25 เม.ย. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมเศรษฐกิจรัสเซียถึงเติบโตได้ดี แม้จะถูกคว่ำบาตร?

เมื่อครั้งที่เริ่มเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ตามมาด้วยการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาประเทศทางฝั่งตะวันตก คงทำให้หลายคนคิดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะต้องถึงคราวอวสานแล้วแน่ๆ แต่จากรายงานล่าสุดของ IMF กลับออกมาผิดคาด…
ทาง IMF คาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจของรัสเซียน่าจะเติบโตได้รวดเร็วที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว โดยคาดว่าจะโต 3.4% สูงกว่าสหรัฐฯ (2.7%) สหราชอาณาจักร (0.5%) เยอรมนี (0.2%) และฝรั่งเศส (0.7%)
การคาดการณ์นี้น่าจะสร้างความกังวลและความไม่พอใจให้แก่ประเทศตะวันตกที่พยายามโดดเดี่ยวรัสเซียและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่น้อย ว่าเหตุใดมาตรการคว่ำบาตรที่คนคิดว่าเป็นยาแรงในการหยุดสงคราม ผลลัพธ์จึงกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้
ทำไมเศรษฐกิจรัสเซียถึงเติบโตท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตร?
การแทรกแซงอุตสาหกรรมที่สำคัญจากชาติตะวันตก ทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภายในประเทศก็ยังคงมีความยืดหยุ่น
ในขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังประเทศอินเดียและจีนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร และราคาน้ำมันที่สูง ทำให้รัสเซียสามารถกอบโกยรายได้จากการส่งออกน้ำมันอย่างแข็งแกร่ง
กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหารของรัสเซียได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสงคราม เนื่องจากการใช้จ่ายและการผลิตในด้านกลาโหมพุ่งสูงขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือรัสเซียได้ปรับตัวเข้ากับ “ความปกติใหม่” เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม
ความท้าทายต่อเศรษฐกิจแดนหมีขาว
อย่างไรก็ตามการเติบโตนี้ก็อาจจะไม่ได้ยั่งยืนนัก IMF คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียน่าจะเริ่มชะลอตัวลง ในปี 2025 โดยจะลดลงเหลือ 1.8% เนื่องจากผลจากการลงทุนที่สูง และการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการที่ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวนั้นค่อยๆ จางหายไป
1
นอกจากนี้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงต้องเผชิญกับแรงต้านที่สำคัญ…
ทางคุณ Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ชี้ว่า สิ่งที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียบอกเราก็คือ เศรษฐกิจสงครามซึ่งรัฐมีตัวกันชนที่ค่อนข้างใหญ่อันสั่งสมมาจากวินัยการคลังหลายต่อหลายปี ได้กำลังถูกนำไปใช้ในเศรษฐกิจสงครามนี้
หากเราลองมองดูเศรษฐกิจรัสเซีย จะพบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นในส่วนของการทหาร และการบริโภคลดลง ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคย เหมือนกับเมื่อครั้งสหภาพโซเวียต คือมีการผลิตเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคกลับลดลง
นอกจากนี้รัสเซียยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพของแรงงานที่มีทักษะ และการเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยลงเนื่องจากการถูกคว่ำบาตร
ทางผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศรัสเซียก็มองเห็นว่าการผลิตในประเทศอาจจะเจอกับข้อจำกัดเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน แม้ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตได้อย่างสวยงามก็ตาม
ส่วนทางด้านนโยบายการเงิน ก็เริ่มเห็นถึงสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของรัสเซีย ซึ่งในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 7.7% และคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังเร็วเกินไปที่จะรีบลดอัตราดอกเบี้ย
จึงคาดว่ารัสเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้อยู่ที่ 16% ในการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 26 เมษายน นี้
.
.
การกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ของคุณวลาดิเมียร์ ปูติน ในครั้งนี้ เขาได้ให้คำมั่นว่าจะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนรัสเซีย เพิ่มงบประมาณทางด้านการศึกษา หากทำได้จริง รัสเซียอาจจะสามาารถแก้ปัญหาความท้าทายที่เศรษฐกิจต้องเผชิญได้ แต่หากทำไม่ได้จริง เศรษฐกิจรัสเซียก็คงจะไม่สามารถผงาดขึ้นไปเหนือชาติอื่นๆ ได้ง่ายนัก
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference
โฆษณา