลก ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยหน่วยงานด้านสถิติขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2018 จีนมีสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 28% ของการผลิตทั้งโลกตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่ 17% และญี่ปุ่น 7%
จะเห็นได้ว่าจีนประเทศเดียวก็ครองการผลิตของทั้งโลกไว้เกือบ 30% และทิ้งห่างอันดับสองคือสหรัฐฯถึง 10% ทั้งที่สหรัฐฯ นั้นเคยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนที่จะถูกจีนเติบโตขึ้นมาแทนที่ในปี 2010
คำถามคือ แล้วทำไมไม่ผลิตในประเทศตัวเอง ทำไมต้องย้ายฐานการผลิตไปที่จีน ?
ปัจจัยที่ผลักดันให้ภาคการผลิตของจีนโดดเด่นขึ้นมานั้นจุดสำคัญก็คือ ค่าแรงที่ต่ำ มีการควบคุมตรวจสอบไม่เคร่งครัด เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำและมีค่าเงินที่แข่งขันได้ ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้จีนกลายมาเป็นโรงงานของโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ประเทศอย่างสหรัฐฯ ได้หยุดการลงทุนจำนวนมากในภาคการผลิตของตนเนื่องจากพบว่าการปล่อยให้จีนผลิตนั้นมีต้นทุนต่ำกว่า นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตในจีน ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการล่มสลายของอุตสาหกรรมในประเทศของตนเช่นกัน
………
เมื่อจีนก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่ มีการสร้างโรงงานขึ้นมากมาย ส่งผลให้ GDP ของจีนเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2018 มูลค่าภาคการผลิตของจีนมากถึงเกือบสี่ล้านล้านเหรียญฯ และภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของ GDP ในขณะที่สหรัฐฯ สัดส่วนการผลิตคิดเป็น 11% ของ GDP แต่นั่นก็เป็นเพราะการผลิตส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนด้วย แล้วยังมีประเทศอื่นที่ย้ายฐานการผลิตไปที่จีนหรือมีการไปเปิดสาขาในจีนด้วยเช่นกัน จึงทำให้ตัวเลขภาคการผลิตของจีนโดดเด่นขึ้น
………
เมื่อจีนมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเป็นฐานการผลิตของโลก ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้ามามหาศาลรวมถึงผลกำไรที่งอกงาม จีนได้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นข้อได้เปรียบในการสร้างจุดยืนของตนบนเวทีโลกรวมถึงมิติทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ จีนขยายการค้าไปยังอาฟริกา ลาตินอเมริกาและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ทำให้รับแรงสนับสนุนในการผลักดันนโยบายของจีน โดยเฉพาะอาฟริกาที่จีนมีการลงทุนอย่างมากซึ่งก็เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของจีนเอง
เนื่องจากอาฟริกาเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าจีน จีนมีการให้เงินกู้ช่วยเหลือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและด้านการค้าให้แก่ประเทศในกลุ่มอาฟริกาแล้วประเทศเหล่านั้นก็ให้การสนับสนุนนโยบายจีนเดียวในเวทีโลก รวมถึงจีนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ซึ่งมีการประเมินว่าในไม่ช้าจีนจะนำเข้าน้ำมันจากทั่วโลกมากกว่าสหรัฐฯ
การที่จีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นนั้น ท่าทีที่แสดงออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีไต้หวันรวมถึงข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในทะเลจีนไต้ แล้วยังมีโครงการปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย ล้วนทำให้ประเทศในเอเชียรวมถึงสหรัฐฯ เองตระหนักได้ว่าพลังทางเศรษฐกิจของจีนนั้นส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ
………
Photo by Nuno Alberto on Unsplash
การที่อุตสาหกรรมการผลิตของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตขึ้นอย่างมากจนขึ้นมาเทียบเคียงเป็นคู่แข่งโดยตรงกับสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากเราวัดในแง่ของ PPP หรือ purchasing power parity จีนนำหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดความระแวงต่อกันขึ้นมาไม่มากก็น้อย
ในปี 2019 มูลค่าการส่งออกของจีนสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญฯ โดยปลายทางส่วนใหญ่ก็คือสหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าจีนรายใหญ่ที่สุดเกือบ 20% ซึ่งแน่นอนว่าการนำเข้าสินค้าอย่างมากจากคู่แข่งของตนนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จึงออกมาตรการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มจากจีนสูงถึง 25% ( Section 301 tariffs against China ) การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีต่อจีนนั้นเป็นสาเหตุสำคัญต่อการกำหนดภาษีต่อจีนในครั้งนี้
นอกจากนั้นแล้วในแง่ของความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ ยังออกระเบียบห้ามจีนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ไฮเทคของสหรัฐฯ รวมถึงเข้มงวดกับการลงทุนในต่างประเทศที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล โดยทางจีนมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับจีน
………….
สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 1ใน 5 ของการส่งออกของจีน ซึ่งหากการนำเข้าสินค้าในสัดส่วนดังกล่าวลดลง ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อจีนตามมาในไม่ช้า สิ่งที่สหรัฐฯ กระทำต่อจีนผ่านมาตรการต่าง ๆ ทำให้เกิดการดิสรัปห่วงโซ่อุปทานของโลกและทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของจีนชะลอตัวลง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครที่จะรักษาการขยายตัวไว้ได้เมื่อตลาดส่งออกราว 1 ใน 5 ที่เคยมีหายไป
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ได้ออกมาตรการใหม่ต่อจีนโดยห้ามไม่ให้จีนเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์หรือที่เรียกันว่าชิปที่ทันสมัยรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตชิปโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายชิปที่มีความก้าวหน้าให้กับจีน ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้จีนอาศัยประโยชน์จากพลังการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในสเกลที่ใหญ่และรวดเร็วซึ่งจะทำให้จีนก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วและนั่นทำให้ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตชิปเกิดการหยุดชะงัก
อย่าลืมว่าในอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ชิปคือหัวใจสำคัญในการทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หากไม่สามารถเข้าถึงชิปที่ทันสมัยหรือมีความก้าวหน้าแล้ว การผลิตก็จะเกิดคอขวดและล่าช้าอย่างเห็นได้ชัดและจะส่งผลเสียตามมา
อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ https://herothailand.com/hvlj
…………….
เมื่อมาถึงตรงนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า จีนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้การนำเข้าสินค้าลดลงจากเดิม นอกจากนั้นแล้วยังถูกปิดกั้นการเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่ทันสมัย แล้วยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในโรงงานผลิตสินค้าจากการที่คนรุ่นใหม่วัยทำงานไม่ชอบทำงานในโรงงาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ศักยภาพในภาคการผลิตของจีนถดถอยลงไป
โฆษณา