1 พ.ค. เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วันหยุดพักผ่อนสบายๆ อย่างวันแรงงานแบบนี้

ชวนมาดูแหล่งเงินเกษียณสำหรับพวกเราวัยแรงงานกันว่าพอถึงอายุ 60 เราจะมีเงินจากไหนออกมาใช้จ่ายช่วงที่ไม่มีแรงทำงานกันแล้วบ้าง 💰 แหล่งเงินเกษียณของผู้ใช้แรงงานบ้านเรา มีทั้งที่เป็นเงินออมภาคบังคับ ภาคสมัครใจ รวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้สูงวัยชาวไทย 🇹🇭 ฉะนั้น เรามาไล่เรียงกันไปทีละข้อและโน๊ตไว้ว่าตัวไหนยังไม่มี น่าสนใจ เผื่อเติมไว้ใช้ตอนแก่ตัวกันได้ครับ
😀 เริ่มต้นด้วย ประกันสังคม
เป็นการออมภาคบังคับตามกฎหมายแรงงานที่ผู้ใช้แรงงานในระบบทุกคนต้องเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือหากออกจากการจ้างงานแล้วก็ยังสามารถส่งต่อเองได้ตามมาตรา 39 โดยเงินที่ถูกหักในแต่ละเดือนจะถูกแบ่งส่วนมาเก็บออมเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญกรณีชราภาพไว้ด้วย ซึ่งทันทึที่เข้าเงื่อนไข คือ อายุครบ 55 ปีและความผู้เป็นประกันสิ้นสุดลง ก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราสะสมเข้ากองทุนฯ
😃 บางหน่วยงานอาจมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ถ้าองค์กรไหนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ดีมากสำหรับผู้ใช้แรงงานเลยครับ เพราะเป็นเงินสะสมชั้นดีสำหรับการเกษียณอายุ โดยมีนายจ้างเป็นผู้สมทบเข้ากองทุนฯ ให้กับลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ เงินที่ลูกจ้างสะสมและนายจ้างสมทบทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันเพื่อลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่สามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ โดยจะถูกลงทุนต่อเนื่องจนกระทั่งเราอายุ 55 ปีจึงมีสิทธิถอนออกได้ภายใต้เงื่อนไขทางภาษีครับ
😄 ทีนี้ เงินอีกก้อนสำหรับผู้ใช้แรงงานที่มีสิทธิได้รับในกรณีที่เกษียณอายุ คือ เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง
แน่นอนว่า การทำงานจนถึงวัยเกษียณ ก็เป็นการเลิกจ้าง เช่นเดียวกัน โดยอายุเกษียณขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานกำหนด ซึ่งค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างนี้ นายจ้างจะเป็นผู้จ่ายให้ลูกจ้างผู้เกษียณเป็นเงินก้อนคำนวณจากอายุงาน สูงสุดไม่เกิน 400 วันของเงินเดือนสุดท้ายที่เราได้รับ
😁 ทีนี้มาดูภาคสมัครใจกันบ้างครับ กองทุนรวมต่างๆ
ในที่นี้จะพูดถึงกองทุนรวมประเภทที่เราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ ซึ่งปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ RMF , SSF และ THAIESG ซึ่งแต่ละกองมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ อยากรณรงค์ให้คนไทยมีเงินเก็บออมระยะยาวและรู้จักการลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งมีให้เลือกหลากหลายสินทรัพย์ ตั้งแต่ตราสารหนี้ ตราสารทุน ไปจนกระทั่งทองคำหรืออสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ก็ยังมีทั้งที่ลงทุนเฉพาะในไทย ลงทุนผสม ไปจนถึงลงทุนในต่างประเทศล้วนๆ ซึ่งเราจะเลือกลงทุนกองไหน ก็ให้เลือกตามประเภทที่เราสนใจและตามความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เพราะแน่นอนครับว่าการลงทุนย่อมมาพร้อมกับความผันผวน สำหรับจำนวนเงินที่ใช้หักลดหย่อนภาษีได้และจำนวนปีที่ต้องถือไว้ ยังไม่สามารถขายได้ ก็ให้ศึกษาข้อมูลตามประเภทกองทุนรวมที่เราสนใจได้เลยครับ
😊 มาดูกันต่อกับสินค้าภาคสมัครใจอีกประเภทที่เหมาะสำหรับวางแผนเกษียณกับ ประกันบำนาญ
ประกันบำนาญ หรือ ANNUITY เป็นประกันประเภทอาศัยการทรงชีพของผู้เอาประกันเป็นเงื่อนไขการจ่ายเงินคืน หรือพูดง่ายๆ คือ ยิ่งอยู่นาน อายุยืน ก็ยิ่งคุ้ม เพราะเรารับเงินคืนรายงวดจากบริษัทประกันที่จ่ายให้อย่างสม่ำเสมอทุกปีแบบต่อเนื่อง
ฉะนั้น จึงเหมาะสำหรับใช้วางแผนเงินเกษียณเพื่อการันตีว่าทุกปีที่เรายังหายใจ จะมีเงินใช้แน่นอนตามจำนวนที่เราทำสัญญาไว้กับบริษัทประกัน แต่ในทางกลับกัน หากเราเสียชีวิตก่อน ก็ยังคงมีเงินบำนาญการันตีที่คงเหลืออยู่ส่งมอบต่อให้ทายาทผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์แทน
🙂 ช่องทางสุดท้ายนอกเหนือจากภาคบังคับ และ ภาคสมัครใจ คือ เบี้ยยังชีพคนชราตามสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนคนไทยครับ น้อยนิดก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ขอแค่เรามีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน และมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ก็มีสิทธิได้รับทันทีโดยสตาร์ทเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือนครับ และจะเพิ่มตามขั้นบันไดทีละ 100 บาทในทุกๆ 10 ปีที่เราอายุยืนยาว
ลองสำรวจตัวเราเองดูครับว่า แหล่งเงินเกษียณที่กล่าวไปทั้งหมด เรามีกี่ช่องทางแล้วบ้าง ท่องไว้เสมอครับ “เหลือดีกว่าขาด” มีเกินๆ ดีกว่ามีไม่พอใช้ อย่างที่อาจจะคุ้นๆ เคยได้ยินนะครับว่า “น่าเสียดายตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด แต่ก็ดีกว่าน่าสลดที่เงินหมดแล้วยังไม่ตายสักที” 💋
สนใจอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม มาเป็นเพื่อนบ้านกับ THEEPLANS 🦌 กันครับ https://thee.pw/LinkTree
#วันแรงงาน
#MAYDAY
#วางแผนชีวิต
#วางแผนการเงิน
#วางแผนเกษียณ
#RetirementPlanning
#SavingPlan
#THEEPLANS
#FinancialSolutions
#STANDbyYOU
โฆษณา