23 เม.ย. เวลา 02:32 • ประวัติศาสตร์

สาเหตุของ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)”

ผมเคยเขียนเรื่องราวของเหตุการณ์ “เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)” ซึ่งเป็นเหตุการณ์เศรษฐกิจล่มสลายที่แผ่เป็นวงกว้างไปทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) และส่งผลกระทบกับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวอเมริกัน
หากเปรียบเทียบกันแล้ว ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำถึงจุดพีคในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) มีชาวอเมริกันกว่า 25.6% หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งสหรัฐอเมริกา ไม่มีงานทำ
หากเปรียบเทียบกับช่วงการระบาดหนักๆ ของโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) พบว่าในปีนั้นมีชาวอเมริกันตกงานเพียง 14.7% เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าช่วงโควิด-19 ยังไม่แย่เท่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เลย
อันที่จริง ผมเคยเขียนซีรีส์และบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไว้แล้ว แต่สำหรับบทความนี้ จะลองมาวิเคราะห์สาเหตุของเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นี้ดู
ลองมาดูกันครับ
1.ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) สหรัฐอเมริกาได้ฟื้นตัวจากความบอบช้ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ทั้งไร่นาและโรงงานต่างๆ กลับมาคึกคัก เร่งผลิตผลผลิตออกสู่ตลาด หากแต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางอย่างในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเหล่าผู้บริโภคมักจะซื้อสินค้าต่างๆ โดยระบบเครดิต ได้ของวันนี้ จ่ายเงินวันหน้า
ถึงแม้ว่าการซื้อขายแบบนี้จะสร้างฐานะที่มั่งคั่งร่ำรวยให้ผู้ผลิตและเจ้าของธุรกิจ แต่ก็ทำให้ธุรกิจอยู่ในความเสี่ยง อีกทั้งสหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้ากับชาติอื่นๆ
2.การลงทุนที่ผิดพลาด
ยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) เป็นยุคที่เศรษฐกิจบูม และทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าหากตนนั้นใจกล้าบ้าบิ่นพอ หากลงทุนได้ถูกที่ถูกเวลา ตนก็จะกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน
1
นั่นจึงทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากถูกหลอกขายหรือหลอกให้ลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งหลายๆ ธุรกิจก็เป็นเพียงการหลอกลวง หลอกเหล่านักตกทองที่หวังจะรวยเพียงชั่วข้ามคืน
แต่การลงทุนที่เสี่ยงที่สุดนั้นก็คือการลงทุนใน “ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท (Wall Street)” ซึ่งเป็นตลาดหุ้นสำคัญในสหรัฐอเมริกา
1
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท (Wall Street)
นักลงทุนมักจะลงเงินแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อาจจะแค่ 10% ของราคาหุ้น ส่วนเงินที่เหลือก็ไปกู้ยืมมา และหลักทรัพย์ค้ำประกันก็คือตัวหุ้นนั้นนั่นเอง
ด้วยภาวะการณ์เช่นนี้ทำให้การซื้อขายหุ้นคึกคักอย่างมาก และเหล่าโบรกเกอร์ก็กินค่าคอมมิชชั่นอย่างสนุกสนาน
แต่แล้วฟองสบู่ก็แตกจนได้ โดยเมื่อถึงวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) หรือที่รู้จักกันในนาม “วันจันทร์ทมิฬ (Black Monday)” ดัชนีดาวโจนส์ก็ลดลงเกือบ 13% ในเวลาเพียงหนึ่งวัน
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายที่ทำลายมูลค่าหุ้นดาวโจนส์เกือบทั้งหมดในเวลาเพียงเดือนเดียว และเมื่อถึงปีค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) บริษัทมหาชนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาก็มีมูลค่าบริษัทลดลงกว่า 89%
เหล่านักลงทุนต่างหมดตัว และบริษัทเองก็ไม่รู้จะหาเงินมาจากไหนเพื่อประคับประคองกิจการ
สิ่งที่ตามมาคือเหล่าธนาคารเองต่างก็ตื่นกลัว ครอบครัวต่างๆ ต่างล้มละลาย และตัวเลขผู้ตกงานก็เพิ่มขึ้นมหาศาล
3.ความผิดพลาดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
“ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve System)” ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) และมีหน้าที่รับประกันความมั่นคงของเศรษฐกิจชาติด้วยการควบคุมปริมาณเงินตรา
หากแต่นโยบายของสถาบันเกิดใหม่แห่งนี้นอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้แล้ว ยังอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมอีกด้วย
ในระหว่างปีค.ศ.1921-1929 (พ.ศ.2464-2472) ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจนั้นเพิ่มสูงขึ้น 67% ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง และทำให้ผู้คนกู้ยืมเงินมากขึ้น และลงทุนเกินตัว
1
ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve System
โดยปกติแล้ว การลงทุนด้านการเงินมากเกินไปจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น หากแต่นโยบายด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น
แต่แล้วในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) บอร์ดผู้บริหารธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็กังวลกับสถานการณ์ที่เริ่มจะควบคุมไม่ได้ และยอมเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
ดูเหมือนวิธีแก้ปัญหานี้จะได้ผลไม่นานนัก เนื่องจากการกระทำของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกากลับทำให้ตลาดซบเซาอย่างหนัก
1
4.มาตรฐานทองคำ
ในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) สหรัฐอเมริกาก็เป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ นั่นก็คือยังคงอิงค่าเงินกับมาตรฐานทองคำ
แต่หลังจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทล่ม เหล่านักลงทุนก็เริ่มจะแลกเงินกับทองคำ เริ่มเก็บทองคำมากกว่าเงินสด
ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาก็รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษามูลค่าเงินดอลลาร์ หากแต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นก็ทำให้ธุรกิจต่างๆ กู้ยืมเงินมาลงทุนได้ลำบาก และทำให้ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวลงในที่สุด
นี่ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอันที่จริง สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้นยังมีอีกมากมายหลายข้อ แต่ที่ยกมานี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นครับ
และไม่ว่าอย่างไร ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์โลกและเป็นบทเรียนมาจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา