26 เม.ย. เวลา 12:30 • ธุรกิจ

ทดลองอย่างไร ให้เกิดนวัตกรรมในธุรกิจ

ที่เราทำสินค้าแล้วขายไม่ออก เพราะเราทำสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าอยากได้
นี่คือ 1 ข้อคิดที่ได้ตกผลึกมาจากคอร์สเรียนออนไลน์ “Innovation Mindset” โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ซึ่งผู้ประกอบการอย่างเราอาจเคยประสบหรือเจอมากับตัว และเป็นปัญหาในการทำธุรกิจในยุคนี้คือ เราจะสร้าง “นวัตกรรม (Innovation)” อย่างไรให้สินค้าและบริการของเรา เกิดการเปลี่ยนแปลงจนสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เช่น Netflix ที่เปลี่ยนวิธีสร้างรายได้ จากที่เคยเป็นร้านให้เช่า CD และ DVD ภาพยนตร์ มาเป็น Subscription สมัครสมาชิกรายเดือน รายปีเพื่อเข้าดูแบบออนไลน์ได้ตามความต้องการ
สำหรับความหมายของนวัตกรรม คือ แนวคิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ โปรแกรม หรือไอเดีย ที่ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก) ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ถ้าเราได้อ่านศึกษาเรื่องราวความสำเร็จ จะพบว่า ธุรกิจของพวกเขาโดยส่วนมาก มีนวัตกรรมซ่อนอยู่ในโมเดลธุรกิจเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของสินค้า บริการ หรืออาจรวมไปถึงกระบวนการในการทำธุรกิจด้วย
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการลดความเสี่ยง และเพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรม คือ การทดลอง (Experiments) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนความผิดพลาดหากผลิตสินค้าจริงออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงทำให้เรามีโอกาสได้นวัตกรรมที่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรม โดยส่วนมากมักจะมี “การทดลอง” ก่อนทำจริงเสมอ
ข้อคิดต่อไปนี้ จะเป็นเข็มทิศเพื่อใช้ใน “การทดลอง (Experiments)” สร้างโอกาสให้เกิดนวัตกรรมได้จริงในธุรกิจเรา
1. ตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) และเป้าหมาย (Objectives) ในการทดลองอย่างชัดเจน กับโครงการสร้างสินค้าหรือบริการ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นจริง โดยยังไม่ต้องคาดเดาว่า ตลาดมีความต้องการหรือไม่ เพราะเรายังไม่รู้ว่าตลาดต้องการอะไร เราถึงต้องทำการทดลอง จริงหรือไม่!?
2. เริ่มต้นทำการทดลองด้วยต้นทุนน้อยๆ และดำเนินการทดลองด้วยกระบวนการที่รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน สามารถทำซ้ำได้บ่อย ได้ง่าย ไม่ต้องรอความสมบูรณ์แบบ
3. เพิ่มความเชื่อมั่นในหลักฐาน (ผลลัพธ์การทดลอง) ด้วยการทดลองซ้ำๆ ภายใต้สมมติฐานเดิม
4. ทุกครั้งที่จะเลือกผลลัพธ์จากการทดลอง ให้พิจารณาว่า อันไหนที่ให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในการทดลอง
5. เราสามารถสร้างสินค้าหรือบริการใดๆ โดยลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวน้อยที่สุด และเป็นนวัตกรรมที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งต่อธุรกิจและลูกค้า โดยการนำผลลัพธ์จากการทดลองดังกล่าว ในการวางแผนสร้างสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการ
การทดลองจะเกิดขึ้นจริงในธุรกิจได้ ผู้ประกอบการอย่างเราต้องสร้างวัฒนธรรมขององค์กร ในการ “เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ความล้มเหลว” ยึดถือแนวคิดที่ว่า ทุกครั้งที่มีการล้มเหลว เราจะได้เรียนรู้บทเรียน เพื่อให้การทดลองครั้งหน้า ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ไม่ล้มเหลวซ้ำที่เดิม
ที่สำคัญ ทุกคนในโครงการ ต้องไม่ดุด่าแบบไม่มีเหตุผลหรือโทษกันเอง เวลาเกิดความล้มเหลว และทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ความล้มเหลว คือ เรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ สุดท้ายคนจะกล้าทดลอง กล้าล้มเหลว เพื่อให้ได้ผลการทดลองที่อาจนำไปสู่นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง
ก้าวแรกสู่นวัตกรรม คือ การกล้าที่จะล้มเหลวจากการทดลอง
ก้าวถัดไปสู่นวัตกรรม คือ การนำผลการทดลอง ไปสร้างสินค้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งธุรกิจและลูกค้าของเรา
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คอร์ส Innovation Mindset คุณรวิศ หาญอุตสาหะ https://www.live-platforms.com/th/courses/250/
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา