23 เม.ย. เวลา 14:00 • ธุรกิจ

‘BIG4’ รายได้หด คิดไล่คนออก สิ้นสุดยุคทอง ‘บริษัทที่ปรึกษา’ ? เศรษฐกิจแย่ นายทุนพึ่งเอไอแทน

ถึงจุดอิ่มตัว “พรายกระซิบผู้บริหาร” ? ใกล้จบยุคทองบริษัทที่ปรึกษา “BIG4” จับมือ “BIG3” ติดโผด้วย สื่อนอกชี้ รายได้ลด-เติบโตชะลอตัว เผชิญแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ การลงทุนที่ผิดแผน เศรษฐกิจซบเซา-นายทุนพึ่งเอไอแทน
แม้ว่าบริษัทให้คำปรึกษาจะผ่านวิกฤติมาหลายต่อครั้ง ยืนหยัดมาได้นานเฉียดร้อยปี แต่ครั้งนี้ดูจะต่างออกไป เมื่อสำนักข่าว ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ระบุว่า
ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์จะทวีความซับซ้อนมากขึ้น ที่ผ่านมา “Consulting Firms” เหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ จากเดิมที่ธุรกิจตั้งรกรากแถบอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก เมื่อเทคโนโลยีเติบโต การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงโครงข่ายถึงกัน ธุรกิจก็สามารถขยายอาณาจักรออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้กว่าร้อยแห่ง โดย “Deloitte” เป็นบริษัทที่มีสาขามากที่สุด กระจายตัวไปแล้ว 150 ประเทศทั่วโลก
สาเหตุสำคัญมาจากการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้ยักษ์ธุรกิจหลายแห่งปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างที่ปรึกษา รวมถึงกลยุทธ์ “M&A” (Mergers & Acqusitions) หรือการควบรวมกิจการที่น้อยลง ทำให้ธุรกิจที่ปรึกษาถูกลดบทบาทไปโดยปริยายด้วย ตามรายงานข่าวระบุว่า “Bain” และ “Deloitte” ยอมจ่ายเงินเพื่อเลื่อนการรับบัณฑิตใหม่เข้าเป็นพนักงานประจำ ส่วนในภาพรวมของ “BIG4” ก็มีการลดจำนวนทีมที่ปรึกษาลง
ตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 พบว่า “BIG4” มีการเลิกจ้างพนักงานรวม 9,000 ตำแหน่ง รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า ความต้องการงานที่ปรึกษาลดลงเรื่อยๆ จากค่าธรรมเนียมราคาสูง สวนทางกับเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว “BIG4” จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับงานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและบริการวิเคราะห์ข้อมูลแทน เนื่องจาก มีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าในยุคที่เอไอเริ่มเข้ามาทดแทนงานที่ปรึกษาแบบเดิมแล้ว
1
นอกจากนี้ เมื่อโลกเข้าสู่ยุค “แบ่งขั้ว” สหรัฐและจีนกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนร้าย ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาจึงนำมาซึ่งความอึดอัดใจไม่น้อย ปรากฏว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา “Urban China Initiative” กลุ่มคลังสมองใต้ร่ม “McKinsey & Company” ซึ่งรับหน้าที่หัวหอกในการกำหนดแผน “Made in China 2025” โดยรายละเอียดของแผนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศ
ฟังแบบนี้แล้วก็คงพอจะเดาออกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป แม้ว่าการกำหนดแผนการจะเกิดขึ้นภายใต้ทีมแมคคินซีย์ประเทศจีน แต่บริษัทแม่ที่ปกคลุมไปด้วยธงอเมริกาก็ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เนื่องจาก “Made in China 2025” เป็นการวางแผนเพื่อให้จีนก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมระดับโลกแทบทุกแขนง ตั้งแต่ระบบคลาวด์ รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงเอไอ ซึ่งจะมีผลทำให้จีนเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตได้อีกมหาศาล
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ (Financial Times) ระบุว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือในหนังสือ “Made in China 2025” ยังมีคำแนะนำให้จีนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศเพิ่มเติม เพื่อลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามจากต่างชาติได้ในที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันก็พบว่า แมคคินซีย์เซ็นสัญญาเพนตากอนทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐด้วย
ทั้งหมดจึงนำมาสู่การตั้งคำถามของสมาชิกสภานิติบัญญัติอมริกันบางราย ที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอเมริการะงับสัญญากับแมคคินซีย์เป็นเวลา 12 เดือน พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดแมคคินซีย์จึงให้คำแนะนำกับต่างชาติที่เป็นศัตรูกับประเทศ รับเงินจำนวนมหาศาลจากจีน และขณะเดียวกันก็ยังได้รับค่าจ้างจากสหรัฐด้วย
ไม่ใช่แค่ฝั่งสหรัฐ แต่จีนเองก็เริ่มส่งสัญญาณว่า กำลังบีบบริษัทต่างชาติออกจากพื้นที่อยู่กลายๆ เช่นกัน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีบริษัทที่ปรึกษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อปลายปี 2566 กลับพบว่า
1
หนึ่งในเจ้าหน้าที่สำนักงานเซี่ยงไฮ้ของ “Bain” ถูกทางการจีนเรียกสอบสวนโดยไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้เข้าตรวจสอบการทำงานของ “PwC” ที่ “Evergrande” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนรายใหญ่ที่ยื่นล้มละลายไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของ PwC ต่อไปในอนาคต
1
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี “Generative AI” ยังทำให้ยักษ์ธุรกิจหลายแห่งหันมาพึ่งพาเครื่องมือซอฟต์แวร์แทนการจ่ายค่าที่ปรึกษาราคาสูง แหล่งข่าวบิ๊กคอร์ปรายหนึ่งระบุว่า บริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินเป้าหมายบริษัท รวมถึงงานอื่นๆ ที่บริษัทที่ปรึกษาเคยใช้เวลาร่วมหลายชั่วโมงในการทำงาน อาทิ การรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของบริษัท ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเองเองเพียงการคลิกแค่ครั้งเดียว
แต่ถึงอย่างนั้นบริษัทที่ปรึกษาก็ไม่ได้นิ่งดูดาย พวกเขารู้ดีว่า กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบใด ด้าน “Bain” ได้ออกแบบเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะของบริษัท ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า “Web Scraping” ซึ่งเป็นเทคนิคดึงข้อมูลจากเว็บไซต์เพื่อนำไปวิเคราะห์ตามจุดประสงค์ต่างๆ ที่ผู้ใช้งานต้องการ “McKinsey & Company” เปิดตัวบอทที่มีชื่อว่า “Lilli” ทำหน้าที่คล้ายกับ “ChatGPT” ได้รับการฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคลังข้อมูล เฟรมเวิร์ก และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เป็นต้น
ลูกค้าส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่เทคโนโลยีเอไอที่เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตมากขึ้น มองว่า หากธุรกิจวิ่งตามไม่ทันก็อาจสูญเสียโอกาสบางอย่างไปได้ หลังจากนี้เราจะได้เห็นการปรับตัวของบริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่อีกหลายระลอก ความร่วมมือกับฝั่งเทค คอมพานี อย่างไมโครซอฟท์ หรือ “OpenAI” จะเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น
อ่านต่อ:
โฆษณา