26 เม.ย. เวลา 05:35 • การเมือง

เสนอแก้ พ.ร.บ.สภากลาโหม "สกัดรัฐประหาร" หรือ ทำรัฐบาลเศรษฐาอายุสั้น?

แทบเรียกได้ว่า เป็นประเด็นร้อนแทบเพียงข้ามคืน เมื่อจู่ๆ เป็นที่จับตา ข้อเสนอ ที่ว่ากันว่า เพื่อวัตถุประสงค์ สกัด"ปฏิวัติรัฐประหาร" ถูกจุดพลุขึ้นมา ในห้วงข่าวการปรับ ครม.เศรษฐา 2 กำลังดังกระหึ่ม
คอการเมืองหลายคนอาจสงสัย ทำไมประเด็นดังกล่าวถึงผุดขึ้นมา ยิ่งอยู่ในช่วงฝุ่นตลบการปรับครม.รัฐบาลเศรษฐา ที่ตอนแรกต้องยอมรับว่า ชื่อเจ้ากระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน อย่างนายสุทิน คลังแสง หลุดโผไปค่อนข้างแน่
แต่ก็น่าคิด ไม่รู้ประจวบเหมาะหรือไม่ เมื่อมีประเด็นแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหมปรากฎขึ้นมา ชื่อของนายสุทิน ที่ตอนแรกมาแรงว่าจะหลุดจากตำแหน่ง กลับไปทำงานในสภา เข้าใกล้นาทีสุดท้ายเสียงเริ่มแผ่วหายไป อย่างไม่น่าเชื่อ
เรื่องนี้ แท้จริงเป็นอย่างไร ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้โอกาสไปสัมภาษณ์พิเศษ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกลาโหม ฝ่ายการเมือง ที่เป็นพลเรือนเต็มขั้นคนแรก ที่ได้มาทำงานในตำแหน่งนี้
★ เสนอแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม 2551 น่าสงสัยเหตุใด ทำไมถึงต้องมาดังช่วงปรับครม.เศรษฐา 2
นายจิรายุ กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษ ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ว่า เรื่อง พ.ร.บ.กลาโหมนะครับ คนที่ไม่เข้าใจในเรื่อง พ.ร.บ.กลาโหม จะงงๆ เฮ้ย คุณจะมายึดอำนาจทหารเหรอ คุณจะมากระชับอำนาจทหารเหรอ จริงๆ แล้วมี 2 ส่วน ผมพูดถึงส่วนที่ 1 ก่อน "สภากลาโหม" ผมอยู่ในนั้น
"สภากลาโหม" ไม่ได้มีโอกาสแต่งตั้งต่างๆ แต่สัดส่วนสภากลาโหมเนี่ย ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. หรือ คนที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งอาจไม่ใช่ทหารเลย อาจจะเป็นข้าราชการเลยก็ได้ เข้ามาช่วยได้ไหม เพื่อที่จะให้มันเกิดความเข้าใจและเดินไปพร้อมๆ กัน อันนั้นเรียกว่า "สภากลาโหม"
★ ย้ำชัด "7 เสือ กลาโหม" ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่เรียกกันว่า "7 เสือ กลาโหม" ไล่ตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัด ผบ.เหล่าทัพต่างๆ อันนี้ 7 ท่าน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่กันปกติ 7 ท่าน ก็ต้องไปพิจารณาว่า ท่านแต่งตั้งนายพลกันยังไง ไม่ใช่ตุลาคมนี้ เดือนกันยายน ค่อยแต่งตั้ง มันต้องมีรากของเดินทางมา เพื่อมารับงานอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น ตุลาคม ถ้าท่านเก่าจะเกษียณ เดือน เม.ย.จะรู้แล้วว่า ใครจะเป็น อันนี้เข้าสู่ 7 เสือ ไม่ได้ไปแก้ไขตรงนี้
★ เผย เริ่มจาก"ก้าวไกล" ตอนนี้ พ.ร.บ.กลาโหม วันนี้ยังแค่เขียน "หัวเรื่อง" ชี้ หนทางอีกยาวไกล
ประเด็นต่อมา "พระราชบัญญัติกลาโหม" อันนี้มันนะครับเริ่มจากฝ่ายค้าน "พรรคก้าวไกล" เขาเริ่มในสภา ก็มีการไปยกร่างกันขึ้นมา เขียนว่าจะแก้ไขกันอย่างไร เป็นหน้าที่ปกติ รัฐบาลต้องทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมไปประกบ ความจริงแล้ว พรรคฝ่ายค้านก็พูดเยอะนะครับเรื่องนี้ แต่พอมามาถึงกลาโหมพูด กลายเป็นว่ากลาโหมดำเนินการ จริงๆ แล้วมันมาประกบพร้อมกัน เวลาทำกฎหมาย
อย่างผมเป็นผู้แทนฯ ในสภาเวลาฝ่ายค้านเสนอกฎหมาย รัฐบาลต้องเสนอประกบ แล้วเอา 2-3 ร่างที่ภาคเอกชนเสนออะไรก็แล้วแต่ มาเปรียบเทียบกันว่าในมาตราไหนดีอย่างไร ส่วนเนื้อหารายละเอียดมันเป็นสมมติฐานว่า เราจะแก้แบบนี้ เราจะป้องกันแบบนั้น เราควรจะเดินเรื่องแบบนี้
เพราะฉะนั้น วันนี้มันเพียงเขียน "หัวเรื่อง" นะครับ มันยังไม่ลงรายละเอียดถึงขั้นรับหลักการ ทั้งหมดนี้ถ้ารัฐบาลเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติม ก็ต้องนำเข้าไปสู่มติครม. และครม.ก็เอากลับเข้าสู่รัฐสภาในการแก้ไข สภาก็อภิปรายวาระ 1 จากนั้นก็ไปแก้วาระ 2 รายมาตรา คุณจะแก้แบบนั้นจริงไหม ให้อำนาจกลาโหมอะไรยังไง ซึ่งขั้นตอนผมว่าน่าจะมีเป็นปีครับ
★ พ.ร.บ.กลาโหม เสนอให้อำนาจ นายกฯ สั่งพักราชการทหาร เสี่ยงทำการรัฐประหาร?
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า คือ เราสมมัติฐานอะไรก็ได้ในการแก้ไขเพิ่มเติมนะครับ อย่างมีคนบอกว่าให้อำนาจนายกฯ สั่ง ไล่ออก หรือสั่งพักราชการอะไรต่างๆ ได้ มันก็ต้องไปเทียบเคียงกับนานาอารยประเทศนะครับ ว่า นายกรัฐมนตรีต้องคุมอะไรแบบไหน ไม่ใช่หน่วยงานหนึ่ง ท่านนายกฯ สั่งการได้ แต่อีกหน่วยงานหนึ่งสั่งการไม่ได้ แล้วประเทศมันเดินอย่างไงครับ มันก็ต้องนำเรื่องราวต่างประเทศมาเทียบเคียงก่อน ว่า
ใน"ยุโรป" ทำยังไง "นาโต"เขาเป็นยังไง "อเมริกา"ทำยังไง เอเชียเป็นอย่างไร การควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จของประเทศ คือนายกรัฐมนตรีในระบอบของเรา บางประเทศเป็นระบอบประธานาธิบดี แล้วมีนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีสามารถสั่งการนายกฯได้ นายกฯ ไปสั่งการข้าราชการได้ ก็แล้วแต่นะครับ เพราะฉะนั้น จะยังไงมันก็ขึ้นอยู่กับว่า การพิจารณารายมาตราที่เราจะไปแก้ไขหรือปรับปรุง มันสามารถแก้ไขได้จริงหรือไม่
เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติได้จริง เราก็ควรแก้ไขให้ประเทศมันเจริญก้าวหน้า ใช่ไหมครับ เวลาที่เมืองไทยจะทำอะไรก็แล้วแต่ นักลงทุนก็มองว่าเดี๋ยวมันก็ปฏิวัติอีกละ จะลงทุนอะไรก็กลัวๆ เก้ๆ กังๆ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงอีกละ มันก็เป็นสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนกันนะครับ 10-20 ปีที่ผ่านมา
ข้างบ้านของเราหลายประเทศเขาก็เจริญ เป็นเพราะการเมืองของเราไม่นิ่ง เพราะฉะนั้นการแก้กฎกติกาอะไร ถ้าทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ ผมว่ามันก็ควรจะแก้ไข แต่จะไปแก้ไขอะไรให้ท่านนายกฯ เป็นแบบนั้น ดูแลแบบนั้น แก้ไขรายมาตราแบบนี้ อันนี้ มันอยู่ในเรื่องของอนาคตครับ
★ เตือน ระวัง! รัฐบาลชุดนี้จะอายุสั้น หากไปยุ่งแก้ พ.ร.บ. กลาโหม
โฆษกกลาโหม ฝ่ายการเมือง ระบุต่อ... เชื่อว่า สถานการณ์เปลี่ยน วันเวลาเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน รูปแบบการดำเนินการฝ่ายบริหารก็เปลี่ยน ผมยังไม่คิดเช่นนั้น และที่คิดเช่นนั้นก็เพราะว่า เพราะผมยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้เช่นนั้นหรือเปล่า คำถามคือ ถ้าแก้แบบนั้นแล้วเป็นประโยชน์ มันแล้วควรแก้หรือเปล่า
ส่วนอายุจะสั้น หรือไปละเมิดอำนาจ ก็มันมีกฎหมาย เมื่อท่านไปทำละเมิดกฎหมายมันก็ลำบากเหมือนกัน ผมก็คิดว่าคนที่จะทำก็ต้องคิดหนัก ความจริงผมคิดว่าบ้านเมืองเรามันเลยเรื่องเหล่านี้มาเยอะแล้วครับ
มันควรไปเรื่องเศรษฐกิจ ควรจะไปเรื่องเวทีโลก คนไทยไปที่ไหนเขายกมือให้ นัมเบอร์วัน ไม่ใช่ไปที่ไหนแล้วเข้ามา เฮ้ย ประเทศยูปกครองโดยทหารหรือ ยังขี่ข้างไปทำงานหรือเปล่า ผมว่ามันเลยจุดนั้นไปแล้วครับ ไอ้การออกกฎหมายหรือระเบียบมันก็เกิดขึ้นจากสถานการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าอะไรที่เปลี่ยนแล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติน่าทำนะครับ
★ "วันเวลา-สถานการณ์เปลี่ยน" มั่นใจ "รัฐบาลเศรษฐา" ไม่ซ้ำรอยสมัย "ยิ่งลักษณ์" ถูกรัฐประหาร
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า เรียนอย่างนี้ "วันเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน" ถ้าเป็นสงครามโลก เขาก็เรียกว่า "แนวรบฝั่งตะวันออกเปลี่ยนแปลง" ในสมัยรัฐบาลปี 54-55-56-57 สถานการณ์ตอนนั้นมันเป็นเรื่องการเมืองภายในนะครับ มันเป็นเรื่องของม็อบ การเห็นต่าง แล้วก็ชี้หน้ากันไปมาว่าคนนั้นถูก คนนั้นผิด คนนั้นไม่ดี มันจึงเกิดสถานการณ์
และมันก็นำมาซึ่งการ "ปฏิวัติรัฐประหาร" โดยอ้างเหตุผล 1-2-3-4-5 แต่การอ้างเหตุผลด้วยวิธีการแก้ไขกฎหมาย หรือการแก้ไขเพิ่มเติมอะไรต่างๆ ในปัจจุบันเนี่ย ผมคิดว่าทำแล้วมันเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ปกติแบบนี้ มันก็ต้องตอบให้ได้
"ฝ่ายรัฐสภาก็ต้องอธิบายให้ได้ ทำไมคุณแก้ไขมาตรานี้ ฝ่ายรัฐบาลอธิบาย แก้มาตรานี้เป็นประโยชน์ประเทศชาติ ผมไม่คิดเช่นนั้นนะครับว่า พอแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ซึ่งก็ยังไม่รู้จะแก้หรือไม่นะ แค่มีการจุดประกายเกิดขึ้น
เหตุที่มันจุดประกาย อย่างที่ผมนำเสนอว่ามันเริ่มจากฝ่ายค้าน เมื่อฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอฝ่ายรัฐบาลก็ทำร่างประกบ ซึ่งอาจมีร่างฯ ของประชาชนเข้าชื่อกัน 5-6 หมื่นรายก็สามารถจะเข้าชื่อได้เหมือนกัน อยู่ที่มติรัฐบาลว่าจะเอาร่างไหนได้เหมือนกัน ผมเชื่อว่าสถานการณ์ไม่เหมือนเมื่อปี 54-55-56-57" โฆษกกลาโหม กล่าว.
สรุปกันชัดๆ หากรัฐบาลเดินหน้าแก้พ.ร.บ.กลาโหม 2551 จริง น่าสนใจจริงๆ สภาพจะเป็นเช่นไร ระหว่าง มีเสถียรภาพแน่นปึก" หรือ "อ่อนยวบ-อายุจะสั้น" อย่างที่มีคนทักดักคอก่อนหน้า หรือ เอาเข้าจริงๆ แค่ไม่อยากให้ชื่อหลุดโผ ครม.เศรษฐา 2
งานนี้คงต้องรอลุ้นกันดูฉากสุดท้าย!
ผู้เขียน: เดชจิวยี่
กราฟิก:Jutaphun Sooksamphun
โฆษณา