7 พ.ค. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

ทำไม “น้ำมันทอดใช้แล้ว” ถึงกลายเป็นอนาคตใหม่ ของธุรกิจการบิน

อย่างที่เราทราบกันดีว่า การนำ “น้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว” กลับมาใช้ซ้ำ ๆ นั้นไม่ดีต่อสุขภาพ
แต่ในขณะเดียวกันน้ำมันเหล่านี้ ที่ดูเหมือนเป็นของเสีย กลับกลายเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมการบิน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ ในทางที่ยั่งยืน
3
ที่น่าสนใจคือ หากใครมีน้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว อย่าเพิ่งนำไปทิ้งให้สูญเปล่า เพราะปัจจุบันเราสามารถนำน้ำมันนี้ไปขาย และแปลงกลับมาเป็นเงินเข้ากระเป๋าได้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? แล้วทำไม “น้ำมันทอดใช้แล้ว” ถึงกำลังเป็นอนาคตของ ธุรกิจการบิน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกว่า ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศ มากถึง 1,000 ล้านตัน
1
และหากเปรียบให้อุตสาหกรรมการบินเป็นประเทศ จะพบว่า ประเทศแห่งนี้ปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจากประเทศจีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย และญี่ปุ่น เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ข้อมูลจากวารสาร Environmental Research Letters ยังบอกอีกว่า อุตสาหกรรมนี้ มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากถึง 4%
1
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) อยู่เฉยไม่ได้ และลุกขึ้นมาสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบิน หาแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
พอเป็นแบบนี้ สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเริ่มปรับตัวและหาทางแก้ไข ซึ่งถ้าถามว่าวิธีการไหน ที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดในตอนนี้ คำตอบก็คือ การหันมาใช้ “น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน” หรือศัพท์ทางเทคนิค จะเรียกว่า SAF (Sustainable Aviation Fuel)
9
บางคนอาจสงสัยว่า แล้วการหันมาใช้เครื่องบินไฟฟ้าล่ะ ?
จริง ๆ แล้ว เครื่องบินไฟฟ้า ก็เป็นอีกแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดี และอุตสาหกรรมการบินก็ให้ความสนใจอยู่
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินไฟฟ้า ยังอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ และสามารถนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้จริง
2
ต่างจากการใช้น้ำมัน SAF ที่กระบวนการพัฒนาไม่ซับซ้อนเท่า และสามารถจับต้องในตอนนี้ได้มากกว่า
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีบางสายการบิน ใช้น้ำมันประเภทนี้แล้ว
และคาดว่า SAF จะถูกอุตสาหกรรมการบิน นำไปใช้ในวงกว้าง ในระยะเวลาอันใกล้นี้
1
แล้วน้ำมัน SAF คืออะไร ?
ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก ที่ถูกผลิตขึ้นจากทรัพยากรชีวภาพ เช่น น้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว ทั้งจากไขมันสัตว์และพืช
โดยวัตถุดิบเหล่านี้ จะถูกนำเข้ากระบวนการต่าง ๆ เพื่อปรับให้มีคุณสมบัติทางเคมี คล้ายคลึงกับน้ำมันเครื่องบินทั่วไป ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
1
โดยน้ำมัน SAF จะเป็นเชื้อเพลิงแบบ Drop-in fuel ซึ่งหมายความว่า น้ำมันชนิดนี้สามารถนำไปใช้ผสมกับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิมได้ทันที ในสัดส่วนที่ปลอดภัยต่อเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ใด ๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ ข้อดีที่ทำให้น้ำมัน SAF น่าสนใจก็คือ มันช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องบินที่ใช้อยู่เดิม
3
ที่สำคัญยังเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร อย่างน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว ให้กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ที่ผ่านมา จึงมีบริษัทและสายการบินต่าง ๆ เริ่มนำน้ำมัน SAF มาใช้
2
เช่น Airbus หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ที่ในปี 2019 ได้ทำการทดสอบนำน้ำมัน SAF แบบผสมเข้ากับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม มาใช้ในฝูงบิน BELUGA สำหรับการขนส่งสินค้า
อีกทั้งในปี 2021 Airbus ก็ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาน้ำมัน SAF แบบ 100% ผลิตจากน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว โดยไม่ผสมเข้ากับน้ำมันเชื้อเพลิงใด ๆ เพื่อนำมาทดสอบใช้กับเครื่องบินพาณิชย์โดยสาร รุ่น ​​A380 สำหรับเป้าหมายการเป็นเครื่องบิน ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ลำแรกของโลก ภายในปี 2035
4
นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา สายการบินระดับโลกอย่าง Emirates ก็ประสบความสำเร็จ ในการทดสอบใช้น้ำมัน SAF ที่มาจากน้ำมันทอดอาหารใช้แล้ว แบบ 100% เช่นกัน กับเครื่องบิน Boeing 777-300ER ซึ่งเป็นการทดลองบินจริง นานกว่า 1 ชั่วโมง
2
ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กร Act For Sky ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสายการบิน Japan Airlines และ All Nippon Airways โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทาน การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อรองรับตลาดนี้ในอนาคต
2
สำหรับประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทบางจากฯ ได้จับมือกับบริษัท ธนโชค กรุ๊ป และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุนกัน
1
เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง SAF จากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว เตรียมรุกธุรกิจน้ำมันเครื่องบินแบบยั่งยืน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีงบประมาณการลงทุนเบื้องต้นราว 8,000 - 10,000 ล้านบาท
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ทางบางจากฯ ได้เปิดตัวโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เปิดรับซื้อน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ทั้งจากธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงจากประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน
โดยเริ่มนำร่องที่สถานีบริการน้ำมันบางจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2022
4
เท่ากับว่า ตอนนี้เราเองก็ช่วยลดภาระให้โลกได้ แถมยังได้เงินเข้ากระเป๋าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF จะเข้ามาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดนี้ ยังคงใหม่และเล็กอยู่มาก ทำให้ต้นทุนในการผลิต และราคาของน้ำมันชนิดนี้ ยังสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม
ดังนั้น นี่จึงกลายเป็นโจทย์ต่อไปที่ท้าทาย สำหรับอุตสาหกรรมการบิน ว่าจะมีแนวทางอะไรอีกบ้าง ที่จะเข้ามาปิดช่องโหว่ด้านต้นทุนและราคาในการผลิตต่อไปในระยะยาว ควบคู่ไปกับภารกิจช่วยโลก
และถึงแม้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นกันอย่างจริงจัง แถมยังมีข้อจำกัดอยู่
แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า การไม่ลงมือทำอะไรเลย..
โฆษณา