29 เม.ย. เวลา 03:10 • ข่าว

ว๊อยซ์ทีวี : เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่

โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
ประกาศปิดตัวเองไปแล้ว สำหรับว๊อยซ์ทีวี สื่อที่เคยเป็นหัวหอกฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 14-15 ปีที่แล้ว ร่วมกับสถานีเสื้อแดงอีกหลายช่องที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการโดยเฉพาะในการเมืองยุคฟื้นฟูประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร ปี 2549
แต่ว๊อยซ์มีความแตกต่างตรงที่ ไม่ใช่ช่องของคนเสื้อแดงโดยตรง แต่วางบทบาทเป็นช่องเฉพาะกลุ่มของคนชั้นกลาง คนในเมือง ปัญญาชน คนรุ่นใหม่ ฯลฯ มากกว่าเป็นช่องมหาชนของคนรากหญ้า
แน่นอนว๊อยซ์ก็เช่นเดียวกับช่องฝ่ายประชาธิปไตยอื่น คือ วางตำแหน่งของตนเองยึดโยงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งช่วงนั้นไม่ถูกครหามากนัก เพราะนับจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคเหล่านี้เป็นพรรคที่ถูกกระทำจากฝ่ายอำมาตย์ ยืนหยัดต่อต้านรัฐประหาร และมีความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่ว๊อยซ์สั่งสมมา คือเป็นสื่อเคียงคู่กับฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มสั่นคลอน จากผลเลือกตั้ง ปี 2566 บุคลากรระดับแม่เหล็กที่มียอดวิวสูงสุดของสถานีอย่าง ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ รวมถึงอธึกกิต แสวงสุข ฯลฯ ทยอยโบกมือลา และทุกอย่างของว๊อยซ์พังทลายลง พร้อมกับการตระบัดสัตย์ของพรรคเพื่อไทย พรรคอันดับสอง ที่ทิ้งพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันอย่างพรรคก้าวไกล พรรคอันดับหนึ่ง ไปจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว กับพรรคสองลุง ที่พรรคเพื่อไทยบอกปัดเด็ดขาดเพราะไม่ต้องการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่เกี่ยวพันกับการรัฐประหาร
จุดยืนของว๊อยซ์คือรับใช้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง สังเกตได้จากทิศทางการทำข่าวไม่เฉียดใกล้การตรวจสอบรัฐบาลเพื่อไทยแม้แต่น้อย ส่วนถ้าจะตรวจสอบและลงแซ่ก็คือพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้ง ด้วยจุดยืนเพียงเท่านี้ก็เป็นสื่อมวลชนที่มีปัญหาความชอบธรรมแล้ว เพราะแม้แต่นักศึกษาสื่อสารมวลชนก็ยังทราบดีว่า หน้าที่ของสื่อคือตรวจสอบผู้มีอำนาจซึ่งก็คือการตรวจสอบรัฐบาล ไม่ใช่ตรวจสอบฝ่ายค้าน หรือตรวจสอบ พรรคที่ตรวจสอบรัฐบาลอีกที
“วันนี้ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ประเมินกิจการและภาวะวิกฤตในอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นสรุปปิดกิจการ เนื่องจากกลไกตลาด เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม มีผู้ผลิตมากมายและหลากหลาย ที่สามารถสานต่อภาระกิจสังคมต่างๆ ได้ ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังลงหลักเพื่อเริ่มต้นต่อไปได้”
นี้คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ปิดตัวว๊อยซ์ทีวี ณ วันที่ 26 เม.ย. 2567 ซึ่งจะปิดตัวทุกสื่อและทุกช่องทางภายในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้
มีข้อสังเกตว่า คำแถลงการณ์ดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น เพราะประชาธิปไตยไม่ได้กำลังลงหลัก และเพราะการตัดสินใจปิดตัวไม่น่าจะมาจากปัญหาการเงินที่ว๊อยซ์ขาดทุนมาหลายปีต่อเนื่อง เพราะนายทุนของว๊อยซ์น่าจะพร้อมจ่ายได้เสมอถ้ายังไม่บรรลุเป้าหมาย
แต่สาเหตุการปิดตัวน่าจะมาจากยอดคนดูรายการของสถานีลดลงอย่างน่าใจหาย นับจากว๊อยซ์นำสถานีไปรับใช้การข้ามขั้วซึ่งก็คือการต่อท่ออำนาจรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 หรือ การรับใช้เผด็จการ จริงอยู่ว๊อยซ์ยังคงมีรายงานข่าวเจาะลึกเชิงประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย แต่สิ่งเหล่านี้เทียบไม่ได้กับจุดยืนของสถานนี
ว๊อยซ์ต้องตระหนักว่ากลุ่มเป้าหมายของสถานีคือคนเฉพาะกลุ่ม คนเหล่านี้อ่อนไหวต่อเรื่องประชาธิปไตยและเผด็จการยิ่ง การเปลี่ยนจุดยืนของว๊อยซ์จึงทำให้ผู้ติดตามมานานรับไม่ได้
นอกจากนี้ ด้วยความเป็นสถานีข่าวสารการเมืองที่เปลี่ยนจุดยืน ทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจข่าวสารบ้านเมืองและส่วนใหญ่เป็นโหวตเตอร์พรรคก้าวไกลเลือกที่จะไม่ดูว๊อยซ์ทีวี รวมถึงคอการเมืองที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ก็ยิ่งไม่มีทางพลิกกลับมาดูว๊อยซ์ทีวีเข้าไปอีก ว๊อยซ์จึงเหลือกลุ่มผู้ชมหลักคือ ติ่งเดนตายของพรรคเพื่อไทย หรือ ที่มีฉายาว่า “นายแบกนางแบก” เท่านั้น
ในเมื่อคนที่เคยชมไม่เปิดชม และคนใหม่ๆ ไม่เข้ามาชม ว๊อยซ์ทีวีจึงเหมือนเป็นสถานีที่ห่อเหี่ยวรอวันล้มหาย จริงอยู่คุณค่าและการยืนหยัดต่อสู้ของว็อยซ์ไม่อาจลบเลือนได้ แต่ทุกสิ่งกลายเป็นอดีตไปแล้ว ถามตรงๆ ทุกวันนี้จุดยืนทางประชาธิปไตยของว๊อยซ์คืออะไร
จำนวนผู้ชมที่ลดลง ประกอบกับพรรคเพื่อไทยสมคบกับฝ่ายอำนาจเก่า พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างมวลชนเพื่อไปต่อสู้กับอำมาตย์อีกแล้ว ครั้นจะต่อสู้กับพรรคก้าวไกลก็ไม่อาจใช้ว๊อยซ์เป็นเครื่องมือได้ ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของต้องเก็บว๊อยซ์ทีวีไว้อีกต่อไป โดยเหตุผลด้านธุรกิจเป็นเพียงแค่ข้ออ้างเท่านั้น
การจากไปของว๊อยซ์จึงเป็นบทเรียนให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงพลังของประชาชนว่าพวกเขามีจุดยืนมากกว่าที่หลายคนคาดคิด และเขาไม่ใช่ของตายของใครอีกต่อไป.
โฆษณา