22 เม.ย. เวลา 05:26 • ประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ “ปอมเปอี (Pompeii)” มีผู้รอดชีวิตหรือไม่?

เหตุการณ์ “ปอมเปอี (Pompeii)” เป็นเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟที่อาจจะเรียกได้ว่าโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้เมืองปอมเปอี ซึ่งเป็นนครโบราณ หายไปในเถ้าถ่าน
1
และถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันว่าวันที่เกิดเหตุนั้นตรงกับวันที่เท่าไรกันแน่ แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าตรงกับวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.79 (พ.ศ.622)
นอกเหนือจากวันที่แล้ว หลายคนยังสงสัยว่ามีชาวเมืองปอมเปอีรอดชีวิตบ้างหรือไม่? หรือว่าตายไปหมดในกองเถ้าถ่านแล้ว
แต่จากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ก็ทำให้พบว่าไม่ใช่ว่าชาวเมืองปอมเปอีจะเสียชีวิตหมดทุกคน
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลองมาดูกันครับ
สำหรับเมือง “ปอมเปอี (Pompeii)” อาจจะไม่ใช่เมืองที่เป็นศูนย์กลางโลกโรมันโบราณ หากแต่ก็เป็นฮับสำคัญของแคว้นคัมปาเนีย (Campania) ดินแดนในบริเวณอ่าวเนเปิลส์
จำนวนประชากรในปอมเปอีนั้นอยู่ระหว่าง 6,400-30,000 คน และยังเป็นดินแดนที่ดึงดูดเหล่าชนชั้นสูงและคนร่ำรวยทั้งหลายให้เข้ามาจับจอง ซื้อที่ดินในดินแดนแถบนี้
สำหรับแคว้นคัมปาเนีย “แผ่นดินไหว” คือสิ่งที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอันที่จริงนั้น ในปีค.ศ.79 (พ.ศ.622) ที่เกิดเรื่อง ปอมเปอีก็กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน ทำให้ตึกและอาคารต่างๆ พังและได้รับความเสียหาย
แคว้นคัมปาเนียในปัจจุบัน
ดังนั้นเมื่อถึงช่วงปลายเดือนสิงหาคม เมื่อพื้นเริ่มมีการสั่นไหวเป็นระยะๆ ผู้คนจึงไม่ได้ตกใจหรือคิดว่าเป็นสัญญาณเตือนอะไร แต่เมื่อถึงวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.79 (พ.ศ.622) ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “ภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius)” น่าจะปะทุแน่
“พลินีคนหนุ่ม (Pliny the Younger)” นักกฎหมายและนักเขียนในยุคโรมันโบราณ มีอายุได้ประมาณ 18 ปีเมื่อเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิด
ในเวลานั้น พลินีคนหนุ่มอยู่กับมารดาและผู้เป็นลุงในวิลลาที่มิเซนุม ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากปอมเปอี และอยู่ห่างจากภูเขาไฟวิสุเวียสไปทางตะวันตกประมาณ 29 กิโลเมตร
ภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius)
เมื่อภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.79 (พ.ศ.622) พลินีคนหนุ่มได้บันทึกว่าตนได้พบเห็นควันและเถ้าถ่านทะลักออกมาจากภูเขาไฟวิสุเวียส
ผู้คนในเมืองปอมเปอีซึ่งอยู่ห่างจากภูเขาไฟประมาณ 10 กิโลเมตร ก็น่าจะเห็นภาพเดียวกัน และหากพวกเขาสังเกตและเอะใจกับการสั่นสะเทือนเมื่อวันก่อนและรีบหนีไป ก็ยังมีโอกาสรอด
เมื่อถึงเวลาบ่าย หินภูเขาไฟก็ตกใส่เมืองปอมเปอีราวกับห่าฝน ทำลายอาคารและคร่าชีวิตชาวเมืองเป็นจำนวนมาก และเมื่อถึงวันต่อมา เมืองปอมเปอีก็ถูกฝังอยู่ใต้เถ้าถ่าน
1
พลินีคนหนุ่มและมารดาก็คือหนึ่งในคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆ อ่าวเนเปิลส์และหนีได้ทัน โดยพลินีคนหนุ่มได้เล่าว่าเสียงกรีดร้องของสตรี เสียงโวยวายของเด็กๆ เสียงตะโกนก้องของบุรุษ ร้องเรียกหาบุตรหลานหรือผู้ปกครอง บ้างก็ร้องเรียกหาสามี
มีการประเมินว่าในปอมเปอี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิดราว 2,000 คน ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าคนอีกเป็นพันอาจจะยังมีชีวิตรอด
แต่ว่าพวกเขาไปอยู่ไหนกันล่ะ?
สถานที่ที่ผู้รอดชีวิตจากปอมเปอีน่าจะไปมากที่สุดก็คือเมืองต่างๆ รอบๆ แคว้นคัมปาเนีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เพื่อนๆ และญาติพี่น้องของผู้รอดชีวิตอาศัยอยู่
บริเวณที่ืคือเนเปิลส์ในปัจจุบันก็น่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้รอดชีวิตไปพักอาศัย โดยมีการพบหลักฐานเป็นอนุสรณ์สถานในโรมาเนียในปัจจุบัน ซึ่งอนุสรณ์สถานนั้นก็สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูทหารที่เสียชีวิต ซึ่งก็มีการระบุว่าทหารเหล่านั้นอาศัยอยู่ในปอมเปอีและนีอาโปลิส (Neapolis) หรือก็คือเนเปิลส์ในปัจจุบัน
หลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้ รัฐบาลโรมันก็ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเหล่าผู้รอดชีวิตจากปอมเปอี โดย “จักรพรรดิทิทัส (Titus)” จักรพรรดิแห่งโรมัน ได้ทรงเข้ามาช่วยเยียวยาประชาชนด้วย
หลังจากที่จักรพรรดิทิทัสทรงทราบข่าวโศกนาฏกรรมปอมเปอี พระองค์ทรงไม่นิ่งเฉย
นอกจากพระราชทานความช่วยเหลือ พระองค์ยังทรงแสดงความห่วงใยประชาชนเหมือนพ่อห่วงลูก มีการส่งข้อความแสดงความห่วงใยจากจักรพรรดิทิทัสไปยังประชาชน และพระราชทานเงินช่วยเหลืออีกจำนวนมาก
จักรพรรดิทิทัส (Titus)
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงสนับสนุนการสร้างที่พักให้เหล่าผู้รอดชีวิตจากปอมเปอี อีกทั้งยังมีรับสั่งให้สร้างวิหารที่อุทิศแด่เทพเจ้าที่ชาวปอมเปอีเคารพบูชา
นี่ก็เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์หนึ่งในอดีต
โฆษณา