23 เม.ย. เวลา 08:50 • การเกษตร
จังหวัดโอะกินะวะ

“จ๊อปิแนว” บันทึกปกาเก่อเญ่อพลัดถิ่นในดินแดนอาทิตย์อุทัย

ตอนที่ 13 ‘HANEJI Farm’ เพื่อนกับฟาร์มแพะ
ผมได้รู้จักกับเพื่อนใหม่คนหนึ่งในงานปาร์ตี้ของชุมชนคนเลี้ยงแพะ พวกเราได้เจอกันโดยบังเอิญในยามค่ำคืนหลังจากเลิกงานกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยวิถีผู้คนที่ชื่นชอบในรสชาติของสุรา จึงได้ทำให้ผมกับเพื่อนได้รู้จักกับเขาครั้งแรกในค่ำคืนวันนั้น ซึ่งเขามีนามว่า…คุณชินยะ โคอิเดซัง
.
ด้วยค่ำคืนที่มีเวลาอันน้อยนิด จึงทำให้พวกเรามีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพียงเล็กน้อย จากคนที่ขี้อายตอนแรก ๆ แต่พอได้ลิ้มรสชาติของสุราญี่ปุ่นเข้าไปแล้ว จึงทำให้พวกเรามีความสนิทกันมากขึ้นทันที
จากที่ต่างฝ่ายต่างฝ่ายได้เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้กันและกันฟัง กระนั้นสำหรับคุณชินยะ โคอิเดซัง นั้นก็ได้เล่าถึงงานและอาชีพที่เขาทำอยู่ ณ ตอนนี้ ซึ่งเป็นงานที่เขาชื่นชอบและให้ความสนใจในงานที่เขาทำอยู่มาก เป็นอาชีพอิสระที่ตัวเองคิดว่าต้องอาศัยอยู่กับสัตว์และให้น้ำให้อาหารในทุก ๆ วัน ซึ่งอาชีพนั้นก็คือ “อาชีพการเลี้ยงแพะ”
จากเดิมทีเขาเองไม่ใช่คนที่ชอบคลุกคลีกับสัตว์มากเท่าไหร่ แต่พอได้เจอฟาร์มแพะแห่งนี้แล้วเขาก็เริ่มทำความรู้จักและเรียนรู้กับการอยู่กับสัตว์ และหลงใหลในความเป็นนักดูแลสัตว์มากขึ้นตามไปด้วย
ฟาร์มแพะที่นี่ยังอยู่พื้นที่ที่มีผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นฟาร์มที่มีชื่อเสียงในละแวกนี้ และต่างเมืองอีกด้วย
.
ผมรู้มาว่าในญี่ปุ่นนั้น สัตว์อย่างแพะราคาค่อนข้างสูงพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับแพะบ้านเรา..โดยราคาเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ประมาณ 40000 เยน ตีเป็นเงินไทยได้ประมาณ 9,000 กว่าบาททีเดียว ซึ่งตัวเมียนั้นราคาจะแพงกว่าตัวผู้ และลูกค้าส่วนใหญ่รับชื้อเพื่อขยายพันธุ์ต่อ หรือบางคนรับเลี้ยงเพื่อทำการขายต่อก็ได้เช่นกัน
แต่บอกเลยแพะที่นี่ดูเหมือนวีธีการเลี้ยงดูง่ายมาก แต่ว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด! เพราะว่าฟาร์มแพะฮาเนจินั้น ได้มีการควบคุมเรื่องอาหารของแพะ เนื่องจากเป็นการรักษาสุขภาพของแพะเพื่อให้อยู่ในระดับสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพกับขนาดตัวที่พอเหมาะ และการให้อาหารที่เป็นระบบอาหารบางชนิด บางเวลา เพื่อให้มีรสชาติของแพะที่ไม่มีกลิ่มคาวเหมือนกับแพะที่อื่น ๆ
ฮาเนจิฟาร์ม เป็นฟาร์มแพะในชุมชนของพื้นที่แถวนี้ หรือทางชุมชนคนแถวนี้มีชื่อเรียกว่า “ชุมชนฮาเนจิ” เจ้าของฟาร์มแพะจึงได้ตั้งชื่อตามชุมชนพื้นที่อยู่แห่งนี้เลย
.
มีคำบอกเล่าจากของเจ้าของฟาร์มว่า เดิมทีฟาร์มแห่งนี้มีจำนวนผู้เลี้ยงดูแพะแค่คนเดียวกับ แพะ 4 ตัว ไก่ 1 ตัว โดยเจ้าของไม่ได้คิดจริงจังที่จะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก แต่พอเลี้ยงไปสักพักก็รู้สึกสนใจในการเลี้ยงแพะมากขึ้น จึงมีการหาสายพันธุ์แพะจากที่อื่น เพื่อมาผสมกับฟาร์มของตัวเอง ตอนนี้มีสายพันธุ์แพะมากถึง 3 สายพันธุ์แล้ว
ส่วนตัวผมกับเพื่อนคุณชินยะ โคอิเดซัง หลังจากเลิกงานรื่นเริงปาร์ตี้คืนนั้น ผมได้นัดหมายกับเพื่อนว่าจะไปเยี่ยมชมฟาร์มแพะของเขา เพื่อไปดูเรื่องราวและวิถีชีวิตการเลี้ยงแบบสไตล์คนญี่ปุ่นซึ่งมีอะไรที่ต่างจาก ชุมชนของเราไหม ?
วันอาทิตย์ต่อมาผมได้วางแผนการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมหาเพื่อนตามที่นัดหมายเอาไว้ ซึ่งการเดินทางไม่ได้ไกลมาก แต่ว่าสิ่งที่ควรทำก่อนการนัดหมายคนญี่ปุ่นนั้นก็คือ “เวลา” ซึ่งเวลานัดหมายคนญี่ปุ่นนั้น คือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะยุ่งกับงานของตัวเอง หากมีการนัด จะต้องนัดล่วงหน้าก่อนเป็นอาทิตย์ เพื่อให้ทราบว่าเขาสะดวกหรือเปล่า และอีกอย่างควรไปให้ตรงเวลาตามที่นัดเอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของที่นี่
ในวันนั้น ผมได้นัดเพื่อนให้พบกันในฟาร์มของเขาในเวลา 9.00 น. ของวันนั้น ซึ่งจากที่พักอาศัยของผม ได้ออกเดินทางโดยการปั่นจักรยานไปประมาณ 20 นาที และพอไปถึงฟาร์มแพะแล้ว ผมก็ได้เห็นเพื่อนอยู่ในฟาร์ม เขาก็กำลังให้อาหารแพะของเขาใกล้เสร็จแล้วเช่นกัน
.
ผมรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก จากที่จะได้เห็นเรื่องราวที่เป็นความจริงของฟาร์ม ด้วยวิธีการเลี้ยงแพะในสไตล์คนญี่ปุ่น
พอมาถึงผมได้พูดคุยกับเพื่อนสักพักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะนำผมไปชมแพะในฟาร์มของเขา และพาไปชมสายพันธุ์แพะว่าเป็นสายพันธุ์อะไรบ้าง แพะแต่ละตัวมาจากที่ไหน อีกอย่างเมื่อไม่กี่วันนี้ มีลูกแพะที่เกิดใหม่อีกด้วย น่ารักมาก
.
พอเดินชมแพะทุกตัวเสร็จแล้ว เพื่อนก็ได้พาผมไปดูไก่ต่อ ซึ่งเสียดายที่ตอนนี้ในฟาร์มมีไก่แค่ตัวเดียว แต่ก็ยังดีที่ว่าก่อนหน้านี้ เพื่อนยังบอกว่าเขาได้เก็บไข่ไก่ทุกวัน ไก่ของเขาออกไข่ให้เขาได้ทานตลอด ซึ่งหลังจากนั้นถึงเวลาที่เพื่อนบอกจะต้องป้อนอาหารแพะอีกครั้ง
ในการให้อาหารนั้นมีอยู่หลัก ๆ 3 อย่าง, สิ่งแรกก็จะเป็นหญ้าสด แต่ต้องเป็นหญ้าสดที่ตัดทิ้งไว้หนึ่งคืน ส่วนเป็นเพราะอะไร เขาอธิบายว่าเนื่องจากหญ้าสดนั้น ก็จะมีหนอนหรือแมลงอาศัยอยู่ หากให้แพะทันทีนั้นอาจทำให้แพะป่วยได้ ซึ่งจะต้องมีการตากทิ้งไว้ก่อนให้แพะได้กิน
.
อย่างที่สอง ก็จะเป็นอาหารผสม มีทั้งข้าวโพด แกลบ ข้าว และรำข้าวมาผสมกัน เพื่อให้เป็นอาหารด้านโปรตีนให้กับแพะกินอีกด้วย นับเป็นการสร้างไขมันให้กับแพะแต่ไม่เกินปริมาณที่เกินเลย
อีกอย่างก็จะเป็นต้นข้าวโพด ตัดแห้งแต่เป็นชิ้นเล็กเพื่อให้แพะเป็นกินอาหาร สลับกับหญ้าสด หรือในเวลาหญ้าสดไม่มี ก็จะให้หญ้าแห้งแทน โดยคร่าว ๆ ก็จะมีสามอย่างนี้ในการให้อาหารของฟาร์มที่นี่
.
นับว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ต่างแดนที่ปกาเก่อเญ่อผลัดถิ่นคนหนึ่งได้ไปเจอเพื่อนใหม่คือคุณ ชินยะ โคอิเดซัง และมีโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มแพะที่เรียกว่า “ฟาร์มแพะฮาเนจิ” เมืองนาโกะ จังหวัดโอกินาวา
ผมรู้สึกประทับใจอย่างมาก เนื่องจากคนญี่ปุ่นไม่ถือตัว เป็นกันเอง ไม่ได้มีท่าทีรังเกียจที่ผมเป็นคนต่างชาติ รวมถึงยังเป็นคนชาติพันธุ์ แต่พวกเขาให้ความรู้สึกว่าผมเป็นเพื่อน และไม่ได้เป็นคนอื่นคนไกลแต่อย่างใด
ผู้เขียน : พงศธร แสงกระจ่างชื่น
โฆษณา