28 เม.ย. เวลา 09:27 • หนังสือ

หูกับตา ใครพิสูจน์อักษรได้เป๊ะกว่ากัน

ก่อนโพสบทความทุกครั้ง จะต้องตรวจสอบตัวสะกดการันต์ จนแน่ใจว่าถูกต้องจึงโพสออกไป แต่ก็ยังมีหลุดไปบ้าง นานๆครั้ง มาเห็นทีหลัง หรือเพื่อนอ่านพบก็แจ้งมาบอก ก็จะรีบแก้ไขทันที
ปกติจะหาคนช่วยตรวจสอบ ยกเว้นว่าไม่สะดวกจริงๆ จำเป็นต้องดูเอง แต่สังเกตว่ามีบางครั้งอ่านทบทวนหลายเที่ยวแล้ว จุดผิดพลาดก็ยังคลาดสายตาอันแหลมคมไปได้เฉย เหมือนจะแกล้งคนเขียน มารู้ว่าผิดก็ตอนที่เพื่อนทักมานี่แหละ
สมองน่าจะเบลอ สายตาเกิดความเคยชินกับสิ่งที่เคยเห็น เมื่อเห็นซ้ำอีกทีจึงไม่สะดุด
ชอบคำว่า พิสูจน์อักษร ภาษาไทยเป็นภาษาสวย ทั้งรูปและเสียง โดยเฉพาะระดับเสียงที่แยกย่อยออกเป็น 5 ระดับด้วยวรรณยุกต์ ที่มี 4 รูป 5 เสียง เสียงสามัญไม่มีวรรณยุกต์กำกับ ระดับเสียงที่ต่างกันจึงสื่อความหมายที่ต่างกันออกไปด้วย
ลา ล่า ล้า เราคนไทยแยกได้เป็น 3 ความหมาย ลาหน้าตาคล้ายม้า ล่าบอกว่ามาสาย ล่าช้า หรือติดตามอย่างกระชั้นชิด ไล่ล่า หรือถอยหนี ล่าถอย ส่วนคำว่าล้า ออกอาการอ่อนแรง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จากการออกแรงมาก
ฝรั่งเจอลูกนี้เข้าไปรับรองได้ งง ยิ่งกว่างง งงเป็นไก่ตาแตก
ภาษาอังกฤษใช้หางเสียงแยกคำพ้องเสียงออกจากกัน อย่างคำว่า ไล้ มีหลายคำ Like Life ไล้คำแรกออกหางเสียงคึ หมายถึงคล้ายหรือชอบ ไล้คำที่ 2 ออกหางเสียงฟึ หมายถึงชีวิต
คนไทยเราไม่คุ้นกับ accent หรือหางเสียงพวกนี้ ฟังฝรั่งไม่เข้าใจ ก็งงเป็นไก่ตาแตกได้เหมือนกัน
ภาษาไทยเราไม่มีหางเสียงแบบฝรั่ง แต่จะใช้การสะกดที่แตกต่างกัน เพื่อสื่อความหมายที่ต่างกันแม้จะพ้องเสียงก็ตาม อย่างคำว่า สัตย์ สัด สัตว์ 3 คำนี้ออกเสียงเหมือนกัน แยกความหมายด้วยการฟังไม่ได้ ต้องเห็นกับตาด้วย จึงจะแยกได้
ภาษา คือ วิธีการที่มนุษย์แสดงความในใจ สื่อความคิดให้ผู้อื่นเข้าใจในความหมายที่ต้องการจะบอก
หากแสดงโดยใช้ตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ผ่านการพูดและการเขียน ถือว่าเป็นภาษาถ้อยคำ ส่วนการแสดงอากัปกิริยา สีหน้า แววตา ท่าทาง เช่น การใช้มือในภาษาใบ้ การใช้ส่วนต่างๆของร่างกายให้สัญญาณ และการรำละคร ถือว่าเป็นภาษาท่าทาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ ภาษากาย
โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย ก็จัดว่าเป็นภาษากายที่ละเอียดอ่อน ยกนิ้วไหนขึ้นมามีผลแตกต่างกัน แหวนบนนิ้วนางข้างซ้ายบอกให้รู้ว่าคนสวยเธอมีเจ้าของแล้ว ยกนิ้วโป้งให้ จะตอบกลับมาด้วยรอยยิ้ม อย่าเผลอยกนิ้วกลางให้ใครก็แล้วกัน มีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกสวนด้วยหมัด
จึงต้องแม่นยำและระมัดระวังในการสื่อภาษา ไม่อย่างนั้นอาจเจ็บตัวได้ง่ายๆ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่แตกฉานเรื่องภาษา
ภาษาไทยของเราถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ มีเอกราช เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับชาติใดๆ ที่ต้องรับเอาภาษาของชาติอื่นมาใช้ ต้องภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของเรา
ปกติเราจะใช้การเขียนและอ่านควบคู่กันไป ตาดูหูฟัง แปลความหมายให้เกิดความเข้าใจ จึงค่อยตอบกลับไป ด้วยการเขียน พูด หรือแสดงท่าทางด้วยภาษากาย
ครั้งล่าสุดตั้งใจอ่านทบทวน 2 เที่ยว ก่อนโพสในสื่อสาธารณะ มั่นใจว่าไม่มีคำผิด แต่พอใช้แอพอ่านหนังสือ อ่านให้ฟัง ยังมีสะดุดอีก 2 จุด ต้องรีบแก้ไข
การพิสูจน์อักษร นอกจากใช้สายตาหาคำผิดแล้ว ยังต้องใช้หู ฟังเพื่อตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งด้วย คลาดสายตาไปยังมีหูตรวจให้อีกชั้น
มาถึงตรงนี้จึงไม่แน่ใจ หูกับตาใครพิสูจน์อักษรได้เป๊ะกว่ากัน
แต่คิดว่าร่วมด้วยช่วยกันน่าจะดีที่สุด เพราะคนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย หรือไม่ก็ หัวเดียวกระเทียมลีบ หลายคำภาษิต มีไว้เตือนใจ
โดย.. พี่ชื่อวิช
โฆษณา