21 เม.ย. เวลา 02:59 • ข่าวรอบโลก

“คุณจะยอมสละชีพเพื่อชาติของคุณ?”

การเกณฑ์ทหารเป็นวาระของกลุ่มประเทศร่ำรวย
หลังจากการบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของกองทัพรัสเซีย ประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มกำลังทหารในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เยอรมนี” วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนทหารจาก 182,000 เป็น 203,000 นายภายในปี 2030 “ฝรั่งเศส” วางแผนเรื่องกำลังพลจาก 240,000 เป็น 275,000 นาย “โปแลนด์” คาดว่าจะเกณฑ์เพิ่มอีกมากกว่า 20,000 นายภายในสิ้นปีนี้ หวังจะเพิ่มขนาดกองทัพจากปัจจุบัน 197,000 เป็น 300,000 นายในอนาคตอันใกล้
ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มประเทศในยุโรปเหล่านี้จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ ตามที่ The Economist ได้เขียนบทความเผยแพร่ไว้ชื่อหัวเรื่องว่า “Would you really die for your country?” เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 - อ้างอิง: [1]
เครดิตภาพ: The Critic Magazine
ขณะนี้เจ้าหน้าที่จัดหาทหารใหม่เผชิญกับความยากลำบากหลายประการในการสรรหาอาสาสมัคร เนื่องจากเยาวชนในปัจจุบันไม่ต้องการเข้ารับใช้ในกองทัพ นี่เป็นหลักฐานอย่างน้อย (ทางอ้อม) อ้างอิงจาก World Values Survey (WVS) ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามถูกถามว่า “คุณพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อประเทศของคุณหรือไม่” มีเพียง 36% เท่านั้นของผู้เข้าร่วมการสำรวจที่มีอายุ 16 ถึง 26 ปีที่ตอบว่าใช่ การสำรวจนี้ทำในกว่า 60 ประเทศ (รวมถึงไทยด้วย) ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2022 - อ้างอิง: [2]
The Economist เรียกผลลัพธ์นี้ว่า “เป็นไปตามที่คาดการณ์” โดยอธิบายว่าพลเมืองของกลุ่มประเทศร่ำรวย “ไม่พร้อมที่จะเสียสละตัวเองเพื่อชาติ” คอลัมนิสต์ยังอ้างคำพูดของนักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เฮอร์ฟรีด มุนเลอร์ ซึ่งเรียกสังคมประชาธิปไตยตะวันตกว่า “สังคมหลังยุควีรบุรุษ” ซึ่ง “การรักษาชีวิตตัวเอง” และความเป็นอยู่ส่วนบุคคลถือเป็นคุณค่าสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด
“ประวัติศาสตร์” ยังส่งผลมีอิทธิพลต่อ “ความเต็มใจของประชาชนในการร่วมรับใช้ชาติ” อีกด้วย คอลัมนิสต์ระบุว่า “ในประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ตัวเลขพวกนี้จะต่ำกว่า”
เครดิตภาพ: Adam Smith Institute
อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศร่ำรวยบางประเทศ ระดับความเต็มใจของคนหนุ่มสาวที่จะเข้าร่วมกองทัพยังคงอยู่ในระดับสูง ตัวอย่างเช่น
ในฝรั่งเศส (ไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร) ตอบเต็มใจ 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามของ WVS ตัวเลขนี้ยังมีค่าที่สูงใน “สิงคโปร์” “ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” (กลุ่มนี้บังคับเกณฑ์ทหาร) อีกด้วย ใน “เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน” (กลุ่มนี้มีการเกณฑ์ทหารแบบจำกัดจำนวนคล้ายไทย) ประชาชนสองในสามหรือมากกว่านั้นกล่าวว่าพวกเขาเต็มใจที่จะเข้าร่วมรับใช้กองทัพ ตัวบ่งชี้นี้ได้รับอิทธิพลมาจากการที่ประเทศเหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดกับเขตที่เกิดสงครามหรือมีความขัดแย้ง
นอกจากนี้กองทัพยังต้องเผชิญกับ “อุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจ” ในการสรรหาอาสาสมัคร กล่าวคือ คนหนุ่มสาวเป็นที่ต้องการในหลายสาขาอาชีพ และกองทัพก็ประสบปัญหาในการแข่งขันกับภาคเอกชนในแง่ของการดึงดูดบุคลากร (รายได้และสวัสดิการไม่ตอบโจทย์พวกคนหนุ่มสาว) The Economist ตั้งข้อสังเกตว่าในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2023 อัตราการว่างงานในกลุ่มคนอายุ 15 ถึง 24 ปี ลดลงจาก 22.4% เป็น 14.5%
ภาพโฆษณาของกองทัพเยอรมนีเพื่อจูงใจคนหนุ่มสาวให้อาสาเข้ารับใช้กองทัพ เขียนว่า After school, already planned anything? เครดิตภาพ: WSWS
ท่ามกลางความยากลำบากในการสรรหาอาสาสมัครเข้าร่วมกองทัพ การอภิปรายในสภาของประเทศเกี่ยวกับการกลับมาบังคับเกณฑ์ทหารได้ถูกนำมาถกเถียงในบางประเทศ The Economist อ้างอิงตัวอย่างของประเทศสวีเดน ซึ่งขาดแคลนอาสาสมัครทหาร ทำให้มีการกลับมาใช้วิธีเกณฑ์ทหารอีกครั้งในปี 2018 หลังจากถูกยกเลิกไปหลายปี
ในขณะเดียวกันคอลัมนิสต์ก็ระบุคุณลักษณะหลายประการของ “ระบบเกณฑ์ทหารของสวีเดน” ที่อาจนำไปปรับใช้ให้กับประเทศอื่นๆ ได้ เช่น พลเมืองสวีเดนทุกคนที่มีอายุ 19 ปี จะต้องกรอกแบบสอบถามพิเศษ แต่ส่วนใหญ่จะถูกตัดออกในระหว่างกระบวนการคัดเลือก ดังนั้นจึงมีการคัดทหารเกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดเข้าสู่กองทัพซึ่งทำให้การรับใช้ชาติของพวกเขามีเกียรติมากขึ้น นอกจากนี้ตามที่ทางการสวีเดนระบุ ทหารเกณฑ์ประมาณ 30% ยังคงอยู่ในกองทัพหลังจากเสร็จสิ้นระยะเวลาการเกณฑ์ทหารภาคบังคับแล้ว
การเกณฑ์ทหารในสวีเดน เครดิตภาพ: Government Offices of Sweden / Swedish Armed Forces
อย่างไรก็ตามคอลัมนิสต์ของ The Economist เชื่อว่าจะไม่สามารถฟื้นฟูการเกณฑ์ทหารในประเทศที่การเกณฑ์ทหารถูกละทิ้งไปแล้วได้ “ในสังคมเสรีนิยม ประชาชนส่วนสำคัญมองว่าการรับราชการทหารเป็นงานของคนอื่น การกลับมารับราชการทหารอีกครั้งอาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งในทางการเมืองและในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่อาสาสมัครขาดแคลน ประชาชนรู้สึกแปลกแยกจากกองทัพ”
บทความต้นเรื่องอ้างอิงได้จากลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right Style
21st Apr 2024
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Statista>
โฆษณา