เจดีย์นักเลง ที่ถนนยังต้องยอมหลบ

พระนครศรีอยุธยา เคยเป็นราชธานีของสยามประเทศไทย จึงมีวัดวาอารามเก่าแก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุมากมาย แต่ด้วยความเจริญของเมืองที่ขยายมากขึ้นเข้ามา ทำให้มีการสร้างถนนตัดผ่านเป็นเหตุให้โบราณสถานหลายแห่งถูกทำลาย แต่มีโบราณสถานแห่งหนึ่งที่อยู่ใจกลางเมืองอยุธยาและรอดพ้นจากการถูกทำลายจากการสร้างถนนไปได้อย่างหวุดหวิด โบราณสถานที่ว่า คือ เจดีย์วัดสามปลื้ม
3
เจดีย์วัดสามปลื้ม ตั้งอยู่กลางวงเวียนทางเข้าเมืองด้านทิศตะวันออก ก่อนจะขึ้นสะพานปรีดี และสะพานนเรศวร ข้ามแม่น้ำป่าสักทางที่จะมุ่งเข้าสู่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ที่ตั้งตะหง่านบนเกาะวงเวียนกลางถนนใจกลางเมือง ตัวองค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานแปดเหลี่ยม ก่ออิฐไม่สอปูน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยอโยธยา
1
นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะถูกสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเจดีย์วัดสามปลื้มสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าแม่ดุสิต (บัว) มารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาปาน (ปาน) ซึ่งเป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดีใจที่ลูกชายไปรบแล้วชนะศึกกลับมาแล้วได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จึงได้สร้างเจดีย์วัดสามปลื้มขึ้นมา
2
เดิมทีรอบๆ องค์เจดีย์จะเป็นพื้นที่ของวัดสามปลื้มมีโบราณสถานส่วนอื่นอยู่ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญได้ขยายเข้ามา มีการสร้างถนนตัดใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้โบราณสถานเก่าแก่หลายแห่งต้องถูกทำลายไม่ว่าจะเป็นวัดแม่นางปลื้ม วัดแม่ย่า และวัดเจดีย์วัดสามปลื้มก็เช่นกัน ที่ปัจจุบันส่วนอื่นๆ ของวัดถูกทำลายเพื่อสร้างถนนไปหมดแล้ว
4
ซึ่งตอนแรกแผนผังการตัดถนนจำเป็นที่จะต้องรื้อถอนเจดีย์ออกและสร้างถนนทับด้วย แต่ว่าได้มีกลุ่มนักเลงไม่เห็นด้วย จึงได้ประท้วงออกไปคัดค้านการรื้อถอนของเจดีย์องค์นี้ สุดท้ายการก่อสร้างจึงได้ตัดถนนอ้อมตัวเจดีย์แทน ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเจดีย์วัดสามปลื้มว่า “เจดีย์นักเลง” มานับแต่นั้น ทั้งนี้ตัวเจดีย์วัดสามปลื้มเคยได้รับการบูรณะครั้งหนึ่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486
3
เจดีย์วัดสามปลื้ม นับเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งตระหง่านกลางเมืองจนถนนยังต้องหลบให้ อันเป็นโบราณสถานล้ำค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของสยามประเทศในอดีตที่เราสามารถไปเรียนรู้ศึกษาได้ครับ
4
โฆษณา