21 เม.ย. เวลา 07:23 • สิ่งแวดล้อม

What is Blue Carbon?

Blue Carbon คืออะไร?
ถ้าจะแปลตรงตัวก็คือคาร์บอนสีฟ้า หรือถ้าจะให้เดาเอาเร็วๆด่วนๆ ก็พอจะเดาได้ใช่ไหมครับ ว่า “บลูคาร์บอน” ที่ว่า เป็นคาร์บอนที่เกี่ยวข้องอะไรกับทะเลแน่ๆ
ที่มาของภาพ: https://carboncredits.com/the-ultimate-guide-to-understanding-carbon-credits/#12
ใช่ครับ “บลูคาร์บอน” หมายถึง คาร์บอนที่กักเก็บไว้ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง หรือตัวอย่าง เช่น ป่าชายเลน ทุ่งหญ้าทะเล ปะการัง ทุ่งสาหร่าย และพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งระบบนิเวศที่กล่าวมาข้างต้นเนี่ย มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ โดยจะถูกเก็บไว้ในรูปของตะกอนอินทรีย์ และในส่วนต่างๆของพืชทะเล
เชื่อไหมครับว่า ระบบนิเวศชายฝั่งที่มีพื้นที่เพียง 2% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึงร้อยละ 50 คาร์บอนทั้งหมดในชั้นตะกอน หรือคิดเป็น 75 กิกะตันคาร์บอน (75 พันล้านตันคาร์บอน) เทียบได้กับปริมาณคาร์บอนที่ปลดปล่อยจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 8 ปีเลย
แถมมีผลการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบนบกถึง 4 เท่า แถมยังสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้นานกว่าป่าเขตร้อนถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
ที่มาของภาพ: NOAA Climate.gov, graphic adapted from original by Sarah Battle, NOAA Pacific Marine Environmental Laboratory.
การที่จะเคลมเครดิตจากบลูคาร์บอน ก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฟื้นฟูป่าชายเลน การปกป้องแนวปะการัง ทุ่งหญ้าทะเล และการจัดการการประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ในการกักเก็บคาร์บอนแล้วยังมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากระบบนิเวศชายฝั่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กด้วย ยังไม่หมดนะ ระบบนิเวศดังกล่าวยังช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และลดความรุนแรงของคลื่นเมื่อเกิดพายุได้อีกต่อหนึ่ง
เพราะประโยชน์ที่มีหลายต่อ บลูคาร์บอนเลยถูดจัดว่าเป็นคาร์บอนเครดิตประเภทพรีเมียม ราคาเครดิตก็เลยได้สูงกว่าโปรเจ็คประเภทอื่น โดยมีราคา $13 ถึง $35 ต่อตันคาร์บอน (จากข้อมูลของ S&P Global)
หรือจากรูปภาพด้านล่างที่เทียบกับราคาเครดิตตามกรอบ REDD+ ที่เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา
ที่มาของภาพ: https://www.opisnet.com/blog/high-costs-geopolitical-risks-blue-carbon/
ซึ่งเม็ดเงินที่ได้จากการสนับสนุนโครงการบลูคาร์บอน ส่วนหนึ่งก็จะกลับคืนไปสู่ชุมชนเพื่อฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับท้องถิ่น พร้อมไปกับการสร้างความยั่งยืน
ติดตามสาระความรู้ อัพเดตเทรนด์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ที่ “มิวอัลฟ่า” ครับ
#uAlpha #bluecarbon #carboncredits #Sustainable
โฆษณา