30 เม.ย. เวลา 08:59 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2567 ชะลอลง ทั้งภาคในประเทศและต่างประเทศ

หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ฟื้นตัว
1
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2567 โดยรวมยังชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ
- ในส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศในภาพรวมมีทิศทางชะลอลงจากเดือนก่อน การบริโภค ดัชนี PCI หดตัว -0.6%YoY หรือ -0.8%MoM เทียบกับ 1.6%YoY หรือ -0.2%MoM ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าคงทนหดตัวลง จากการกำลังซื้อที่ชะลอลง
รวมทั้ง ความเข้มข้นในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินค้าไม่คงทนชะลอหลังจากที่มาตรการ Easy e-receipt จบลง ส่วนการบริโภคภาคบริการยังคงเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว แต่การขยายตัวมีทิศทางชะลอลงเช่นกัน ในส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุน (PII) หดตัว
-1.5%YoY หรือ -1.4%MoM ในเดือนเทียบกับ 0.8%YoY หรือ 0.2%MoM ในเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวของยอดขายวัสดุก่อสร้าง ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ และ การนำเข้าสินค้าทุน ที่หดตัวแรง -8.1%MoM, -7.7%MoM และ -6.9%MoM ตามลำดับ ด้านการใช้จ่ายรวมหดตัว -22.2%YoYและการใช้จ่ายงบลงทุนหดตัว -68.6%YoY โดยเป็นผลจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า
- ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ การส่งออก (BOP) เติบโต -10.2%YoY เทียบกับ +2.5%YoY ในเดือนก่อนหน้า โดยชะลอลงจาการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจร เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้ง การส่งออกรถยนต์ที่หดตัวลง ขณะที่ในเดือนมีนาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.98 ล้านคน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มีนักท่องเที่ยว 3.35 ล้านคน
โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจาก ยุโรป จีน และเอเชีย ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล+1.08 พันล้านดอลลาร์ฯ จากเกินดุล +1.97 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 3 เดือนแรกของปียังคงเกินดุลที่ +2.9 พันล้านดอลลาร์ฯ
- สำหรับทิศทางของเงินบาทในช่วงเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา โดยรวมค่าเงินบาทอ่อนค่า (-1.79%) จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่ตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วตามที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ ตลอดจน การลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ
เรามองว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางปรับแย่ลง
แม้ว่าบางส่วนจะเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ขณะที่ในระยะต่อไป แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ น่าจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากที่ พรบ. งบประมาณผ่านความเห็นชอบจากสภาเป็นที่เรียบร้อย
อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันค่อนข้างสูงอยู่ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออก ที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการจีน ทั้งนี้ คงต้องติดตาม การรายจีดีพีไทยในวันที่ 20 พ.ค. ที่อาจจะเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่อาจส่งผลต่อการประชุม กนง. ในวันที่ 12 มิ.ย. นี้
โฆษณา