26 เม.ย. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์

‘หน้าร้อนทีไร ค่าไฟเดือดไม่แพ้อุณหภูมิโลก’

รวมทริกประหยัดค่าไฟ ‘4 เครื่องใช้ไฟฟ้ายอดฮิต’ เปลี่ยนเล็กน้อย ค่าไฟก็ลดเยอะ
ความร้อน และประเทศไทย นั้นอยู่คู่กันมาช้านาน โดยเฉพาะในเดือนเมษายนนี้ที่คนไทยจะรู้กันดีว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ใครมีเครื่องปรับอากาศ ใครมีพัดลม ก็เปิดกันอย่างเต็มที่ รู้ตัวอีกทีก็ตอนบิลค่าไฟมาถึงหน้าบ้าน และพบว่าค่าไฟเดือนเมษายนมักจะสูงกว่าเดือนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปรที่ปรับขึ้นลงอยู่เสมอตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 39.72 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.18 บาทแล้ว
แต่ความร้อนนี่แหละ คือสาเหตุที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น หรือกระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็น ต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และตามมาด้วยบิลค่าไฟที่สูงผิดปกตินั่นเอง
แต่ทั้งนี้ ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีวิธีรับมือเลย วันนี้ aomMONEY จึงรวบรวมวิธีลดภาระของเครื่องใช้ไฟฟ้า 4 อย่างในบ้าน ที่มักจะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพงมาฝากกัน เพื่อลดค่าไฟในเดือนเมษายนให้ถูกลง มาดูกัน
⚡เครื่องปรับอากาศ
ในหน้าร้อน เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับแรกๆ ที่คนจะนึกถึงกันอย่างแน่นอน และเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้ตัวเลขบนบิลค่าไฟสูงลิ่ว เพราะนอกจากตัวมันเองก็กินไฟมากอยู่แล้ว โดยปกติเราก็เปิดเครื่องปรับอากาศกันนานหลายชั่วโมง แล้วจะใช้เครื่องปรับอากาศอย่างไรให้ประหยัดไฟมากขึ้นดีล่ะ?
➡️ 1. เปิดเครื่องปรับอากาศ 27 องศา และเปิดพัดลมช่วย ประหยัดไฟกว่า: ช่องยูทูบ ‘CLEAR ENERGY’ ได้ทำการทดลองระหว่างการเปิดเครื่องปรับอากาศที่ 25 และ 27 องศา เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการกินไฟ และพบว่า การเปิดเครื่องปรับอากาศที่ 27 องศา ร่วมกับการเปิดพัดลมเบอร์ 2 สามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าไปได้กว่า 46.9% ทั้งยังลดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศลงถึง 50% ทีเดียว นอกจากนี้ ทางเพจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ยังออกมาแนะนำวิธีการเปิดเครื่องปรับอากาศแบบนี้ว่าช่วยลดค่าไฟลงได้เช่นกัน
➡️ 2. ไม่เปิดปิดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ: เพราะช่วงเวลาที่เครื่องปรับอากาศจะใช้ไฟมากที่สุดก็คือตอนเปิดเครื่องปรับอากาศที่เครื่องกำลังเริ่มต้นทำงาน
➡️ 3. เลือก BTU ของเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง: ถ้าเป็นห้องขนาดปกติทั่วไป BTU ที่แนะนำจะอยู่ที่ 9,000 - 21,000 BTU ส่วนห้องขนาดใหญ่ อย่างห้องโถง หรือห้องนั่งเล่นจะแนะนำที่ 21,000 - 36,000 BTU หากมากกว่านี้จะเป็นแหล่งที่คนอยู่รวมกันมากๆ เช่น ร้านอาหาร ออฟฟิศ
➡️ 4. ล้างเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน: เพื่อล้างสิ่งสกปรกออกจากแผ่นกรอง หรือเติมน้ำยาความเย็น ก็จะช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำความเย็นได้ง่าย และเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศด้วย
⚡ ตู้เย็น
อีกหนึ่งอุปกรณ์ทำความเย็นที่เราเปิดอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ลองคิดดูว่าค่าไฟจะขึ้นไปสูงแค่ไหนในหน้าร้อนแบบนี้ แต่เชื่อไหมว่าแค่การปรับแต่งตู้เย็นเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการวางตำแหน่งของตู้เย็นก็มีผลต่อการกินไฟเหมือนกัน
➡️ 1. ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสม: ช่องแช่เย็นควรตั้งไว้ที่ 3-5°C และช่องแช่แข็ง -18°C ไม่ควรตั้งเย็นเกินไปเพราะจะสิ้นเปลืองไฟโดยไม่จำเป็น
➡️ 2. วางตู้เย็นห่างจากผนัง: ควรวางให้ห่างจากผนังอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้ความร้อนได้ระบายออกอย่างเต็มที่ไม่ไหลกลับเข้าไปในแผงวงจรซึ่งจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น
➡️ 3. เปิด-ปิดตู้เย็นอย่างรวดเร็ว: เปิดตู้เย็นและหยิบของให้ครบในคราวเดียว ไม่ควรเปิดค้างไว้เป็นเวลานานเพราะจะทำให้อากาศเย็นรั่วไหลออก
➡️ 4. ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ: การละลายน้ำแข็ง และทำความสะอาดตู้เย็นเป็นประจำช่วยให้ตู้เย็นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานเกินควร
➡️ 5. ไม่ควรใส่อาหารร้อนลงตู้เย็น: ควรปล่อยให้อาหารเย็นลงก่อนนำเข้าตู้เย็น เพื่อไม่ให้ระบบทำความเย็นต้องทำงานหนักเกินไป
⚡ เครื่องซักผ้า
เชื่อไหมว่าแม้แต่เครื่องซักผ้าก็ได้รับผลกระทบจากหน้าร้อนเช่นกัน เพราะโดยปกติของหน้าร้อน น้ำจากท่อที่โดนแสงแดด และอุณหภูมิสูงตลอดเวลาก็ทำให้น้ำร้อนขึ้นอย่างมาก ซึ่งเราสามารถเช็กได้ง่ายๆ ด้วยการเปิดน้ำจากก็อกน้ำดู แต่ทีนี้การซักผ้าด้วยน้ำร้อนนี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะจะทำให้เครื่องซักผ้าใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นมหาศาล แถมยังมีผลเสียต่อเนื้อผ้าอีกด้วย แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างล่ะ
➡️ 1. ซักผ้าในปริมาณมากและเต็มถัง: พยายามรวบรวมผ้าให้ได้มากพอ และซักแต่ละครั้งให้เต็มถัง จะช่วยลดจำนวนรอบการซักและประหยัดน้ำและไฟได้ หรือหากผ้ามีจำนวนไม่มาก และไม่สกปรก ให้ซักด้วยมือแทน
➡️ 2. ตากผ้ากลางแดดแทนการอบ: แดดจัดในหน้าร้อนเหมาะแก่การตากผ้าให้แห้งเร็ว จึงควรงดใช้เครื่องอบผ้าซึ่งกินไฟมาก
➡️ 3. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนซักผ้า หากจำเป็นต้องซักกลางวัน ให้ใช้โหมดประหยัด และเร็วที่สุด: หนึ่งคำแนะนำคือการซักผ้าตอนกลางคืนที่น้ำในท่อเริ่มเย็นตัวลงบ้าง แต่หากมีความจำเป็นต้องซักกลางวันให้เลือกโหมดประประหยัด และใช้เวลาน้อย เพื่อลดการทำงานของเครื่องลง
➡️ 4. ทำความสะอาดเครื่องซักผ้า: เครื่องซักผ้าที่ไม่สะอาดจะทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เปลืองน้ำและไฟมากขึ้น ควรทำความสะอาดเป็นประจำทุก 2-3 เดือน
⚡ โทรทัศน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เมื่ออากาศร้อน ผู้คนมักเลือกใช้เวลาอยู่ในบ้านเพื่อหนีร้อน โดยหันมาพึ่งสิ่งบันเทิงภายในบ้านอย่างโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นเกมมากขึ้น บางครอบครัวอาจเปิดทีวีทิ้งไว้เป็นเพื่อนแม้ไม่ได้ดูจริงจัง เด็กๆ อาจใช้เวลากับเกมออนไลน์มากขึ้นในวันหยุด ซึ่งทำให้มีการเปิดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้นาน และถี่ขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย
➡️ 1. ปิดและถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้: เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงกินไฟแม้ปิดสวิตช์แล้ว ดังนั้นควรถอดปลั๊กทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน
➡️ 2. ใช้ร่วมกัน: แทนที่จะให้แต่ละคนใช้อุปกรณ์คนละเครื่อง ลองหากิจกรรมบันเทิงที่ทำร่วมกันได้ เพื่อลดชั่วโมงการใช้งานโดยรวม
➡️ 3. เปิดใช้โหมดประหยัดพลังงาน: ปรับอุปกรณ์เข้าโหมดประหยัดไฟเมื่อเว้นช่วงการใช้งานสั้นๆ และตั้งให้เข้าโหมดสลีปเมื่อไม่ได้ใช้นานกว่า 15 นาที
➡️ 4. จำกัดการใช้งานเมื่อไม่จำเป็น: พยายามหากิจกรรมในร่มอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม หรือวาดรูป เพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
ในช่วงหน้าร้อน เป็นช่วงที่ต้องมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติ ทั้งเครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมไปถึงโทรทัศน์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งทำให้ค่าไฟในช่วงหน้าร้อนสูงกว่าเดือนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ การดูแลและบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดแอร์และตู้เย็น หรือการถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยประหยัดพลังงานในระยะยาว เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงหน้าร้อนไปได้อย่างสบายกระเป๋า และไม่ต้องตกใจกับตัวเลขในใบแจ้งหนี้ค่าไฟอีกต่อไป
เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร
ภาพ: ภควดี เขมะพานิช
#aomMONEY #ค่าไฟ #ฤดูร้อน #รายจ่าย #เงิน #หน้าร้อน
โฆษณา