29 เม.ย. เวลา 11:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม คนไทย ไม่นิยมทำประกันชีวิต

สวัสดีครับ ผมชื่อ.. รหัสประจำตัวหมายเลข.. มาเรียนแจ้งโครงการพิเศษสำหรับคุณ..
2
พอได้ยินคนที่โทรหาเราพูดแบบนี้ ก็คงพอเดา ๆ กันได้ว่า คนที่โทรมาจะเสนอขายอะไรกับเรา..
ซึ่งหากมีคนมาขายประกันกับเรา หลายคนน่าจะอยากวางสาย หรือบอกปฏิเสธไปแบบไม่ต้องคิดแน่นอน
2
และก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เราคนเดียว ที่ไม่อยากทำประกัน
เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ก็รู้สึกแบบเดียวกัน
3
โดยข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย
ที่เผยว่า ณ ครึ่งปี 2566 คนไทย 100 คน จะมีประกันชีวิตไม่ถึง 40 คน
หรือพูดง่าย ๆ คือ คนไทย 1 คน มีค่าเฉลี่ยถือกรมธรรม์ประกันชีวิต ยังไม่ถึง 1 ฉบับ สะท้อนถึงคนไทยยังใช้ประโยชน์จากการทำประกันในการจัดการความเสี่ยงค่อนข้างน้อย
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ระบุว่า คนไทยมักไม่นิยมทำประกัน ก็คือ สัดส่วนเบี้ยประกันภัย เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือ Insurance Penetration Rate
โดยตัวเลขไตรมาสแรกของปี 2566 ของประเทศไทย เท่ากับ 3.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น
- ไต้หวัน 11.4%
- เกาหลีใต้ 11.1%
- สิงคโปร์ 9.0%
และมากกว่านั้นยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 6.7% อีกด้วย
คำถามคือ แล้วทำไมคนไทยไม่นิยมทำประกันชีวิต ?
ซึ่งเรื่องนี้มีหลายสาเหตุด้วยกัน เริ่มตั้งแต่
- มีความเข้าใจที่ผิด
หลายคนเข้าใจผิดว่า ประกันชีวิตเป็นการเอาเปรียบของบริษัทประกัน หรือมองว่าเป็นการเสียเงินฟรีโดยไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ใช้เงินก้อนนั้นจนกว่าจะเสียชีวิต
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ประกันถือเป็นหลักประกันชีวิต หากศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ วางแผนดี ๆ มันจะสามารถช่วยเรื่องวางแผนเกษียณ ป้องกันความเสี่ยง และลดผลกระทบ หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตครอบครัวของเราได้
- รายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่สูง
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยที่ยังไม่สูง เมื่อเทียบกับประเทศที่ยกมาข้างต้น ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเทียบกับรายได้ หลายคนจึงมองว่าการจ่ายเบี้ยประกัน เป็นภาระเพิ่มขึ้น
- ภาวะเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง กดดันให้คนไทยมีกำลังซื้อและอัตราการออมที่ลดลง ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเช่นกัน
- ขั้นตอนการสมัครที่ยุ่งยาก
หลายคนรู้สึกว่า ขั้นตอนการสมัครประกันชีวิตยุ่งยาก
ต้องใช้เอกสาร และมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย
แถมในหลาย ๆ ครั้ง ความคุ้มครองหรือเนื้อหาในกรมธรรม์ ก็ใช้ภาษาที่ซับซ้อน เข้าใจยาก
- การขายที่ไม่ตอบโจทย์
โดยตัวแทนประกันบางราย ใช้วิธีการขายหรือเสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
รวมถึงยัดเยียดการขายมากเกินไป
2
- ขาดความโปร่งใส
ข้อมูลเกี่ยวกับประกันชีวิต บางครั้งมีการตั้งใจนำเสนอบิดเบือนข้อมูล ที่ทำให้ผู้ทำประกันเข้าใจผิด
1
หรือบอกรายละเอียดของเงื่อนไขและการเคลมประกันไม่หมด
- ประสบการณ์ที่ไม่ดีกับบริษัทประกัน
บางคนเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับบริษัทประกัน หรือตัวแทนจำหน่าย เช่น เคลมยาก เบี้ยประกันแพง
2
และบางคนก็เคยได้ยินประสบการณ์ที่ไม่ดีจากคนอื่นมา จึงรู้สึกไม่ไว้ใจ หรือกลัวถูกหลอก
นอกจากนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อย เป็นคนมองโลกในแง่ดี คิดว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเอง เลยไม่จำเป็นต้องซื้อประกันชีวิต
และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเหตุผลที่ส่งผลให้คนไทย ไม่นิยมทำประกันชีวิต เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั่นเอง
ซึ่งก็มีหลายปัจจัย ทั้งเหตุผลด้านภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ
เรื่องขั้นตอน ความโปร่งใส และวิธีการขายของบริษัทประกัน
ไปจนถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจ ที่ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนรอบข้าง
แต่ในอีกมุม ก็หมายความว่า ตอนนี้ ตลาดประกันในประเทศไทย ยังไม่อิ่มตัว และมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากเลยทีเดียว..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่าในปี 2566 ประเทศไทย มีบริษัทประกันชีวิตทั้งหมด 21 บริษัท และมีเบี้ยรับประกันรวมกันถึง 633,445 ล้านบาท
โดยที่บริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ 5 อันดับแรก คือ เอไอเอ, ไทยประกันชีวิต, เอฟดับบลิวดี, เมืองไทยประกันชีวิต, กรุงไทย มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 70% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมของทั้งอุตสาหกรรมเลยทีเดียว..
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2566 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
โฆษณา